ฝุ่นเกินเกณฑ์ 34 จว. คาด 1-2 วัน พุ่งอีก สธ.แนะกลุ่มเสี่ยงใช้คลีนรูม 1,769 แห่งทั่วปท.

สธ.เผยฝุ่นเกินเกณฑ์ 34 จว. คาด 1-2 วัน พุ่งอีก แนะกลุ่มเสี่ยงใช้คลีนรูม 1,769 แห่งทั่วปท.

วันนี้ (10 มกราคม 2567) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 ว่า สธ. โดยกองสาธารณสุขฉุกเฉิน ได้ติดตามคุณภาพอากาศ เพื่อบริหารจัดการฝุ่น PM 2.5 โดยข้อมูลเมื่อเวลา 07.00 น. วันนี้ (10 มกราคม 2567) พบว่า ในภาพรวมประเทศ คุณภาพอากาศอยู่ในระดับดี ถึงเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยมี 34 จังหวัด ที่ค่าเฉลี่ย PM 2.5 ในรอบ 24 ชั่วโมง เกินมาตรฐาน 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ในจำนวนนี้ มี 16 จังหวัด ที่เกินมาตรฐานติดต่อกันมากกว่า 3 วัน ได้แก่ 1.นนทบุรี 2.กรุงเทพมหานคร 3.สมุทรสาคร 4. สมุทรปราการ 5.นครปฐม 6.สมุทรสงคราม 7.ราชบุรี 8.กาญจนบุรี 9.ปทุมธานี 10.อ่างทอง 11.พระนครศรีอยุธยา 12.สุพรรณบุรี 13.สุโขทัย 14.อุทัยธานี 15.ชัยนาท และ 16.สิงห์บุรี

“และอีก 10 จังหวัด สถานการณ์เกินค่ามาตรฐานติดต่อกัน 3 วัน ได้แก่ ลำปาง ลำพูน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร ลพบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง และหนองคาย โดยขณะนี้มีการเปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขแล้ว 4 จังหวัด คือ พิษณุโลก นนทบุรี สมุทรสาคร และสมุทรปราการ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีพื้นที่ใดที่ค่าเฉลี่ย PM 2.5 ในรอบ 24 ชั่วโมง เกินมาตรฐานในระดับสีแดง หรือ 75 มคก./ลบ.ม.” นพ.โอภาส กล่าวและว่า ช่วง 1-2 วันข้างหน้า คาดการณ์ว่าปริมาณฝุ่นละอองจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลายพื้นที่ ขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์โดยเช็กค่าฝุ่นเป็นประจำก่อนออกจากบ้านหรือทำกิจกรรม เพื่อปฏิบัติตนตามคำแนะนำของค่าสีฝุ่น โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงสูง คือ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีโรคประจำตัวที่อาจมีอาการกำเริบจากฝุ่นได้ หากจำเป็นให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสฝุ่นหรือสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกัน

ปลัด สธ. กล่าวว่า นอกจากนี้ ขอให้ทำความสะอาดบ้านและสถานที่ต่างๆ ให้สะอาด ทั้งนี้ ในพื้นที่เสี่ยงได้มีการจัดทำห้องปลอดฝุ่น (Clean Room) โดยเฉพาะสถานศึกษา สถานพยาบาล สถานดูแลเด็ก ผู้สูงอายุ ซึ่งปัจจุบันจัดทำไปแล้ว 1,796 แห่ง ใน 27 จังหวัด ประชาชนกลุ่มเสี่ยงสามารถเข้ารับบริการได้เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ โดยค้นหาห้องปลอดฝุ่นได้ที่ https://podfoon.anamai.moph.go.th/

Advertisement

ด้าน นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังสถานการณ์ PM2.5
ในประเทศ พบเกินค่ามาตรฐานในหลายจังหวัด โดยในวันที่ 10 มกราคม 2567 ณ เวลา 11.00 น. พบว่า ค่า PM2.5 อยู่ระหว่าง 10.5 – 79.2 มคก./ลบ.ม. ค่าสูงสุดที่ ต.ย่านซื่อ อ.เมือง จ.อ่างทอง โดยมีพื้นที่อยู่ในระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีแดง) จำนวน 3 พื้นที่ ได้แก่ ต.ย่านซื่อ อ.เมือง จ.อ่างทอง เขตบึงกุ่ม กรุงเทพฯ และ ต.บางพูด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี รวมทั้งมี 34 จังหวัด ที่มีค่า PM2.5 อยู่ในระดับที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีส้ม) ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าสถานการณ์ PM2.5 จะยังคงมีแนวโน้มเกินมาตรฐานอย่างต่อเนื่องจนถึงวันที่ 12 มกราคม 2567 เนื่องจากอัตราการระบายอากาศต่ำมาก ประกอบกับกิจกรรมของมนุษย์ทั้งการจราจร การเผาทางการเกษตร ส่งผลให้ PM2.5 ทุกพื้นที่สะสมเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนได้ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ กลุ่มผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ และผู้มีโรคประจำตัว โดยอาจพบอาการเฉียบพลัน เช่น อาคารระคายเคืองตา จมูก และผิวหนัง รวมถึง อาการในระดับรุนแรงถึงขั้นแน่นหน้าอก หายใจลำบาก หายใจมีเสียงหวีด เหนื่อยง่ายได้

นพ.อรรถพล กล่าวต่อไปว่า พญ.อัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย มีความห่วงใยสุขภาพของประชาชน ขอให้ประชาชนเฝ้าระวังอาการและป้องกันสุขภาพตนเอง ดังนี้ 1.ติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศอย่างใกล้ชิดก่อนออกจากบ้านแอพพลิเคชัน “Air4Thai” หรือ “AirBKK” หรือ “Life Dee” และปฏิบัติตนตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด 2.สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น เช่น หน้ากากอนามัย หรือหน้ากาก N95 ขณะอยู่กลางแจ้ง 3.ควรหลีกเลี่ยงการออกไปทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายกลางแจ้งให้เปลี่ยนมาออกกำลังกายภายในอาคารแทน 4.ดูแลสุขภาพให้ร่างกายแข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำสะอาดให้มาก ๆ 5.สำหรับผู้ที่มี
โรคประจำตัว ควรสำรองยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นให้พร้อม และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ และ 6.สังเกตตนเองและบุคคลในครอบครัว หากพบอาการผิดปกติ เช่น ไอบ่อย หายใจลำบาก หายใจถี่ หายใจไม่ออก หายใจมีเสียงวี้ด แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก ใจสั่น คลื่นไส้ เมื่อยล้าผิดปกติ หรือวิงเวียนศีรษะ ให้รีบไปพบแพทย์

“นอกจากนี้ ประชาชนยังสามารถทำห้องปลอดฝุ่น เพื่อลดความเสี่ยงในการสูด PM2.5 เข้าสู่ร่างกายได้ โดยเฉพาะในบ้านที่มีกลุ่มเสี่ยง เพื่อป้องกันฝุ่นภายนอกเข้าไปในห้อง โดยเลือกห้องที่อยู่ห่างจากแหล่งกำเนิดฝุ่นต่างๆ ทำความสะอาดห้อง เก็บวัสดุที่เป็นแหล่งสะสมฝุ่นออก ปิดผนึกรอยรั่ว ช่องว่างต่างๆ ภายในห้อง งดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่นหรือควันเพิ่มมากขึ้น เช่น การเผาเศษวัสดุทางการเกษตร จุดเทียนธูป รวมทั้งกิจกรรมอื่นๆ ที่เป็นแหล่งก่อกำเนิดควัน และอาจเพิ่มประสิทธิภาพการลดฝุ่นในห้อง เช่น การใช้เครื่องฟอกอากาศ ซึ่งอุปกรณ์ดังกล่าว ควรมีขนาดที่เหมาะสมกับห้อง” นพ.อรรถพล กล่าวและว่า สธ.ได้จัดทำห้องปลอดฝุ่นในสถานบริการสาธารณสุขในพื้นที่เสี่ยง และผลักดันให้สถานที่ เช่น โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก ศูนย์ผู้สูงอายุ และอื่นๆ จัดทำห้องปลอดฝุ่นเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าใช้บริการในช่วงที่ฝุ่นสูงได้ ปัจจุบันมีมากกว่า 3,000 ห้อง ซึ่งประชาชนสามารถค้นหาห้องปลอดฝุ่นที่อยู่ใกล้ได้ รวมทั้งเรียนรู้วิธีทำห้องปลอดฝุ่น และความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับห้องปลอดฝุ่น ผ่านทางเว็บไซต์ https://podfoon.anamai.moph.go.th และสามารถเข้าประเมินอาการตนเองได้ที่ 4healthPM2.5 เพื่อรับคำแนะนำในการดูแลสุขภาพเบื้องต้น หากมีอาการผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที หรือสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน 1478

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image