‘ชลน่าน’ เรียกความเชื่อมั่นวัคซีนเด็ก ขอรอผลชันสูตร ‘น้องใต้หล้า’ ลั่น! มี กม.รองรับ

‘ชลน่าน’ เรียกความเชื่อมั่นวัคซีนเด็ก ขอรอผลชันสูตร ‘น้องใต้หล้า’ ลั่น! มี กม.รองรับ

เมื่อวันทึ่ 21 มกราคม นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็น “น้องใต้หล้า” หรือ ด.ช.ณฤทธร ทานิต เด็กชายวัย 1 ปี 6 เดือน ที่เสียชีวิตหลังรับวัคซีนพื้นฐานป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก และไอกรน ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ผาตอ อ.ท่าวังผา จ.น่าน โดยครอบครัวขอรอฟังผลการชันสูตรร่าง และการสอบสวนสาเหตุการเสียชีวิตของลูกชายก่อนนำไปประกอบพิธีทางศาสนา ว่า ตนขอแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างมาก และว่า ขณะนี้ทราบว่า ครอบครัวได้ส่งเรื่องชันสูตรร่างของน้องไปยังสถาบันนิติเวช โรงพยาบาล (รพ.) ตำรวจ ดังนั้น จะต้องรอผลการชันสูตรเพื่อนำมาประกอบการสอบสวนโรคโดยกรมควบคุมโรค

ผู้สื่อข่าวถามว่า รพ.สต.ผาตอ ได้รับการถ่ายโอนไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) แล้วใช่หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ได้รับการถ่ายโอนไปยัง อบจ.แล้ว

เมื่อถามต่อไปว่า เมื่อถ่ายโอนไปยัง อบจ. แล้วหาก ผลชันสูตรออกมาว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนจริง จะมีการรับผิดชอบโดยหน่วยงานใด นพ.ชลน่าน กล่าว่า เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งหากมีการสอบสวนโรคมาแล้วพบว่า เกิดจากการรักษาพยาบาลจริง ก็จะเป็นการดูแลภายใต้มาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ส่วนวิชาชีพก็จะว่ากันไปตามกฏหมายวิชาชีพ ทั้งนี้ จะต้องรอผลการชันสูตรจากทางนิติวิทยาศาสตร์และการสอบสวนโรคให้ชัดเจนก่อน

Advertisement

เมื่อถามว่า กรณีดังกล่าวจะกระทบต่อความเชื่อมั่นในเรื่องของการนำเด็กไปรับวัคซีนหรือไม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายของ สธ.”เด็กเกิดรอด แม่ปลอดภัย” นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เมื่อมีเรื่องนี้เกิดขึ้นแล้ว ก็ส่งผลกระทบกับความเชื่อมั่นบ้าง ซึ่ง สธ.จะต้องมีการปรับมาตรการเพื่อเรียกความเชื่อมั่นจากประชาชนกลับมา โดยขณะนี้คณะกรรมการสิทธิประโยชน์ ได้มีการพิจารณาวัคซีนพื้นฐานสำหรับเด็ก เช่น วัคซีนโปลิโอ ก็จะเปลี่ยนจากแบบหยดด้วยวัคซีนชนิดเชื้อเป็นอ่อนแรง มาเป็นแบบฉีดซึ่งเป็นวัคซีนเชื้อตาย

“ผลการใช้วัคซีนส่วนใหญ่มีความปลอดภัย อย่างกรณีน้องใต้หล้า เป็นการฉีดในรอบ 1 ขวบ 6 เดือน ซึ่งเป็นการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 แล้ว การเสียชีวิตจะเกิดจากวัคซีนหรือไม่ ก็ต้องรอผลชันสูตร ผลเลือด ผลการตรวจสอบสารเคมีต่างๆ ก่อน ซึ่งเราจะสร้างความมั่นใจในตัววัคซีน และการบริหารจัดการวัคซีน อย่างไรก็ตามทาง สธ.ยังคงแนะนำให้มีการฉีดวัคซีนพื้นฐานสำหรับเด็กให้ครบ เพราะหากเด็กไม่ได้รับวัคซีน แล้วมีการเจ็บป่วยก็จะเกิดความอันตรายถึงแก่ชีวิตได้สูงมากเช่นกัน” นพ.ชลน่าน กล่าว

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image