กรมอนามัยส่งทีมตรวจสอบ-เฝ้าระวังสุขภาพประชาชนเหตุไฟไหม้บ่อขยะ จ.ฉะเชิงเทรา

กรมอนามัยส่งทีมตรวจสอบ-เฝ้าระวังสุขภาพประชาชนเหตุไฟไหม้บ่อขยะ จ.ฉะเชิงเทรา

วันนี้ (15 มกราคม) กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มอบหมายทีม SEhRT ศูนย์อนามัยที่ 6 ชลบุรี ประสานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ฉะเชิงเทรา ร่วมลงพื้นที่ตรวจวัดการปนเปื้อนสารพิษในอากาศในครัวเรือนและชุมชนและประเมินสภาวะทางสุขภาพ อาการแสดงจากการรับสัมผัสควันพิษจากไฟไหม้บ่อขยะ จ.ฉะเชิงเทรา เน้นย้ำสื่อสารสร้างการรับรู้ความเสี่ยงและให้คำแนะนำในการดูแลปฏิบัติตนเพื่อป้องกันลดผลกระทบต่อสุขภาพทั้งในช่วงเกิดเหตุ ตลอดจนการปฏิบัติตนเมื่อเหตุการณ์เข้าสู่ภาวะปกติแก่ประชาชนในพื้นที่เสี่ยง

นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากเหตุการณ์ไฟไหม้บ่อขยะ
ในพื้นที่ ต.หัวสำโรง อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ 14 มกราคมที่ผ่านมา ทำให้เกิดควันไฟ เขม่า เถ้า และฝุ่นละอองปนเปื้อนในอากาศ ฟุ้งกระจายไปทั่วบริเวณ รวมทั้งปกคลุมไปยังชุมชนที่อาศัยในบริเวณใกล้เคียง ทำให้ตลอดช่วงเกิดเหตุประชาชนต้องสูดดม รับสัมผัสสารพิษที่ปนเปื้อนมากับควันไฟเข้าสู่ร่างกาย ส่งกลิ่นเหม็นและส่งผลต่อสุขภาพ หากพิจารณาจากข้อมูลบ่อขยะที่เกิดไฟไหม้แห่งนี้ตั้งอยู่พื้นที่เอกชน ไม่มีใบอนุญาตประกอบการบ่อขยะ ตั้งแต่ปี 2560 เนื่องจากเป็นบ่อขยะเก่าที่ไม่มีการใช้งานแล้ว ถึงแม้ว่าขณะนี้สามารถควบคุมการลุกไหม้ได้แล้ว แต่ยังคงมีควันไฟฟุ้งกระจายปกคลุมไปยังชุมชนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง กรมอนามัย จึงได้ส่งทีม SEhRT ของศูนย์อนามัยที่ 6 ชลบุรี เข้าพื้นที่เพื่อประเมินการปนเปื้อนของสารพิษในอากาศทั้งในชุมชนและครัวเรือนที่ยังคงได้รับกลิ่นควันไฟ และประเมินอาการแสดงทางสุขภาพของประชาชนจากการรับสัมผัสควันพิษและฝุ่นละอองจากไฟไหม้ครั้งนี้ พร้อมให้คำแนะนำในการดูแลสุขภาพ เพื่อปกป้องประชาชน

Advertisement

รองอธิบดีกรมอนามัยกล่าวว่า กรมอนามัยขอให้หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบ กำกับ ดูแล เฝ้าระวัง เร่งหามาตรการป้องกันความเสี่ยงการเกิดไฟไหม้บ่อขยะที่อาจเกิดขึ้นซ้ำอีกในภายหลัง การกำหนดให้ผู้ครอบครองที่ดิน ผู้ดูแล และเจ้าของบ่อขยะต้องรับผิดชอบ มีแผนรองรับการเกิดภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการให้บริการคุ้มครองด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของหน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่รับผิดชอบในพื้นที่ รวมถึงเฝ้าระวังบ่อขยะอื่นๆ ที่อาจเกิดเหตุเพลิงไหม้ได้เช่นเดียวกัน

นพ.สุทัศน์ ไชยยศ ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 6 ชลบุรี กล่าวว่า ทีม SEhRT ศูนย์อนามัยที่ 6 ชลบุรี เข้าพื้นที่ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากควันไฟในหมู่ 3 และหมู่ 8 ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด และมีการสำรวจสภาพแวดล้อมโดยรอบบ่อขยะ พบเป็นพื้นที่ป่ารกร้าง ไม่พบแหล่งน้ำสาธารณะ ไม่มีแหล่งน้ำสาธารณะ
ในบริเวณใกล้เคียง จึงไม่พบความเสี่ยงการปนเปื้อนสารพิษในแหล่งน้ำที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนและพื้นที่ทางการเกษตร เบื้องต้นผลการตรวจประเมินการปนเปื้อนสารพิษในอากาศในชุมชนและครัวเรือน พบระดับความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดเล็ก ก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ และคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน แต่ยังมีกลิ่นเหม็นจากควันไฟที่รบกวนการดำรงชีวิตของชุมชน

Advertisement

นพ.สุทัศน์กล่าวว่า นอกจากนี้ มีการประเมินสภาวะทางสุขภาพประชาชนที่สูดดมกลิ่นเหม็น ควันไฟ เขม่า ฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เกิดจากการเผาไหม้ขยะ ยังคงพบประชาชนที่มีอาการแสดงทางสุขภาพ ได้แก่ หายใจไม่ออก แสบตา จมูก และคันที่ผิวหนัง จึงให้คำแนะนำประชาชนในการดูแล ป้องกันตนเองและครอบครัว โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก สตรีมีครรภ์ และผู้ป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ พร้อมสนับสนุนสวมหน้ากากป้องกันสารพิษจากควันไฟ ทั้งนี้ ทีม SEhRT ให้ข้อแนะนำต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อให้ใช้อำนาจทางปกครองในการควบคุม กำกับ และแจ้งต่อเจ้าของ ผู้ดูแล หรือผู้ที่ครอบครองพื้นที่บ่อขยะมีมาตรการเข้มงวดและเป็นรูปธรรมในการป้องกัน ปิดกั้น ปกคลุมไม่ให้มีบุคคลอื่นเข้าไปยังพื้นที่และอาจก่อประกายไฟ จนเป็นสาเหตุของการเกิดภาวะฉุกเฉินจากไฟไหม้บ่อขยะที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน เสนอต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นต่อไป

“และเน้นย้ำให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงปฏิบัติตามคำแนะนำในการดูแลและป้องกันผลกระทบจากไฟไหม้บ่อขยะ โดยการปฏิบัติตนในช่วงเกิดเหตุ ดังนี้ 1.ฟังการแจ้งเตือนภัย หลีกเลี่ยงการออกนอกอาคาร ปิดประตู หน้าต่างให้มิดชิด และสวมหน้ากากป้องกันสารพิษตลอดเวลา เพื่อลดความเสี่ยงสูดดมหายใจรับควันพิษสู่ร่างกาย 2.กรณีหน่วยงานภาครัฐแจ้งเตือนให้มีการอพยพจากบ้านเรือน ให้รีบปฏิบัติตามทันที โดยไม่ลืมพกยาประจำตัว ยาสำหรับผู้ป่วยเรื้อรังติดตัวไว้ใช้ยามฉุกเฉิน 3.สังเกตอาการตนเองและคนในครอบครัว หากมีอาการผิดปกติจากการสูดดมสารพิษ เช่น อาการไอบ่อยๆ หายใจลำบาก แน่นหรือเจ็บหน้าอก หัวใจเต้นไม่เป็นปกติ คลื่นไส้ เหนื่อยง่าย หรือเริ่มมีอาการปวดศีรษะ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่และไปพบแพทย์ทันที” นพ.สุทัศน์กล่าว และว่า และเมื่อสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ให้ปฏิบัติตน 1.เปิดประตู หน้าต่างเพื่อระบายอากาศ ทำความสะอาดบ้าน เครื่องใช้ ที่นอน ผ้าห่ม รวมทั้งเฟอร์นิเจอร์ให้สะอาดทันที ไม่ให้มีสารพิษตกค้างสะสมในบ้าน 2.สังเกตอาการของตนเองและครอบครัวอย่างต่อเนื่อง หากมีอาการผิดปกติ ป่วย หรืออาการแสดงทางสุขภาพให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและพบแพทย์ทันที 3.หมั่นสังเกต ตั้งข้อสงสัยต่อสัญญาณแสดงหรือสัญญาณเตือนภาวะฉุกเฉิน หากพบเหตุการณ์ผิดปกติ รีบแจ้งผู้นำชุมชนหรือหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อควบคุมและระงับก่อนเกิดความรุนแรง

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image