ชัชชาติอ้อนสภากทม. ‘คนใช้เยอะเดี๋ยวลำบาก’ วอนรับมอบระบบเดินรถ ‘สายสีเขียว’ ส่วนต่อขยาย 2

ชัชชาติ อ้อน ‘สภากทม.’ คนใช้เยอะเดี๋ยวลำบาก วอนไฟเขียวรับมอบ E&M ระบบเดินรถ ‘สายสีเขียว’ ส่วนต่อขยาย 2

เมื่อวันที่ 17 มกราคม ที่อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 (ดินแดง) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร และ ส.ก.ทั้ง 50 เขต เข้าร่วมการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 1 ครั้งที่ 3 ประจำปีพุทธศักราช 2567

โดยการประชุมครั้งนี้ จะมีการรายงานผลการดำเนินการของกรุงเทพมหานคร ตามญัตติของ นายพีรพล กนกวลัย ส.ก.เขตพญาไท เรื่อง ขอให้กรุงเทพมหานครเตรียมการจัดทำแผนเผชิญเหตุและแผนการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุขัดข้องกรณีต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นภายในรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) และการยื่นกระทู้ถามสดต่อฝ่ายบริหารของ น.ส.เมธาวี ธารดำรงค์ ส.ก.เขตปทุมวัน เรื่อง ปัญหาความเดือดร้อนจากผู้ประกอบการร้านอาหารบนถนนบรรทัดทอง

Advertisement

ในตอนหนึ่ง นายชัชชาติ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ทางฝ่ายบริหารขอเสนอ ขอความเห็นชอบในโครงการการรับมอบงานทรัพย์สินระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2

“ความจริงแล้ว โครงการนี้เริ่มมาก่อนที่พวกเรา ฝ่ายบริหารและสภา กทม. เข้ามาเป็นหน้าที่เราที่จะต้องหาข้อยุติ โดยยึดประโยชน์ของประชาชนและของ กทม.เป็นหลัก ที่ผ่านก็มีการดำเนินการในรายละเอียด”

เพื่อจะได้เข้าใจตรงกัน รถไฟฟ้าสายสีเขียว ตอนนี้มี 3 ส่วน ส่วนแรกคือ ส่วนสัมปทาน หรือไข่แดง ที่ทาง BTSC เป็นผู้ดำเนินการอยู่ จากนั้นเรามีส่วนต่อขยายที่ 1 ต่อออกไป 2 ด้าน ด้านหนึ่งคือจากบางจาก ไปถึงแบริ่ง 5 สถานี, อีกส่วนคือ จากกรุงธนบุรีไปถึงบางหว้า 6 สถานี ซึ่งงานโยธา กทม.เป็นผู้ดำเนินการ

Advertisement

ส่วนที่เราจะพูดวันนี้คือ ‘ส่วนต่อขยายที่ 2’ ซึ่งมี 2 ส่วนคือ ‘เขียวเหนือ’ จากห้าแยกลาดพร้าว ถึงคูคต 16 สถานี และ ‘เขียวใต้’ จากสำโรง ไปถึงเคหะสมุทรปราการ 9 สถานี แต่เดิมงานโยธา รฟม.เป็นผู้สร้าง ด้าน E&M ตอนนี้ มอบหมายให้เคที ดำเนินการ และ O&M ก็มอบหมายเคที ซึ่งเคที ได้มอบให้เอกชนดำเนินการต่อ

ตนขอสรุปไทม์ไลน์ให้เห็น เรื่องนี้ต่อเนื่องมาตั้งแต่ 2551 กทม.ก็ให้ รฟม.สร้างส่วนต่อขยายที่ 2 และมีเรื่องเข้ามาเยอะ สภา กทม.เคยเห็นชอบหลักการ ให้เราไปดำเนินการนอกเขตของ กทม.ได้ในวันที่ 28 เม.ย. 2553 เมื่อมาถึง 10 มิ.ย.58 คจร.ก็ให้เดินรถส่วนต่อที่ 2 จากนั้น 1 มี.ค. ครม.ก็มีมีติ รับทราบ มติ คจร.

ต่อมา 28 ก.ค.2559 กทม.ทำ MOU มอบหมายให้เคที เดินรถและติดตั้งระบบ E&M ของส่วนต่อขยายที่ 2 จากนั้น 26 พ.ย.61 ครม.มีมติรับทราบการกู้เงินเพื่อโอนโครงสร้างส่วนต่อที่ 2 ให้ กทม. ต่อมา 27 มี.ค.2562 กทม.ทำสัญญากับกระทรวงการคลัง รับโอนโครงสร้างพื้นฐานเฉพาะช่วง ‘เขียวใต้’

นายชัชชาติชี้ว่า จากคำสั่ง คสช. 3/2562 ที่มี ม.44 ออกมา กำหนดให้ กทม.จ้างผู้ประกอบการติดตั้งระบบไฟฟ้าและริหารการเดินรถ ส่วนต่อที่ 2 ให้เสร็จโดยเร็ว และ คสช.ก็มีคำสั่ง 3 ประเด็น (17 พ.ย. 63) คือ

1. ระยะเวลาร่วมลงทุนขยายไปถึงปี 2602
2. ให้เอกชนเป็นผู้รับภาระด่างาน O&M และ E&M ไปเป็นทุนของโครงการ
3. ส่วนแบ่งรายได้ให้ กทม. 10% 15% 25% ตามระยะเวลา เพื่อนำไปจ่ายค่างาน CIVIL

“เป็นเงื่อนไข การเจรจาตาม ม.44 เรื่องนี้ยังค้างอยู่ใน ครม. ก็ยังไม่ได้มีข้อยุติ มีการกลับไปกลับมาหลายครั้ง มีรับทราบให้คลังให้ความเห็นประกอบ เมื่อ 13 ส.ค.63 และ 17 พ.ย.63 ก็มีมติรับทราบ ครม. และให้ กทม.รับความเห็นกระทรวงการคลังในการคิดค่าโดยสาร

ในส่วนของเรา (กทม.) เอง ก็ดำเนินการติดตั้งระบบ E&M และเปิดให้บริการส่วนต่อขยายที่ 2 ไปแล้ว ตั้งแต่ 16 ธ.ค.63 และวันที่ 8 ก.พ.2565 ครม.มีมติให้ กทม.รับความเห็นเรื่องการโอนทรัพย์สินช่วงเขียวเหนือ พอพวกเราเริ่มเข้ามาดำนเนินการ ตอน 1 มิ.ย.2565 มหาดไทยก็มีการถามกลับมาว่า เรามีผู้บริหารชุดใหม่แล้วจะทำอย่างไร ทางฝ่ายบริหารก็แจ้งกลับไป 3 พ.ย.65 ว่า เราขอให้รัฐสนับสนุนโครงสร้างและ E&M และขอให้ดำเนินการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน อันนี้เป็นหลักการที่เรายืนมาตอลด เพื่อให้เกิดความรอบคอบ และหาข้อยุติกรณีที่เอาหนี้ทั้งหมดไปอยู่ในการสัมปทาน ทำให้เรายุติการจ่ายค่าเดินรถอยู่”

“ขณะเดียวกัน กทม.เอง ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจทั้งฝ่ายบริหารและสภากทม. มีตั้งคณะกรรมการวิสามัญขึ้นมา 11 ม.ค.66 มหาดไทยรับทราบ และให้ทำข้อมูลเพิ่ม 31 ม.ค.66 ต่อมา 13 มี.ค. ทำกฎหมายไปอีก ก็ยังยืนยันว่าเราขอสนับสนุนค่าโครงสร้าง ดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม และค่า E&M จากนั้น ก.ค.2566 ครม.รักษาการ ก็มีมติรับทราบ (ตอนนั้นยังไม่มีการเลือกตั้ง) และให้ กทม.ทำข้อมูลเพิ่มอีก เห็นว่าใน ครม.ก็ยังไม่มีข้อยุติ ยังมีการถามข้อมูลกลับไป-มา

และวันที่ 1 พ.ย.66 กทม.เสนอมหาดไทยในประเด็นเดิม คือให้ ครม.สนับสนุน จากนั้น 4 ธ.ค.66 มหาดไทยได้แจ้งกลับบมาว่า ให้เราพิจารณาส่วนที่ กทม.สามารถรับผิดชอบได้ ในพวกภาระต่างๆ ต่อมา ม.ค.67 ทางคณะกรรมการวิสามัญ ได้มีมติให้ฝ่ายบริหาร นำเรื่องการขอใช้เงินสะสมดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนติดตั้งระบบ E&M เข้าสู่สภาฯ เพื่อขออนุญาติต่อไป ก็เป็นที่มาที่ไปว่าที่จริงเราทำงานไม่หยุด ทั้งฝ่ายสภา และบริหารในการพิจารณาประเด็นต่างๆ” นายชัชชาติกล่าว

นายชัชชาติอธิบายด้วยว่า งานภายในรถไฟฟ้าประกอบด้วย 3 ส่วน คือ

1.งานโครงสร้างพื้นฐาน (CIVIL) โครงสร้างสถานี รางวิ่ง ศูนย์ซ่อมบำรุง ซึ่งส่วนต่อที่ 2 รฟม.เป็นผู้จ้าง

2.งานระบบเดินรถ E&M หรือ งานระบบจัดเก็บตั๋ว ระบบสื่อสาร ระบบจ่ายไฟ ระบบควบคุมสั่งการ และงานระบบความปลอดภัย

3.งานเดินรถและซ่อมบำรุง O&M คืองานจ้างเดินรถ และดูแลรักษา มีค่าขบวนรถอยู่ในนั้นด้วย รวมถึงการซ่อมบำรุงที่เกี่ยวข้องกับการเดินรถ

ที่พูดวันนี้ เฉพาะในเรื่องที่ 2 คือ E&M ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่ถ้าไม่มีระบบนี้ ก็จะไม่สามารถเดินรถได้ ถ้าเราดู ‘งานโครงสร้าง’ หน่วยงานที่รับผิดชอบคือ กทม.กับ คลังฯ และให้เราโอนทรัพย์สินจาก รฟม.และให้เราจ่ายหนี้

E&M เป็นเรื่องระหว่างเรากับ เคที ปัจจุบันติดตั้งแล้วเสร็จแล้ว มูลค่ารวมดอกเบี้ยถึง เม.ย. ประมาณ 23,000 ล้านบาท โครงการนี้เท่าที่ดูประวัติที่ผ่านมา ยังไม่ผ่านสภาฯ อย่างเป็นทางการ แนวคิดคือเราต้องเสนอสภาฯ ให้เห็นชอบกับโครงการนี้ก่อนที่ดำเนินการต่อไป หลังจากนั้นต้องนำเข้า ครม. ส่วนเรื่อง O&M ก็เป็นเรื่องที่อยู่ในศาลปกครองอยู่ ซึ่งทางบริษัทได้ฟ้อง เคที กับ กทม. เกี่ยวกับการชำระค่า O&M ซึ่งต้องรอคำพิพกาษาของศาลปกครองสูงสุด” นายชัชชาติเผย

นายชัชชาติกล่าวต่อว่า แนวทางดำเนินการ E&M เราคิดว่ามี 4 ขั้นตอนคือ 1.ให้ สภากทม.เห็นชอบในการโอนหรือ รับ E&M มาก่อน 2.นำเรื่องเสนอมหาดไทย เพื่อให้รายงานต่อ ครม. 3.จัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม หาก ครม.ไม่ขัดข้อง ซึ่งต้องดูรายละเอียดตัวเลข เรื่องการต่อรองต่างๆ แล้วนำเข้าสภากทม.อีกที 4.เบิกจ่าย ได้เมื่อทุกอย่างผ่าน เราพยายามดูให้รอบคอบที่สุด

“ถามว่าทำไมเราต้องรับ E&M เข้ามา ทำไมไม่ปล่อยให้เขาฟ้อง หรือไม่ทำอะไร เพราะส่วนต่อขยายที่ 2 ‘เขียวใต้’ หลังจากที่เราเก็บค่าโดยสาร 15 บาท วันปกติประมาณเกือบ 80,000 เที่ยว (คน) ส่วน ‘เขียวเหนือ’ ทางดอนเมือง คูคต มากถึง 203,994 เที่ยวต่อวัน รวมแล้ว 280,000 เที่ยว คิดเป็น 18 เปอร์เซ็นต์ของผู้โดยสารรถไฟฟ้าทั้ง กทม. ซึ่งอยู่วันละประมาณ 1.5 ล้านคน เป็นหัวใจสำคัญของการอำนวยความสะดวกพี่น้องประชาชน และมีคนใช้ค่อนข้างมาก มีความจำเป็นที่ต้องทำให้ระบบเดินต่อได้ ไม่อย่างนั้นประชาชนจะลำบาก” นายชัชชาติกล่าว

นายชัชชาติชี้ว่า ถ้าเรามีระบบตรงนี้ จะช่วยให้เราต่อรอง O&M ได้ในอนาคตด้วย จึงเป็นเหตุผลประกอบการพิจารณา โดยข้อพิจาณาอยู่ได้ส่งเอกสารที่ได้ส่งมอบสภากทม. แล้ว โดยเราขอเสนอ ดังนี้

1.กทม. เสนอต่อสภา กทม. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบในโครงการรับมอบงาน E&M
ส่วนต่อขยายที่ 2 โดยมีกรอบวงเงินรวม 23,488,692,165.65 บาท

2. หากได้รับความเห็นชอบจากสภา กทม. แล้ว กทม. จะเสนอ มท. และ ครม. เพื่อพิจารณาเห็นชอบให้ กทม. ชำระค่างาน E&M เนื่องจากปัจจุบันการดำเนินการตามคำสั่ง คสช. ยังไม่ได้ข้อยุติ

3. หาก ครม. ให้ความเห็นชอบแล้ว กทม. จะจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมโดยจ่ายขาดจากเงินสะสมและเสนอต่อสภา กทม.เพื่อพิจารณาต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image