บอร์ดสปสช.ไฟเขียวตรวจ ‘มะเร็งเต้านม’ กลุ่มเสี่ยงทุกสิทธิรักษาด้วยแมมโมแกรม/อัลตราซาวด์

บอร์ดสปสช.ไฟเขียวตรวจ ‘มะเร็งเต้านม’ กลุ่มเสี่ยงทุกสิทธิรักษาด้วยแมมโมแกรม/อัลตราซาวด์

เมื่อวันที่ 18 มกราคม ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) โดยที่ประชุมได้พิจารณาและเห็นชอบ “ข้อเสนอการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม ด้วยเครื่องแมมโมแกรมและอัลตราซาวด์” ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เสนอโดย รศ.ประสบศรี อึ้งถาวร ประธานคณะอนุกรรมการกำหนดประเภทและขอบเขตในการให้บริการสาธารณสุข และ นางวราภรณ์ สุวรรณเวลา รองเลขาธิการ สปสช.

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า นโยบาย “มะเร็งครบวงจร” ของรัฐบาล มุ่งดูแลผู้ป่วยมะเร็งให้เข้าถึงการรักษาพยาบาล รวมถึงบริการตรวจคัดกรองสำหรับประชาชนกลุ่มเสี่ยง ทั้งนี้ โรคมะเร็งเต้านมนับเป็นภัยร้ายทางสุขภาพของผู้หญิงทุกคน โดยสถานการณ์มะเร็งเต้านมในประเทศไทย แต่ละปีมีผู้หญิงที่ป่วยเป็นมะเร็งเต้านมรายใหม่อยู่ที่ 37.8 ต่อแสนประชากร ซึ่งปี 2563 อยู่ที่จำนวน 22,158 คน หรือร้อยละ 22.8 ของจำนวนผู้หญิงที่ป่วยเป็นมะเร็งทุกชนิด ขณะที่อัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมอยู่ที่ 12.7 ต่อแสนประชากร ปี 2563 อยู่ที่จำนวน 8,266 คน หรือร้อยละ 14.6 ของผู้หญิงที่เสียชีวิตจากมะเร็งทุกชนิด

Advertisement

ทั้งนี้ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า บอร์ด สปสช. ตระหนักต่อสถานการณ์นี้ จึงมีนโยบายที่เน้นการตรวจคัดกรอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงที่มีภาวะเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม

“และในวันนี้ บอร์ด สปสช.ได้เห็นชอบมาตรการเพิ่มเติม การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรมและอัลตราซาวด์ปีละ 1 ครั้ง ในสตรีอายุ 40 ปีขึ้นไปทุกสิทธิการรักษาพยาบาลที่มีประวัติญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านม และกำหนดเป้าหมายบริการตรวจคัดกรองในปี 2567 จำนวน 40,600 ราย ด้วยสิทธิประโยชน์นี้ จะเป็นการสนับสนุนนโยบายมะเร็งครบวงจรของรัฐบาล เพื่อดูแลผู้ป่วยมะเร็งและผู้ที่มีความเสี่ยงให้เข้าถึงบริการที่จำเป็น โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเป็นอุปสรรค” นพ.ชลน่าน กล่าว

ด้าน นพ.จเด็จ กล่าวว่า ข้อเสนอที่บอร์ด สปสช.เห็นชอบในวันนี้ พิจารณาข้อมูลจากผลการศึกษาการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ของการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรมและอัลตราซาวด์ฯ และข้อเสนอจาก Service plan สาขาโรคมะเร็ง กระทรวงสาธารณสุข โดยหากผู้ป่วยมะเร็งเต้านมได้รับการรักษาระยะเริ่มต้น จะช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตสูง (ระยะที่ 1 อัตราการรอดชีวิตร้อยละ 94.40 ระยะที่ 2 ร้อยละ 85 ระยะที่ 3 ร้อยละ 56.60 และระยะที่ 4 ร้อยละ 28.30) ผลการรักษาดี ภาวะแทรกซ้อนต่ำ และสามารถผ่าตัดแบบสงวนเต้านมได้

Advertisement

“ส่วนที่กำหนดให้สิทธิบริการผู้หญิงที่อายุ 40 ปีขึ้นไปนั้น เพราะจากข้อมูลพบว่า ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมจะอยู่ในกลุ่มอายุ 50-59 ปี มากที่สุด ซึ่งในทางการแพทย์การตรวจคัดกรองญาติสายตรงต้องลบอายุจากญาติที่เป็นมะเร็งเต้านมออก 10 ปี และควรตรวจทุก 1 ปี” นพ.จเด็จ กล่าวและว่า ขณะที่ในส่วนของงบประมาณนั้น บอร์ด สปสช. มอบให้ สปสช.เสนอของบกลาง สำหรับใช้ดำเนินการปีงบประมาณ 2567 จำนวน 87.36 ล้านบาท

เลขาธิการ สปสช.กล่าวว่า พร้อมกันนี้ ให้ประสานสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และ Service plan กระทรวงสาธารณสุข ในการดำเนินการ และให้มีกลไกวิชาการในการเก็บรวบรวมข้อมูลและกำกับติดตามประเมินผลอย่างรอบด้าน รวมทั้งการเข้าถึงบริการ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาขยายผลต่อไป

“การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรมและอัลตราซาวด์นี้ จะเป็นบริการที่เข้ามาเสริมเพิ่มเติมจากสิทธิประโยชน์ที่มีอยู่แล้วในระบบบัตรทอง ได้แก่ การให้คำแนะนำคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยการคลำเต้านมด้วยตนเองสำหรับหญิงวัยเจริญพันธุ์ อายุ 25-59 ปี และบริการตรวจคัดกรองยีนกลายพันธ์โรคมะเร็งเต้านม BRCA1 /BRCA2 สำหรับผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ที่เป็นผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มีความเสี่ยงสูงและญาติสายตรงที่มีประวัติครอบครัวตรวจพบยีนกลายพันธุ์ ซึ่งเป็นการกำหนดบริการตรวจคัดกรองที่เพิ่มเติมตามความเสี่ยงของประชาชนแต่ละกลุ่ม” นพ.จเด็จ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image