“หมอรุ่งเรือง” อธิบดี วศ. ทำบุญวันสถาปนากรม 133 ปี จ่อยกระดับความปลอดภัยสินค้า

“หมอรุ่งเรือง” อธิบดี วศ. ทำบุญวันสถาปนากรม 133 ปี พร้อมมอบใบรับรองระบบงานแก่ 15 แล็บ จ่อยกระดับความปลอดภัยของสินค้า

เมื่อวันที่ 31 มกราคม ที่ กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ เป็นประธานในพิธีทำบุญครบรอบวันคล้ายวันสถาปนากรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการ อว. ปีที่ 133 โดยมีคณะผู้บริหาร ข้าราชการและบุคลากรของกรมฯ เข้าร่วมในพิธี เมื่อวันที่ 30 ม.ค. ที่ผ่านมา

นพ.รุ่งเรืองกล่าวว่า วศ. เป็นหน่วยงานที่เติบโตมาจากสถานปฏิบัติการวิเคราะห์แร่ กระทรวงเกษตราธิการ เมื่อปี พ.ศ.2434 ทำหน้าที่วิเคราะห์แร่ที่ใช้ในการทำเหรียญกษาปณ์ ก่อนจะปรับเป็น “ศาลาแยกธาตุ” เปลี่ยนผ่านหน่วยงานต้นสังกัดหลายครั้งจนยกฐานะเป็น “กรมวิทยาศาสตร์” สังกัดกระทรวงเศรษฐการ และเป็นหน่วยงานตั้งต้นให้กับหลายๆ หน่วยงาน โดยวันที่ 30 มกราคม 2476 ให้ใช้พระราชกฤษฎีการจัดวางระเบียบราชการสำนักงานและกรมในกระทรวงและได้เปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น “กรมวิทยาศาสตร์บริการ” ในปี พ.ศ.2522 ปัจจุบันสังกัดกระทรวง อว.

“ผมรู้สึกภูมิใจที่ได้มีโอกาสเข้ามาบริหารงานในกรมวิทยาศาสตร์บริการซึ่งเป็นองค์กรที่เชี่ยวชาญทางวิทยาศาสตร์ที่มีประวัติการพัฒนาการอย่างยาวนานถึง 133 ปี และนับต่อไปจากนี้เราจะยังคงมุ่งมั่นขับเคลื่อนภารกิจงานบริการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์การพัฒนาโดยยึดประโยชน์แก่ประชาชนและประเทศชาติเป็นสำคัญ เราพร้อมสนับสนุนภาคการผลิตและบริการให้สามารถยกระดับมาตรฐานสินค้าผลิตภัณฑ์ทัดเทียบนานาประเทศมากยิ่งขึ้น เพื่อเร่งพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและคุณภาพชีวิตของประชาชน อย่างมั่นคงยั่งยืน ตลอดไป” นพ.รุ่งเรืองกล่าวในวันเดียวกัน นพ.รุ่งเรือง เป็นประธานในพิธีมอบใบรับรองระบบงานห้องปฏิบัติการให้แก่หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ประกอบด้วยห้องปฏิบัติการทดสอบและผู้จัดโปรแกรมการทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการทดสอบ รวม 15 หน่วยงาน โดยกล่าวว่า จากนโยบายรัฐบาล ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และนโยบายยุทธศาสตร์กระทรวง อว. ให้ความสำคัญกับการสร้างมูลค่าเพิ่มทั้งด้านคุณภาพและความปลอดภัยให้กับสินค้าและบริการต่างๆ ของประเทศ ด้วยเหตุนี้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ (National Quality Infrastructure: NQI) จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนากิจกรรมเชิงเศรษฐกิจของชาติ ซึ่งการดำเนินงานจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของหน่วยงานระดับประเทศหลายองค์กร เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และต้องอาศัยการวิเคราะห์ทดสอบ การกำหนดมาตรฐาน และการพัฒนามาตรฐานในด้านต่างๆ ฉะนั้น หน่วยรับรองระบบงานจึงถือเป็นหนึ่งหน่วยงานสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านมาตรฐาน เพื่อให้สอดรับกับสภาพการณ์ข้างต้น“ประเทศไทยยังมีความต้องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพตามการปรับเปลี่ยนของความก้าวหน้าของเทคโนโลยี พฤติกรรมของผู้บริโภค กฎระเบียบ สภาพแวดล้อม กลไกและรูปแบบของธุรกิจ เพื่อเน้นการสร้างคุณค่าให้แก่สินค้าและบริการเชิงคุณภาพโดยมีเป้าหมายการปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคตที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานสินค้า เพื่อให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันได้ทั้งในตลาดอาเซียนและตลาดโลก การได้รับการรับรองระบบงานห้องปฏิบัติการตามมาตรฐานสากล ถือเป็นเครื่องชี้วัดคุณภาพและความสามารถของหน่วยงานด้านห้องปฏิบัติการให้เป็นที่รู้จัก และเป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้ผู้บริโภคและประชาชนมั่นใจในคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าที่ผลิตโดยหน่วยงานที่ได้รับการรับรองระบบงานห้องปฏิบัติการ” นพ.รุ่งเรืองกล่าวด้าน นางจันทรัตน์ วรสรรพวิทย์ ผู้อำนวยการกองบริหารและรับรองห้องปฏิบัติการ วศ. ได้กล่าวรายงานหน่วยงานที่เข้ารับใบรับรองระบบงานฯ ในครั้งนี้ ได้แก่ 1.ห้องปฏิบัติการทดสอบ บริษัท โซตัส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด 2.ห้องปฏิบัติการ บริษัท น้ำตาลและอ้อยตะวันออก จำกัด (มหาชน) วังสมบูรณ์ 3.ห้องปฏิบัติการ บริษัท แสงทอง อาหารสัตว์ จำกัด 4.ห้องปฏิบัติการทดสอบ บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) สาขาทุ่งสง 5.ห้องปฏิบัติการทดสอบเอทานอล บริษัท อุบล ไบโอ เอทานอล จำกัด (มหาชน) 6.ศูนย์วิทยาการวินิจฉัยโรคสัตว์ บริษัท ไทยฟู้ดส์ รีเสิร์ช เซ็นเตอร์ จำกัด สาขาปราจีนบุรี 7.หน่วยตรวจวิเคราะห์ทางสิ่งแวดล้อม ศูนย์วิทยาศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงลกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ 8.ห้องปฏิบัติการ บริษัท มิตรสมบูรณ์ จำกัด 9.ห้องปฏิบัติการ บริษัท ไทยน้ำทิพย์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (สาขาปทุมธานี) 10.ห้องปฏิบัติการทดสอบ บริษัท แอ็กโฟรีแพ็กซ์ อินดัสตรีส์ จำกัด11.สถานพัฒนามาตรฐานและเฝ้าระวังการปนเปื้อนสารตกค้างทางการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร 12.Agricultural Products Analytical Laboratory (APAL) 13.OMIC Inspection & Surveying Co., Ltd. (Myanmar) 14.ผู้จัดโปรแกรมการทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการทดสอบ คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ 15.ผู้จัดโปรแกรมการทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการทดสอบ สถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

Advertisement

“กรมวิทยาศาสตร์บริการพร้อมผลักดันและส่งเสริมให้หน่วยตรวจสอบและรับรองทั้งภาครัฐและเอกชนได้รับการรับรองระบบงานห้องปฏิบัติการมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยกระดับคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าเพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี” นางจันทรัตน์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image