ส.ก.ลั่น ‘บรรทัดทอง’ เดินแทบไม่ได้ ปิดถนนแบบเยาวราชไหม? รองผู้ว่าฯรับไปคุย ‘ทรัพย์สินจุฬา’

ส.ก.ลั่น นึกภาพดู ‘บรรทัดทอง’ เดินแทบไม่ได้ ปิดถนนเหมือนเยาวราช เลยไหม? รองผู้ว่าฯ รับไปกำชับ ‘ทรัพย์สินจุฬา’

เมื่อวันที่ 17 มกราคม ที่อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 (ดินแดง) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร และ ส.ก.ทั้ง 50 เขต เข้าร่วมการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 1 ครั้งที่ 3 ประจำปีพุทธศักราช 2567

ตอนหนึ่งของการประชุม นางเมธาวี ธารดำรงค์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตปทุมวัน ได้ยื่นกระทู้ถามสด เรื่องปัญหาความเดือดร้อนจากผู้ประกอบการร้านอาหารบนถนนบรรทัดทอง

นางเมธาวีกล่าวว่า เราไม่ได้มีเพียงเขตสัมพันธวงศ์ เยาวราช ที่มีอาหารดังไปทั่วโลก หรือ เขตพระนคร ถนนข้าวสาร มีร้านอาหาร แหล่งท่องเที่ยว แต่วันนี้มีขึ้นอีกแห่งหนึ่งที่เขตปทุมวัน เนื่องจากจุฬาลงกรณ์มีวิสัยทัศน์ ซึ่งเดิมที่คนจะรู้จักการขายเครื่องยนต์ ของเก่า สายไฟฟ้า หรือเซียงกง

Advertisement

“ท่านมองเห็นว่าความเปลี่ยนแปลง ณ วันนี้ ทั่วโลกจะเห็นได้ว่าสังคมเปลี่ยนไป ธุรกิจรู้สึกดีใจที่เขตปทุมวัน ได้มีแหล่งอาหาร มีผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จด้วยระยะสั้นๆ เพียงปีกว่า ไม่เพียงแต่ในประเทศที่รู้จักถนนบรรทัดทอง ที่มีอาหารที่ดังและอร่อย มีนักท่องเที่ยวมากมาย มีสิ่งดีมากมาย แต่ก็มีบางสิ่งที่จะต้องแก้ไขบ้าง” นางเมธาวีเผย

นางเมธาวีกล่าวว่า ปัญหาเรื่องขยะในคลองสวนหลวง ริมถนนบรรทัดทอง เนื่องจากริมถนนบรรทัดทอง ข้างหลังจะเป็นบ้านเรือนผู้อยู่อาศัย ซึ่งเป็นบ้านเรือนที่อยู่มานานมาก โตคู่มากับบรรทัดทอง ปัญหาส่งเสียงและกลิ่นรบกวนประชาชน จนมีประชาชนร้องเรียนมาหลายครั้ง ไม่ใช่เขตเราจะละเลย แต่มันยังไม่ได้รับการแก้ไขที่ดีพอ

Advertisement

“คลองสวนหลวง ที่ผ่านมาเราจะลอก 3 ปี ต่อ 1 ครั้ง ในครั้งนี้สภาเปิด เราลอกไปแล้ว 1 ครั้ง แล้วเมื่อต้นมีเราก็ลอกไปแล้วครั้งหนึ่ง แต่สภาพก็ยังเป็นแบบนี้เนื่องจากร้านอาหารตลอดแนวบรรทัดทอง มีผู้ประกอบการบางร้านที่ได้ใช้คลองสวนหลวงเป็นที่ทิ้งขยะ น้ำเสียลงไปในคูคลองแห่งนี้ ทำให้ส่งกลิ่นเหม็น ดิฉันเคยเรียนถามว่าคลองใครควรดูแลดี เป็นความรับผิดชอบของใคร สำนักระบายน้ำ หรือของเขต ซึ่งเขาบอกว่าให้เขตไปดูแล แต่ไม่ทราบว่าทำหรือยัง” นางเมธาวีกล่าว

นางเมธาวีกล่าวอีกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกลางดึกคือ ร้านค้าล้างจาน ส่งเสียงดัง เนื่องจากข้างหลังเป็นบ้าน ที่อยู่อาศัย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง ร้องเรียนมาหลายครั้ง ตนได้เข้าไปคุยกับร้านค้าเกี่ยวกับการแก้ไข พบว่าร้านส่วนใหญ่เป็นร้านแฟรนไชส์ ซึ่งผู้บริหารจริงไม่เคยมา

“ลูกจ้างและเชฟที่อยู่หน้าร้าน เขารับปากแต่ก็ทำอะไรไม่ได้ ดิฉันคิดว่ากรุงเทพมหานคร ควรใช้ระเบียบ ข้อบังคับเข้มข้นขึ้น ต้องเข้าไปตรวจสอบเรื่องของการทิ้งน้ำเสีย ทิ้งขยะลงคลอง ส่งเสียงดังในยามวิกาลที่ไม่จะเกิดหลังกี่โมงไปแล้ว” นางเมธาวีชี้

นางเมธาวีกล่าวว่า ปัญหากลิ่นจากท่ออากาศที่มีการปรุงอย่างเข้มข้นทุกวัน ตนอยากให้กรุงเทพมหานครออกระเบียบว่าปล่อง ควรจะสูงกว่าหลังคาเรือน เพื่อไม่ให้กลิ่นพัดไปถึงบ้านผู้อยู่อาศัยด้านหลัง มันมีกลิ่นที่แรงและฉุนมาก รวมถึงร้านค้ามากมายที่เกิดขึ้น ทางเท้าแทบไม่มีทางเดิน

“ดิฉันเคยให้เขตเข้าไปดู พบว่าหน้าฟุตปาธชายคาบ้าน สำนักงานทรัพย์สินจุฬาฯ ปล่อยให้เช่า จนส่วนที่เดินแทบไม่มี คนก็จะลงมาเดินที่ถนน ถ้ามันสุดวิสัยจริงๆ ผู้คนจะต้องลงมาเดินถนน เราคงต้องไปขอแบบลักษณะเยาวราช ขอปิดหนึ่งเส้นทาง เพื่อเป็นทางเท้าให้กับประชาชนที่มารับบริการ มาทานอาหาร ณ จุฬาฯ แห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นมอเตอร์ไซต์มาจอด โต๊ะมาตั้ง เราลองนึกภาพดูว่าตั้งแต่ต้นทางพระราม 4 แยกจุฬา เลยสวนหลวงไปจนเกือบถึงโลตัส ตลอดสองข้างทางเป็นร้านค้า” นางเมธาวีกล่าว

นางเมธาวีกล่าวว่า ดิฉันคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ผู้นำของเรา ท่านผู้บริหารของเรา ท่านผู้ว่าฯพูดเสมอว่า ต้องการมีสุขภาพที่ดี สิ่งเหล่านี้เราปฏิเสธไม่ได้ว่ามันไปรบกวนผู้อยู่อาศัย เราคงจะต้องใช้กฎหมายให้เข้มข้นขึ้น ตรวจสอบให้มากขึ้น สุดท้ายร้านอาหารที่อยู่ข้างทางที่เป็นอาหารตามสั่ง ส่วนใหญ่จะไม่มีปล่อยดูดควัน ดิฉันคิดว่าไม่ใช่เพียงแค่เขตปทุมวัน หลายเขตคงประสบปัญหาเช่นกัน ร้านอาหารไม่มีปล่องดูดควัน ส่งกลิ่น พร้อมฝากเรื่องดักไขมัน ที่ร้านค้ามักไม่มีบ่อดักไขมัน ถึงมีก็ซื้อถังเล็กๆ มา มันไม่ทันกับการระบายน้ำออกไป มันล้นออกมาที่ถนน

ด้าน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า พื้นที่ตรงบรรทัดทองเป็นพื้นที่น่าสนใจ เป็นการพัฒนาเมืองที่เกิดย่านใหม่อย่างไม่น่าเชื่อ มีคนเข้ามา มีทั้งข้อดีและข้อเสียหลายด้านด้วยกัน ทั้งเรื่องความหนาแน่นต่างๆ แต่พื้นที่บริเวณนี้มีความซับซ้อนของเจ้าของที่เช่นเดียวกัน ซึ่งบรรทัดทอง ตัวถนนเป็นสาธารณะ แต่ฟุตปาธเป็นกรรมสิทธิ์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต้องขอให้ นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ ผู้รับผิดชอบสำนักงานระบายน้ำ และคุ้นเคยกับพื้นที่ช่วยชี้แจง

ขณะที่ นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ชี้แจงว่า พื้นที่บรรทัดทองซึ่งเป็นพื้นที่ใหญ่ด้านการค้าใหม่ที่เกิดขึ้นมา สำนักงานเขตปทุมวันได้ร่วมมือกับสำนักงานทรัพย์สินจุฬาฯ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาทั้งหมดที่รับเรื่องร้องเรียนมา

“เรื่องของเสียงดังก็ได้แจ้งเตือนกับทางผู้ประกอบการในร้านที่เรารับเรื่องร้องเรียนมา ได้มาการตักเตือน สำนักงานทรัพย์สินจุฬาฯ ก็แจ้งมาว่า ถ้าผู้ประกอบการยังไม่ดำเนินการอีก ในการต่อสัญญาเช่าก็จะเอาประเด็นพวกนี้ มาเป็นประเด็นหนึ่งในการต่อสัญญาเช่าอีกด้วย

ส่วนเรื่องน้ำเสียที่ลงคลองสวนหลวง สำนักงานทรัพย์สินจุฬาฯ แจ้งมาว่า มีการติดตั้งถังดักไขมันทุกร้าน อย่างที่ท่านสมาชิกกรุงเทพฯรายงานว่าไม่พอ สำนักงานทรัพย์สินจุฬาฯ ก็ได้ร่วมกับสำนักงานระบายน้ำ ว่าจะทำระบบท่อรวมน้ำเสียที่ออกจากร้าน เข้ามาระบบบำบัดน้ำเสีย กทม. ลงสู่ที่โรงปรับปรุงคุณภาพน้ำที่ดินแดง ก็จะส่งเสียทุกร้านเข้าโรงบำบัดเลย ไม่ต้องปล่อยลงคลอง” นายวิศณุกล่าว

นายวิศณุกล่าวอีกว่า เรื่องกลิ่นควันเห็นด้วยจากเรื่องที่ร้องเรียนมา เห็นด้วยว่าควรทำปล่องสูงเกินอาคารขึ้นไป ทางเดินทางเท้าข้างหน้าก็เป็นจุดสำคัญว่าต้องให้คนเดินผ่านได้ ต้องกำชับกับสำนักงานทรัพย์สินจุฬาฯ ให้ดูแลผู้เช่าว่าต้องเว้นระยะให้มีทางเดินเพียงพอต่อการสัญจรไปมาได้ เราก็ประสานงานกันอย่างใกล้ชิด ถ้ามีการรับเรื่องร้องเรียน ทางสำนักงานเขตปทุมวัน กับสำนักงานทรัพย์สินจุฬาฯ ก็คงทำงานใกล้ชิดกันมากขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image