กรมควบคุมโรค-ภาคีแบนบุหรี่ไฟฟ้า แฉ ไทยเจอเด็กเข้าถึงมากขึ้น สวนทางมาตรการลดฮวบ

กรมควบคุมโรค-ภาคีแบนบุหรี่ไฟฟ้า แฉ ไทยเจอเด็กเข้าถึงมากขึ้น สวนทางมาตรการลดฮวบ ชี้ โฆษณาผ่านเน็ตพุ่งเท่าตัว

เมื่อวันที่ 23 มกราคม ที่โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวเปิดงานเสวนา “เจาะลึก เบื้องหลังบุหรี่ไฟฟ้าระบาดหนักในเด็กไทย” จัดโดยศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ร่วมกับศูนย์ความรู้สำหรับมาตรา 5.3 ของ WHO-FCTC และภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบ ว่า กลยุทธ์ของบุหรี่ไฟฟ้ามุ่งเป้าที่เด็กและเยาวชน โดยมีทั้งแบบการ์ตูน กล่องนม เพื่อฝังให้เด็กคิดว่า สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดา และซึมซับโดยไม่รู้ตัว และการตลาดต่อไปในอนาคตจะลงไปในเด็กมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้บุหรี่ไฟฟ้ามีนิโคตินมากกว่าบุหรี่มวน ซึ่งเป็นสารที่ทำลายสมองและพัฒนาการของเด็ก ทำให้เกิดปอดอักเสบเฉียบพลัน ดังนั้นต้องช่วยกันแก้ปัญหา ให้ความรู้ตรงเป้าหมาย

ด้าน นพ.ชยนันท์ สิทธิบุศย์ ผู้อำนวยการกองงานคณะกรรมการควบคุมการบริโภคยาสูบ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการสำรวจเยาวชนไทย อายุ 13-15 ปี จำนวน 6,700 คน พบ 4 ประเด็นสำคัญ คือ 1.การสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากร้อยละ 3.3 ในปี 2558 มาเป็นร้อยละ 17.6 ในปี 2565 หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 5.3 เท่า 2.อุตสาหกรรมยาสูบมีกลยุทธ์มุ่งเป้าที่เด็ก มีการโฆษณาทางอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น 1 เท่าตัว คือ จากร้อยละ 27 เป็นร้อยละ 48 ต่อมา 3.ความรู้หรือทัศนคติเด็กและเยาวชนเกี่ยวกับภัยบุหรี่ลดลง การตัดสินใจเลิกยาสูบลดลงจากร้อยละ 72.2 เหลือร้อยละ 59 โดยเด็กอาจจะเข้าใจว่าบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยกว่าบุหรี่มวล และ 4.เด็กรับรู้เกี่ยวกับพิษภัยบุหรี่ลดลงทุกช่องทางสื่อ จากร้อยละ 74.9 เหลือร้อยละ 61.3 กิจกรรมรณรงค์ลดลงจากร้อยละ 72.2 เหลือร้อยละ 62.4 ภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ลดลงจากร้อยละ 38.4 เหลือร้อยละ 28.6 การให้ความรู้ถึงพิษภัยบุหรี่ในโรงเรียนลดลง จากร้อยละ 76.2 เหลือร้อยละ 65.8นพ.ชยนันท์ กล่าวว่า ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคได้นำเรื่องนี้เข้าไปในคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ เพื่อกำหนดมาตรการเร่งด่วน 3 มาตรการ คือ 1.กำกับมาตรการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าทั้งรณณงค์สร้างความตระหนัก การบังคับใช้การเฝ้าระวัง ทุกจังหวัดต้องเร่งดำเนินการ 2.ยกระดับเรื่องการเฝ้าระวังและบังคับใช้กฎหมาย ดำเนินคดีคนขาย และ 3.การปรับกระบวนการสื่อสาร เพิ่มช่องทางโซเชียลมีเดียเพื่อเข้าถึงเด็กและเยาวชน เพราะปัจจุบันพบว่า เด็กมีการซื้อบุหรี่ไฟฟ้าทางออนไลน์เกือบร้อยละ 80 ดังนั้น ทุกหน่วยงานต้องร่วมกันทำงาน บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น ไม่เช่นนั้นบุหรี่ไฟฟ้าจะแทรกซึมแพร่หลายมากขึ้น เกิด New Generation Addiction หรือยุคสมัยของการเสพติดบุหรี่เพิ่มขึ้น และขณะนี้ได้หารือร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ทำ Drop Box ริบบุหรี่ไฟฟ้าในพื้นที่โรงเรียน   น.ส.บังอร ฤทธิภักดี เลขาธิการมูลนิธิเพื่อสังคมอาเซียนปลอดบุหรี่ กล่าวว่า การระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชนเป็นปัญหาหนักของทั่วโลกและอาเซียน เพราะการออกแบบรูปลักษณ์ใหม่ๆ ที่สวยงาม ทำให้เข้าถึงง่าย ไม่มีการบังคับใช้กฎหมายเข้มแข็ง สำหรับประเทศที่ห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า พบโปรโมทบุหรี่ไฟฟ้าในติ๊กต๊อก (TIKTOK) ว่าสูบแล้วเท่ ดีกว่าร้อยละ 97 มียอดวิวและยอดไลก์ร้อยละ 98 อินโดนีเซีย บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมายทำให้ควบคุมไม่ได้ ส่วนฟิลิปปินส์มีร้านขายบุหรี่ไฟฟ้าออนไลน์กว่า 16,376 ร้าน ทั้งนี้ในสิงคโปร์มีกฎหมายห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า ฝ่าฝืนมีค่าปรับสูง ควบคู่การรณรงค์เข้มแข็งเข้าถึงทุกกลุ่ม และทั่วโลกมี 45 ประเทศที่ห้ามเด็ดขาด แต่จากบทเรียนประเทศอาเซียน ภาคธุรกิจรุกหนักมากที่จะให้มีการเปิดตลาดบุหรี่ไฟฟ้าให้ได้ อ้างว่ารัฐบาลจะได้เก็บภาษี

“ข้อเสนอแนะ คือประเทศที่ห้ามขายอยู่แล้วควรยืนยันมาตรการนี้ต่อไป ห้ามการปรุงแต่งรสชาติในบุหรี่ทุกรูปแบบ เพิ่มอายุที่สามารถให้ซื้อบุหรี่ได้ เป็นอย่างน้อย 21 ปี รัฐต้องทำให้เป็นวาระแห่งชาติ ต้องมีมาตรการและเข้มงวดไม่ให้มีการโปรโมทการสูบบุหรี่ทุกชนิดทางโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่ต้องสกัดการขายออนไลน์” น.ส.บังอรกล่าวขณะที่ นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส.ยังคงจุดเดิมคือ ไม่สนับสนุนสิ่งที่ทำลายสุขภาพ โดยเฉพาะเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าถือเป็นภัยคุกคามใหม่ในเด็กและเยาวชน สสส. สนับสนุนให้รัฐบาลคงกฎหมายห้ามบุหรี่ไฟฟ้า เพราะเป็นมาตรการที่ดีที่สุดในการป้องกันการเข้าถึงของเด็ก และจะสานต่อความร่วมมือกับทุกภาคส่วนต่างๆ ในการสื่อสารรณรงค์และเผยแพร่ข้อมูล ข้อเท็จจริง อันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่ ทำให้สังคมรู้เท่าทันกลยุทธ์อุตสาหกรรมยาสูบ และการเพิ่มภูมิคุ้มกันในการป้องกันการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในเยาวชน

Advertisement

ด้าน รศ.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในหัวข้อเบื้องลึก เบื้องหลัง ความเคลื่อนไหวให้เปิดตลาดบุหรี่ไฟฟ้าในไทย ว่า บริษัทบุหรี่กำลังวิ่งเต้นอย่างหนัก เพื่อให้ประเทศไทยเปิดตลาดบุหรี่ไฟฟ้าให้ได้ โดยเครือข่ายสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยมักจะยกอังกฤษมาเป็นข้ออ้างให้รัฐบาลไทยเอาอย่าง แต่ล่าสุดมีการเปิดเผยโดยนักข่าวสายสืบสวนของ Time of London ว่า นโยบายบุหรี่ไฟฟ้าของอังกฤษอาจจะเกิดจากการแทรกแซงโดยบริษัทบุหรี่ โดยพบความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มแพทย์และนักวิชาการอังกฤษที่สนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้ากับบริษัทบุหรี่ เช่น ให้ทุนงานวิจัยเพื่อสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าและเบี่ยงเบนผลกระทบต่อเด็ก ล็อบบี้นักการเมืองในรัฐสภาอังกฤษ สนับสนุนเครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าให้อ้างเรื่องสิทธิการสูบ และโจมตีข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก

“สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย ซ้ำรอยกับที่อังกฤษโดยเฉพาะ พบว่ามีการวิ่งเต้นนักการเมือง ส่งคนที่มีความสัมพันธ์กับบริษัทบุหรี่ข้ามชาติเข้าไปนั่งเป็นกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าในสภาผู้แทนราษฎร โดยคนกลุ่มนี้อ้างตัวเป็นกลุ่มผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า เรียกร้องสิทธิการสูบ และมักอ้างข้อมูลที่บิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้า ดังนั้นรัฐบาลจึงไม่ควรให้คุณค่ากับคนกลุ่มนี้เพราะทำเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจโดยไม่คำนึงผลกระทบที่จะเกิดกับสังคม” รศ.พญ.เริงฤดี กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image