กรมอนามัย ชี้ โรงงานพลุสุพรรณฯ เคยระเบิดมาแล้ว แถมไม่เข้าข่ายเป็นโรงงานตามกม.

กรมอนามัย ชี้ โรงงานพลุสุพรรณฯ เคยระเบิดมาแล้ว แถมไม่เข้าข่ายเป็นโรงงานตามกม. ครั้งนี้ยังไม่พบสารปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม ย้ำ ติดตามใกล้ชิดอีก 3 เดือน กระตุ้นหน่วยงานเกี่ยวข้องใส่ใจเรื่องใบอนุญาตมากขึ้น

เมื่อวันที่ 18 มกราคม ที่กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย แถลงข่าวทีม SEhRT เฝ้าระวังความเสี่ยงสุขภาพและสิ่งแวดล้อม จากภาวะฉุกเฉินโรงงานผลิตพลุระเบิด จ.สุพรรณบุรี ว่า จากเหตุการณ์โรงงานผลิตพลุระเบิดใน จ.สุพรรณบุรี สร้างความเสียหายให้แก่โครงสร้างอาคารและทำให้คนงานเสียชีวิตจำนวนมาก จากข้อมูลของหน่วยงานในพื้นที่พบว่า โรงงานแห่งนี้ตั้งอยู่ห่างจากชุมชนมากกว่า 1 กิโลเมตร จึงไม่กระทบต่อชุมชน จากข้อมูลพบว่า “ไม่เข้าข่ายเป็นโรงงานตามกฎหมายว่าด้วยกฎหมายโรงงาน และมีใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข” โดยโรงงานแห่งนี้เคยเกิดเหตุระเบิดมาแล้ว ทั้งนี้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สธ. มอบหมายให้กรมอนามัยเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชน

นพ.อรรถพลกล่าวต่อว่า ทางด้าน พญ.อัจฉรา ปวะบุตร อธิบดีกรมอนามัย ได้มอบหมายให้ทีม SEhRT ของศูนย์อนามัยที่ 5 ราชบุรี ลงพื้นที่ปฏิบัติการร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วน เพื่อเฝ้าระวังความเสี่ยงต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม สำรวจและประเมินความเสี่ยงที่จะกระทบต่อสุขภาพร่างกายจากกรณีพลุระเบิด เนื่องจากสารโพแทสเซียมคลอเรตที่เป็นส่วนประกอบของพลุเป็นสารไวไฟ หากสัมผัสถูกร่างกายจะส่งผลต่อระบบประสาท เกิดอาการหายใจไม่ออก สูดหายใจถี่ ไอรุนแรง ระคายเคืองตา บางรายมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ไปจนถึงหมดสติ อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงพบว่าโรงงานแห่งนี้ตั้งอยู่กลางทุ่งนา ห่างไกลจากชุมชน จึงยังไม่พบรายงานความเสียหายของอาคารบ้านเรือนในชุมชนโดยรอบ และยังไม่พบการปนเปื้อนสารที่เป็นส่วนประกอบของการผลิตพลุในน้ำดื่ม น้ำใช้ในชุมชน

“หน่วยงานท้องถิ่นประกาศให้จุดเกิดเหตุเป็นพื้นที่ประสบภัย ดังนั้นทีม SEhRT จะเน้นเฝ้าระวังสารเคมีจากพลุระเบิดที่อาจปนเปื้อนในน้ำ และอาหารในชุมชนโดยรอบเพื่อป้องกันสุขภาพประชาชน และกำหนดให้มีการเฝ้าระวังความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม พร้อมติดตามการปนเปื้อนสารเคมีในน้ำและอาหารของชุมชนตลอด 3 เดือน” นพ.อรรถพลกล่าว

Advertisement

นพ.อรรถพลกล่าวต่อว่า ทีม SEhRT ศูนย์อนามัยที่ 5 ราชบุรี ได้ให้ข้อแนะนำแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นว่าด้วยกฎหมายการสาธารณสุข ให้มีการตรวจสอบการลักลอบประกอบกิจการโดยไม่ได้ใบรับอนุญาตอย่างเคร่งครัด และกรณีที่มีการขออนุญาตประกอบกิจการผลิตพลุ หรือสารเคมีที่มีอันตราย ขอให้มีการประเมินความเสี่ยง โดยการหลีกเลี่ยงการตั้งสถานประกอบการในชุมชน และมีการตรวจสอบสุขลักษณะด้านการประกอบกิจการให้เป็นไปตามมาตรฐาน มีกระบวนการผลิตที่ปลอดภัยและเป็นมาตรฐานในการควบคุมป้องกันภาวะฉุกเฉินที่เกิดจากโรงงาน เพื่อเป็นการเฝ้าระวังความเสี่ยงทางสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมของประชาชนที่อยู่อาศัยใกล้เคียง

“กรมอนามัย ขอแนะนำประชาชน ดังนี้ 1.หลีกเลี่ยงการเข้าพื้นที่เกิดเหตุ เพราะอาจมีการระเบิดซ้ำ และห้ามเข้าไปรื้อค้นหรือทำให้เกิดประกายไฟ และ 2.ประชาชนที่อยู่ใกล้โรงงานที่ได้รับผลกระทบต่อสุขภาพ ให้รีบปรึกษาเจ้าหน้าที่และพบแพทย์ จากเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นสัญญาณที่ทุกหน่วยงานต้องตระหนักและให้ความสำคัญกับการให้ใบอนุญาตประกอบกิจการเกี่ยวกับการเก็บสะสมพลุหรือดอกไม้ไฟ รวมทั้งสารเคมีอันตรายที่ก่อให้เกิดระเบิดได้ โดยขอให้พิจารณาให้เป็นพื้นที่ที่ห่างไกลชุมชน และหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบต้องควบคุมการประกอบกิจการให้ถูกต้อง โดยมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ทางจังหวัดควรมีการจัดการแผนความเสี่ยงของสถานประกอบกิจการที่เกี่ยวกับสารเคมีในจังหวัด เพื่อทราบสถานการณ์ความเสี่ยงในภาวะฉุกเฉินในพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้สามารถกำหนดมาตรการในการควบคุมกำกับได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นพ.อรรถพล กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image