สมศักดิ์ เปิดประชุมกก.สุขภาพจิต เล็งตั้ง “กองทุน” ดึงเงินบาปจากการค้ายาเสพติด ป.ป.ส. มาใช้

สมศักดิ์ เปิดประชุมกก.สุขภาพจิต เล็งตั้ง “กองทุน” ดึงเงินบาปจากการค้ายาเสพติด ป.ป.ส. มาใช้บำบัดผู้ป่วย เผย งบรายหัวของไทยอยู่ที่ 50 บาท ขณะที่ค่าเฉลี่ยสากลสูงถึง 250 บาท

เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2567 โดยมี นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.สาธารณสุข เข้าร่วมประชุม

นายสมศักดิ์กล่าวว่า รัฐบาลและคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติให้ความสำคัญในประเด็นการดูแลสุขภาพจิตประชาชนทุกกลุ่มวัย โดยนโยบายสำคัญ ได้แก่ 1.ปัญหาความรุนแรงในวัยรุ่นและผู้ที่ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้  ตั้งแต่ในเรื่องการส่งเสริมเจตคติที่ดี การเคารพสิทธิ ส่งเสริมสถาบันครอบครัว เนื่องจากเป็นส่วนสำคัญการดูแลขั้นพื้นฐานทุกภาคส่วน เพิ่มมาตรการป้องกัน ลดสถานที่เสี่ยง บังคับใช้กฎหมาย เน้นการช่วยเหลือมากกว่าลงโทษ และมีมาตรการดูแลช่วยเหลือผู้มีความประพฤติรุนแรง 2.การจัดการผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง (SMI-V) ปัญหาผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อน ค้นหา เฝ้าระวังเชิงรุก นำเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา เพิ่มช่องทางเข้าถึงบริการ มาตรการดูแลต่อเนื่อง และส่งกลับชุมชน

นายสมศักดิ์กล่าวต่อว่า 3.ปัญหาการข่มขืน กระทำชำเรา การค้นหา เฝ้าระวังเชิงรุก นำเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา  เพิ่มช่องทางเข้าถึงบริการ มาตรการดูแลอย่างต่อเนื่อง และส่งกลับชุมชน และ 4.ปัญหาผู้ติดยาเสพติดและจิตเวช นอกจากจะป้องกันปราบปรามตามมาตรการกฎหมาย บูรณาการในการบำบัด รักษา ฟื้นฟู ติดตามหลังจากกลับสู่ชุมชน ลดการเสพซ้ำ เพื่อป้องกันการก่อความรุนแรงด้าน นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า สถานการณ์ปัญหาความรุนแรงในสังคมที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ได้แก่ ผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดเสี่ยงก่อความรุนแรงปัญหาสุขภาพจิตเด็กและเยาวชน ปัญหาการฆ่าตัวตาย ต้องอาศัยการดำเนินงานแบบบูรณาการจากหลากหลายหน่วยงาน อย่างไรก็ตามยังมีข้อจำกัดที่ต้องอาศัยกลไกด้านกฎหมาย จึงควรมีการทบทวนพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สุขภาพจิต พ.ศ.2551 และอนุบัญญัติฯ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ด้านงบประมาณ จะมีการเพิ่มหมวดการจัดตั้งกองทุนสุขภาพจิตและจิตเวช ด้านบุคลากรเสนอให้เพิ่มเติมพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.สุขภาพจิตฯ และทบทวนบทบัญญัติ ที่สามารถออกอนุบัญญัติฯ ในการดำเนินงานการสร้างเสริมสุขภาพจิต เช่น การที่พ่อแม่ต้องศึกษาการเลี้ยงดูลูก การป้องกันและควบคุมปัจจัยที่คุกคามสุขภาพจิต ไปจนถึงการดูแลเฝ้าระวังป้องกันในโรงเรียน และการควบคุมกำกับสื่อที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพจิต เช่น สื่อเผยแพร่ความรุนแรงต่างๆ โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายสุขภาพจิตนำไปพิจารณาเพื่อดำเนินการให้เหมาะสมต่อไปเมื่อถามถึงรายละเอียดการจัดตั้งกองทุนด้านสุขภาพจิต นายสมศักดิ์กล่าวว่า วันนี้ได้พูดคุยกันแล้วว่าทางกรมสุขภาพจิตจะเร่งดำเนินการ คาดว่าใช้เวลาไม่มากในการดำเนินการ แต่ขณะนี้ยังไม่มีรายละเอียดในการดำเนินการรวมถึงเรื่องของงบประมาณ แต่แน่นอนว่าหากไม่มีงบ การดำเนินงานต่างๆ ก็ทำได้ยาก เพราะปัญหาสุขภาพจิตเป็นเรื่องใหญ่มาก โดยเฉพาะกับเด็กและเยาวชนที่มีปัญหาความรุนแรง ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องของจิตเวชด้วย

Advertisement

ด้าน นพ.พงศ์เกษมกล่าวว่า สำหรับกองทุนสุขภาพจิตดังกล่าวนั้น ท่านรองนายกฯ ในฐานะที่ท่านเคยเป็น รมว.กระทรวงยุติธรรม ก็จะทราบว่ามีเงินจากการยึดทรัพย์ในคดีเกี่ยวกับยาเสพติดในสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) จึงมีการพูดคุยกันว่าที่มาของเงินกองทุนอาจจะมาจากส่วนนี้ ซึ่งอาจจะคิดเป็นร้อยละ 50 ของมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการค้ายาเสพติด เพราะยาเสพติดเป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ที่ก่อให้เกิดปัญหาทางสุขภาพจิต แต่เรื่องนี้ต้องไปดูกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ ป.ป.ส. ด้วย

ขณะที่ พญ.ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการกองบริหารระบบบริการสุขภาพจิต กล่าวว่า ปัจจุบันกรมสุขภาพจิตได้รับงบประมาณคิดเฉลี่ยตามจำนวนประชากรอยู่ที่คนละ 50 บาท ซึ่งค่าเฉลี่ยสากลทั่วโลกอยู่ที่ 250 บาท หรือถ้าเทียบกับประเทศที่ใกล้เคียงกับไทยก็อยู่ที่ประมาณ 150 บาท ดังนั้น ประเทศไทยได้รับงบน้อยกว่ากันถึง 5 เท่า ซึ่งเป็นงบที่ใช้ดูแลงานด้านสุขภาพจิตทั้งหมด ทั้งนี้ การดูแลผู้ป่วยสุขภาพจิต จำเป็นต้องใช้เวลาดูแลในระยะยาว จึงจำเป็นต้องใช้งบประมาณในการดูแลมาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image