‘ชลน่าน’ มั่นใจชงร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ถึงมือ ครม.ภายใน ม.ค.นี้ ปลูกต้องขออนุญาตเท่านั้น

‘ชลน่าน’ มั่นใจชงร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ถึงมือ ครม.ภายใน ม.ค.นี้ ปลูกต้องขออนุญาตเท่านั้น

เมื่อวันที่ 12 มกราคม นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นการเปิดรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กัญชา กัญชง พ.ศ. … ว่า สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ฉบับเก่าและฉบับใหม่ หลักการโดยรวมไม่ต่างกัน เพราะ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับเดิม ก็ใช้เพื่อการดูแลสุขภาพ ซึ่งฉบับใหม่ก็ยึดเอาหลักการนี้ตามที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงนโยบายต่อรัฐสภา โดยเน้นย้ำการใช้กัญชา กัญชง เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และสุขภาพ สังคม และเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ และเมื่อนำมาแปลงเป็นร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ร่างเขียนชัดว่า กัญชาและกัญชง ไม่ได้เป็นยาเสพติด โดยมีสิ่งที่ยังเป็นยาเสพติดอยู่ก็คือ สารสกัดทีเอชซี (THC) ที่มีปริมาณมากกว่าร้อยละ 0.2 มิลลิกรัม (มก.) โดยน้ำหนักเท่านั้น

“ส่วนที่เหลือของกัญชาและกัญชง เช่น ราก ลำต้น ดอก ใบ ฯลฯ เมื่อมีประกาศออกมา ก็ทำให้สิ่งเหล่านี้ไม่ถือว่าเป็นยาเสพติดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด แต่ในส่วนอื่นๆ ของกัญชา กัญชง ก็มีสารทีเอชซี และสารซีบีดี (CBD) อยู่ ฉะนั้นก็ถือว่ายังเป็นพืชที่มีสารเสพติดอยู่ จริงอยู่ว่ามีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เมื่อส่วนอื่นของกัญชาไม่เป็นยาเสพติด สิ่งที่เราเห็นนั้น จำเป็นจะต้องมีกฎหมายมารองรับ เพื่อส่งเสริมให้นำไปใช้ทางการแพทย์ เพื่อส่งเสริมให้ใช้เพื่อสุขภาพ และสิ่งที่จะต้องเขียนให้ชัดคือ ทำอย่างไรไม่ให้มีการนำไปใช้ในผิดประเภท” นพ.ชลน่านกล่าว

Advertisement

รัฐมนตรีว่าการ สธ.กล่าวว่า หากถามว่าร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ฉบับนี้ ต่างจากร่างฉบับเดิมอย่างไร คือ 1.รายละเอียดต่างกัน เพราะฉบับเดิมมี 94 มาตรา แต่ฉบับใหม่มี 76 มาตรา ซึ่งเป็นการปรับจากร่างเดิม เช่น มาตรการควบคุมการใช้ในเยาวชน มาตรการการปลูกโดยไม่ผ่านการอนุญาต ซึ่งร่างเดิมให้ใช้การจดแจ้ง

แต่ร่างใหม่ระบุชัดว่า ถ้าจะปลูกต้องขออนุญาต โดยหากปลูกไม่เกิน 5 ไร่ จะเป็นการปลูกทั่วไป ถ้าปลูก 6-20 ไร่ จะเป็นการปลูกระดับกลาง การปลูกมากกว่า 20 ไร่ แต่ไม่เกิน 400 ไร่ จะเป็นการปลูกในเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม โดยทั้งหมดนี้ จะมีการเขียนระดับการอนุญาตเอาไว้ เช่น หากเทียบกับร่างฉบับเดิม ถ้าจะปลูก 15 ต้น ตอนนี้จะต้องขออนุญาต เพราะเราต้องการควบคุมว่าการปลูกนั้น เพื่ออะไรและนำไปใช้อย่างไร” นพ.ชลน่านกล่าว

Advertisement

นอกจากนี้ นพ.ชลน่านกล่าวว่า 2.ร่างฉบับใหม่จะมีความชัดเจนในนิยามคำว่า ‘สันทนาการ’ ซึ่งฉบับเดิมไม่มี ฉบับนี้จึงชี้ให้เห็นว่า ถ้าจะป้องกันไม่ให้นำกัญชง กัญชาไปใช้ผิดประเภท พฤติกรรมของการใช้เชิงสันทนาการเป็นการสุ่มเสี่ยงในการใช้ผิดประเภท จึงระบุไว้ชัด

ผู้สื่อข่าวถามถึงบทลงโทษในการนำไปใช้ผิดประเภท นพ.ชลน่านกล่าวว่า เมื่อมีการบังคับให้ขออนุญาตปลูก และบังคับใช้เพื่อการแพทย์และสุขภาพ ก็จะต้องมีบทกำหนดโทษ เช่น ในการคุ้มครองบุคคลไม่ให้ใช้กัญชาผิดประเภท หากมีการเปิดร้านจำหน่ายช่อดอกกัญชา ผิดไปจากสถานที่ที่กำหนดก็จะมีบทลงโทษ และในกฎหมายระบุว่า ไม่ให้มีการใช้กัญชาภายในร้านที่จำหน่าย ซึ่งหากมีการละเมิดเรื่องนี้ ก็จะมีความผิดทั้งผู้จำหน่ายและผู้ซื้อ กฎหมายเอาทั้ง 2 กรณี ไม่ห้ามเฉพาะด้านใดด้านหนึ่ง ห้ามเปิดร้าน ห้ามเสพด้วย โทษบางอย่าง เราเห็นว่าไม่ต้องเขียนหนัก ก็เขียนให้เหมาะสมกับบริบทกับกฎหมายอาญาทั่วไป บางอย่างก็หนักขึ้น

เมื่อถามว่า จะเปิดรับฟังความคิดเห็นไปถึงเมื่อไร และจะได้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในช่วงใด นพ.ชลน่านกล่าวว่า การรับฟังความคิดเห็นกฎหมายระบุว่าไม่น้อยกว่า 15 วัน ซึ่งจะปิดรับฟังความเห็นในวันที่ 23 มกราคมนี้ หลังจากนั้น จะประมวลความคิดเห็นทั้งหมด นำมาสังเคราะห์ ถ้าจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขก็ต้องรีบทำ ถ้าทำเสร็จแล้ว ก็ตั้งใจส่งให้ ครม.พิจารณาในเดือนนี้เลย

ด้าน นพ.เทวัญ ธานีรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยฯ กล่าวว่า เวทีแสดงความคิดเห็นต่อ (ร่าง) พ.ร.บ.กัญชาฯ เป็นเครื่องมือในการรับฟังความเห็นจากภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม เพื่อให้ประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้อง นำเสนอความเห็นที่เป็นประโยชน์ในการจัดทำกฎหมาย กำกับ ดูแล กัญชา กัญชง เป็นการเฉพาะ ซึ่งจะสามารถบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยวันนี้ได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายดังกล่าวทั้งในรูปแบบออนไซต์ (On site) และออนไลน์ (On line) ซึ่งจะมีการแสดงความคิดเห็นตามรายมาตราเพื่อสรุปเป็นประเด็น และเมื่อพ้นจากวันนี้แล้ว ยังสามารถเข้าแสดงความคิดเห็นได้ทางเว็บไซต์ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก www.dtam.moph.go.th ไปจนถึงวันที่ 23 มกราคม 2567 เมื่อผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็น 15 วัน ตามกฎหมายแล้ว จะทำสรุปผลการรับฟังความเห็นและรายงานผลการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. … ให้สอดคล้อง เหมาะสม ก่อนเสนอรัฐมนตรีว่าการ สธ.เพื่อพิจารณาเสนอ ครม.ให้ความคิดเห็นต่อไป

“สำหรับนิยามตามมาตรา 4 สันทนาการ คือ การกระทำเพื่อความรื่นเริงบันเทิงใจ ทั้งนี้ เราเปิดรับฟังความคิดเห็นเต็มที่เพื่อเอาเข้ามาปรับ ร่างยังไม่ถือว่าเสร็จสมบูรณ์ ผ่านกระบวนการนี้ เอาเนื้อหาไม่เห็นด้วยมาประกอบปรับแก้ก่อนเสนอ ครม. พอเข้า ครม.จะพิจารณาว่ารับหรือไม่รับร่างนี้ หากรับก็จะส่งไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบ ซึ่งใช้เวลาพอสมควร พอเรียบร้อยส่งกลับมา ครม. เมื่อเห็นชอบก็เสนอเข้าสู่สภา ผู้ประกอบการ คนมีส่วนได้ส่วนเสียก็สามารถเสนอความเห็นให้แก่ ส.ส.ที่เป็นผู้แทน เพื่อปรับแก้ในชั้นนี้ได้อีก ผ่านแล้วเข้าวุฒิสภา หากทั้ง 2 สภาเห็นด้วย โดยกรรมาธิการก็เสนอโปรดเกล้าฯ ออกมาเป็นกฎหมายบังคับใช้” นพ.เทวัญกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image