‘พิพัฒน์’ ลั่น!อัพสกิลแรงงานหนุนลงทุนจาก ตปท.-ป้อนธุรกิจท่องเที่ยว

‘พิพัฒน์’ ลั่น!อัพสกิลแรงงานหนุนลงทุนจาก ตปท.-ป้อนธุรกิจท่องเที่ยว

วันนี้ (30 มกราคม) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 29 มกราคมที่ผ่านมา นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยระหว่างเข้าร่วมเวทีเสวนา “แผนยุทธศาสตร์อัปเกรดประเทศไทย” ในงาน TNN Dinner Talk ณ โรงแรมวอดอร์ฟ แอสโทเรีย กรุงเทพมหานคร ว่า กระทรวงแรงงานมีความมุ่งมั่นยกระดับแรงงานไทยให้เป็นกำลังแรงงาน ที่มีศักยภาพสูง ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ มีเป้าหมายเร่งแก้ไขปัญหาด้านแรงงานในทุกมิติ โดยเฉพาะมิติด้านรายได้ด้วยการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้มีทักษะสูง มีรายได้ที่เพียงพอกับสภาพเศรษฐกิจ สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล

“ซึ่งกระทรวงแรงงานภายใต้การดำเนินงานของผมนั้น มีผลงานสำคัญในระยะเร่งด่วน Quick win 100 วัน ที่ดำเนินการแล้ว ได้แก่ จัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานและกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ เพื่อให้แรงงานที่มีทักษะฝีมือและผ่านการทดสอบฝีมือแรงงานในแต่ละสาขาอาชีพได้รับค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือที่กำหนดไว้ โดยปัจจุบันมีการจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานแล้วทั้งสิ้น 275 สาขา รองรับการลงทุนจากต่างประเทศในภาคอุตสาหกรรม เช่น ช่างฝีมือเกี่ยวกับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า และอาชีพในภาคการท่องเที่ยวและบริการ ได้มีค่าจ้างตามฝีมืออาชีพ เริ่มต้น 600 บาทต่อวัน ใน 53 ฝีมืออาชีพ ซึ่งในการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานภาคการท่องเที่ยว รองรับนโยบายจากรัฐบาลตั้งเป้าหมายรายได้จากนักท่องเที่ยว 3.5 ล้านล้านบาท ปี 2568 เตรียมพัฒนาฝีมือแรงงาน 400,000 คน เพื่อรองรับการขยายตัว ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั้งเมืองหลักและเมืองรองทั่วประเทศ” นายพิพัฒน์กล่าว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังเพิ่มสิทธิผู้ประกันตน SSO 515 “รักษา 5 โรคร้ายแรงและได้รับการผ่าตัดทำหัตถการภายใน 15 วัน” , เพิ่มสิทธิผู้ประกันตนที่ป่วยด้วยโรคหยุดหายใจขณะหลับและมีความจำเป็นต้องใช้เครื่องอัดอากาศขณะหายใจเข้าสามารถเบิกค่าตรวจการนอนหลับ (Sleep test) ได้ตามจริง และอุปกรณ์เสริมสำหรับการรักษาได้ รวมถึงให้บริการทันตกรรมเชิงรุกเพื่อให้ผู้ประกันตนเข้าถึงสิทธิประโยชน์มากขึ้น ด้วยการนำรถทันตกรรมเคลื่อนที่ (SSO Mobile e-Dent) ให้บริการที่สถานประกอบการ ทั้งถอนฟัน ขูดหินปูน ผ่าฟันคุด อุดฟัน ให้ได้รับความสะดวกสบายในการรักษาพยาบาลมากขึ้น, เพิ่มสิทธิวันลาคลอด จาก 90 วัน เป็น 98 วัน หรือ 14 สัปดาห์ โดยลูกจ้างที่ลาคลอดจะได้รับค่าจ้างจากในอัตราร้อยละ 100 ของค่าจ้าง จากนายจ้างและสำนักงานประกันสังคม (สปส.) คนละครึ่ง รวมลูกจ้างชายลาเพื่อไปช่วยเหลือภรรยาที่คลอดบุตรโดยให้นายจ้างใช้ดุลพินิจพิจารณากำหนดจำนวนวันลาของลูกจ้างเพื่อไปช่วยเหลือภรรยานับแต่วันที่ภรรยาคลอดบุตร ตามความเหมาะสมด้วย

Advertisement

นายพิพัฒน์กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงแรงงานยังได้บูรณาการความร่วมมือระหว่าง 4 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในการผลิตทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ และสร้างจิตสำนึกความเป็นไทย เตรียมทำ BIG DATA ในการเชื่อมโยงข้อมูล อย่างมีประสิทธิภาพโดยมุ่งเน้นส่งเสริมศักยภาพแรงงาน สร้างโอกาสในการทำงาน ส่งเสริมให้ผู้เรียน ได้รับการแนะแนวอาชีพ มีประสบการณ์ ในการฝึกงานเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน สามารถสร้างรายได้ตั้งแต่อยู่ในวัยเรียน และได้มีการพัฒนาระบบธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank) ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เรียนและประชาชนทั่วไปได้เรียนและทำงานควบคู่กันไป โดยนำผลการเรียนรู้ที่ได้จากประสบการณ์ในการทำงาน หรือการฝึกอบรม มาเทียบโอนและทดสอบเพื่อออกใบรับรองความรู้ความสามารถด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image