อธิบดีกรมสุขภาพจิต ขอบคุณ สส.หมิว ตีแผ่ “โรคซึมเศร้า” ยัน การรักษาผู้ป่วยอยู่ในสิทธิประโยชน์อยู่แล้ว

อธิบดีกรมสุขภาพจิต ขอบคุณ สส.หมิว ตีแผ่ “โรคซึมเศร้า” ยัน การรักษาผู้ป่วยอยู่ในสิทธิประโยชน์อยู่แล้ว

ตามที่มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท เมื่อวันที่ 5 ม.ค. ที่ผ่านมา น.ส.สิริลภัส กองตระการ สส.กทม. พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นอภิปรายถึงงบประมาณในสัดส่วนกระทรวงสาธารณสุข หยิบยกประเด็นสุขภาพจิตและยาเสพติดให้เป็นนโยบายสำคัญ 1 ใน 13 นโยบาย ยกระดับ 30 บาทพลัส เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตประชาชน และดูเหมือนว่ารัฐบาลชุดนี้จะให้น้ำหนักไปที่อาการของผู้ป่วยจิตเวชที่มาจากยาเสพติด มากกว่าปัญหาสุขภาพจิตปกติที่เป็นวิกฤติเหมือนกัน โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ซึ่ง น.ส.สิริลภัส ได้ร้องไห้ในขณะอภิปราย ทำให้เพื่อ สส. เข้ามาโอบกอดให้กำลังใจ

เมื่อวันที่ 6 มกราคม นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นดังกล่าวว่า สำหรับ “โรคซึมเศร้า” เป็นหนึ่งในโรคทางสุขภาพจิต ที่อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานของการรักษาผู้ป่วยอย่างสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หรือสำนักงานประกันสังคม กรมบัญชีกลาง ทั้งนี้ โรคซึมเศร้าที่ต้องรักษาด้วยยานั้น ตนยืนยันว่าค่ายาไม่แพง โดยเฉพาะยาที่ใช้รักษาผู้ป่วยในระยะต้น เช่น Amitriptyline (อะมิทริปไทลีน) หรือ Fluoxetine (ฟลูออกซิทีน)  ที่ใช้ทานก่อนนอน ที่ทำให้ผู้ป่วยนอนหลับได้ คลายกังวล

“แต่จะมีบางคนที่อาจจะไปรักษาในโรงพยาบาลเอกชน ที่มีค่าใช้จ่ายสูง มีการใช้ยารุ่นใหม่ๆ ที่ราคาแพง แต่ไม่ใช่ว่ายารุ่นเก่าไม่ดี เพราะยารุ่นเก่าก็ใช้มากว่า 20 ปี ก็ได้ผลดี ยืนยันว่าผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาโรคทางจิตเวชได้ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพราะอยู่ในสิทธิประโยชน์ในการรักษาสุขภาพกายและสุขภาพจิต” นพ.พงศ์เกษมกล่าว

Advertisement

เมื่อถามว่าหากจะมีการเพิ่มงบประมาณดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ควรจะต้องไปเสริมในงานด้านใด นพ.พงศ์เกษมกล่าวว่า การเพิ่มงบประมาณในการดูแลสุขภาพจิตเป็นเรื่องที่ดีมาก แต่คงไม่ได้ไปเน้นเรื่องการรักษาเพียงอย่างเดียว เพราะอย่างที่บอกคือ กองทุนสุขภาพของประเทศดูแลเรื่องการรักษาอยู่แล้ว แต่งบฯ ที่ได้มาอาจจะนำมาทำเป็นโครงการสร้างเสริมป้องกันโรคทางจิตเวช เสมือนเป็นวัคซีนใจ ที่ต้องดูแลตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ ด้วยการสร้างการรับรู้ให้ทุกคนตระหนักและคัดกรองสุขภาพจิตตัวเองในเบื้องต้นได้ ไปจนถึงการอบรมบุคลากรครู ที่ทางกรมสุขภาพจิตได้ร่วมมือกับโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. เพื่อให้มี “เพื่อน” ช่วยสอดส่องดูผู้ที่เข้าข่ายเกิดภาวะซึมเศร้าและเข้าให้ความช่วยเหลือได้ เพราะจริงๆ ผู้ที่มีภาวะซึมเศร้านั้นมีเพียงร้อยละ 1 ที่จำเป็นต้องใช้ยา ส่วนที่เหลือนั้น สามารถใช้การบำบัด (Psychotherapy) ได้

“กรมสุขภาพจิต ดูแลเรื่องโรคซึมเศร้ามากว่า 20 ปี แต่เป็นไปได้ว่าความตระหนักรู้ของประชาชนในเรื่องนี้ยังไม่ดีพอ อาจต้องกระตุ้นขึ้นมา ซึ่งต้องขอบคุณท่าน สส.พรรคก้าวไกล ที่ท่านเองก็เป็นหนึ่งในกรรมาธิการสาธารณสุขด้วย และเคยปวารณาตัวเองว่าอยากเป็นภาคีเครือข่ายด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี เพราะ กรมสุขภาพจิต ไม่สามารถใช้เพียงบุคลากรสาธารณสุขได้ ต้องอาศัยภาคีเครือข่ายเป็นกำลังสำคัญ” นพ.พงศ์เกษมกล่าว

นพ.พงศ์เกษมกล่าวว่า กรมสุขภาพจิตเป็นกรมที่ต้องทำเรื่องดูแลรักษาและส่งเสริมป้องกัน ซึ่งส่วนของการดูแลรักษานั้นไม่มีปัญหาเพราะมีงบฯ จากกองทุนสุขภาพของประเทศ แต่เรื่องการส่งเสริมป้องกันวัคซีนใจ ที่จะต้องมีตั้งแต่ครอบครัว ชุมชน โรงรียน โดยเฉพาะช่วงเปลี่ยนผ่านของชีวิตจะต้องมีภูมิคุ้มกันที่ต่างกันออกไป ฉะนั้น หากมีการเพิ่มงบฯ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด คือการนำมาใช้ส่งเสริมป้องกัน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image