‘ชลน่าน’ เผย รพ. 10 แห่ง ปิดบริการ สั่งทีมติดตามช่วยเหลือผู้ประสบภัยท่วมภาคใต้ใกล้ชิด

‘ชลน่าน’ เผย รพ. 10 แห่ง ปิดบริการ สั่งทีมติดตามช่วยเหลือผู้ประสบภัยท่วมภาคใต้ใกล้ชิด

วันนี้ (26 ธันวาคม) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากกองสาธารณสุขฉุกเฉินถึงสถานการณ์วาตภัย อุทกภัย และดินโคลนถล่ม พื้นที่ภาคใต้ ตั้งแต่วันที่ 22-26 ธันวาคม 2566 ว่ายังคงมีสถานการณ์ใน 5 จังหวัด ได้แก่ สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล โดยแนวโน้มลดลงทุกจังหวัด มีประชาชนได้รับผลกระทบรวม 18,402 ครัวเรือน เบื้องต้นมีรายงานผู้เสียชีวิต 1 ราย จากการจมน้ำที่ จ.ยะลา และบาดเจ็บอีก 1 ราย ส่วนสถานบริการสาธารณสุขได้รับผลกระทบสะสม 12 แห่ง แบ่งเป็น โรงพยาบาล 2 แห่ง สาธารณสุขอำเภอ 1 แห่ง และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) 9 แห่ง กระจายอยู่ใน จ.นราธิวาสและ จ.ยะลา จังหวัดละ 6 แห่ง ในจำนวนนี้ยังคงปิดให้บริการ 10 แห่ง เบื้องต้นส่วนกลางสนับสนุนยาช่วยเหลือผู้ประสบภัย 8 รายการ จำนวน 4,200 ชุด ทั้งนี้ ได้กำชับให้ทั้ง 5 จังหวัดเฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมขัง ในช่วงวันที่ 28-29 ธันวาคมนี้ด้วย

“สธ.มีการตั้งศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข ใน 2 จังหวัด คือ ยะลาและนราธิวาส แล้ว ซึ่งเราพร้อมให้ความช่วยเหลือและดูแลประชาชนที่ประสบอุทกภัยในมิติด้านสุขภาพอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง เพื่อให้ได้รับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเฝ้าระวังโรคและภัยสุขภาพที่มากับน้ำท่วมด้วย” นพ.ชลน่านกล่าว

Advertisement

รัฐมนตรีว่าการ สธ.กล่าวว่า สำหรับมาตรการรับมือในเรื่องนี้ ได้ย้ำกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด  (นพ.สสจ.) และผู้บริหารสถานบริการทุกแห่ง ในช่วงก่อนหรือขณะเกิดเหตุอุทกภัย ให้ติดตามสถานการณ์ จัดเตรียมยาและเวชภัณฑ์ เตรียมทีมปฏิบัติการทางการแพทย์ให้บริการระหว่างเกิดสถานการณ์ และจัดทำแผนรองรับสถานการณ์ต่างๆ ไว้ให้พร้อม ส่วนหลังอุทกภัยให้เร่งสำรวจประเมินความเสียหายของสถานพยาบาลที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะสถานพยาบาลที่ปิดบริการและเปิดบริการบางส่วน เฝ้าระวังโรคและภัยสุขภาพจากการเกิดน้ำท่วมขัง เช่น โรคอุจจาระร่วง โรคฉี่หนู โรคน้ำกัดเท้า โรคผิวหนังจากเชื้อรา และเฝ้าระวังฟื้นฟูด้านสภาพจิตใจของผู้ได้รับผลกระทบ เช่น อาการของโรคเครียดรุนแรง หรือโรค PTSD ความเครียดและวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า เป็นต้น

Advertisement

พญ.อัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากรายงานข้อมูลสถานการณ์ฝนตกหนักถึงหนักมากในพื้นที่ จ.นราธิวาส จ.ยะลา จ.ปัตตานี จ.สงขลา และ จ.สตูล ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน สถานที่ราชการต่างๆ รวมถึงพื้นที่ทางการเกษตร โดยเฉพาะ จ.นราธิวาส ได้รับผลกระทบค่อนข้างหนัก ขณะนี้มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม 13 อำเภอ 68 ตำบล 28,049 ครัวเรือน จ.ยะลา มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 7 อำเภอ 36 ตำบล 6,898 ครัวเรือน จ.ปัตตานี มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 4 อำเภอ 8 ตำบล 1,108 ครัวเรือน จ.สงขลา มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 2 อำเภอ 3 ตำบล 190 ครัวเรือน และ จ.สตูล มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 1 อำเภอ 4 ตำบล 1,222 ครัวเรือน

หลายพื้นที่มีการตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยในพื้นที่แล้ว สำหรับกรมอนามัย ได้มอบหมายทีมภารกิจด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม หรือทีม SEhRT ของศูนย์อนามัยที่ 12 ยะลา สนับสนุนการจัดการด้านสุขาภิบาลสุขอนามัย และอนามัยสิ่งแวดล้อม ร่วมกับหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่อย่างใกล้ชิด พร้อมจัดเตรียมวัสดุ อุปกรณ์ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม ชุดเราสะอาด (V-Clean) ชุดทดสอบภาคสนาม ประเมินความเสี่ยง การปนเปื้อนเชื้อโรคในอาหาร และน้ำ เพื่อประเมินและเฝ้าระวังความเสี่ยงสุขภาพประชาชนอย่างเร่งด่วนแล้ว

“ทั้งนี้ กรมอนามัยมีข้อแนะนำเพื่อสุขอนามัยที่ดีและความปลอดภัยสำหรับประชาชน ขอให้ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมผ่านช่องทางสื่อสารต่างๆ อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งดูแลสุขภาพตนเองและสมาชิกในครอบครัว โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กเล็กและผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มวัยที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ หากมีน้ำท่วมในพื้นที่ให้เตรียมพร้อมยกสิ่งของขึ้นที่สูง เตรียมยาและอาหารแห้งสิ่งของจำเป็น เตรียมกระสอบทรายสำหรับอุดปิดทางน้ำไหล เรียนรู้เส้นทางอพยพในพื้นที่ ห้ามขับรถเข้าไปในพื้นที่น้ำท่วมหรือน้ำหลาก หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำท่วมขัง และดูแลสุขอนามัยที่ดีอยู่เสมอ เช่น กินอาหารปรุงสุกใหม่ ล้างมือทุกครั้งก่อนกินและหลังใช้ห้องน้ำห้องส้วม เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นได้อย่างปลอดภัย ลดเสี่ยงโรค” พญ.อัจฉรากล่าว

ด้าน นพ.อรรถสิทธิ์ แดงมณี ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 12 ยะลา กล่าวว่า ทีม SEhRT กรมอนามัย ของศูนย์อนามัยที่ 12 ยะลา ได้ประสานงานและเตรียมความพร้อมในการลงพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อประเมินสถานการณ์และให้ความช่วยเหลือ โดยในศูนย์อพยพดำเนินการภายใต้หลัก 3S คือ 1.Survey สำรวจเตรียมการจัดกระบวนการเฝ้าระวัง 2.Surveillance กำหนดผังงานและระบบที่ดี 3.System ส่งทีมภารกิจปฏิบัติการด้านส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมของศูนย์อนามัย ช่วยสนับสนุนการสำรวจ ประเมินด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมจัดเตรียมสถานที่ รวมถึงการจัดการสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมในศูนย์อพยพให้ได้มาตรฐาน เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย ลดเสี่ยงโรคจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image