ผู้ประกันตน มึน สิทธิทันตกรรม 900 บาท ใช้ใน รพ.รัฐไม่อั้น ทำได้จริงหรือไม่

ผู้ประกันตน มึน สิทธิทันตกรรม 900 บาท ใช้ใน รพ.รัฐไม่อั้น ทำได้จริงหรือไม่ จี้ สปส.แจงให้ชัดนิยามการรักษาโรค

เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ นสพ.บูรณ์ อารยพล หรือหมอบูรณ์ นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิผู้ประกันตนในนาม “กลุ่มขอคืนไม่ได้ขอทาน” ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นที่ นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยว่า สิทธิเบิกค่ารักษาทันตกรรมที่จำเป็นของผู้ประกันตน หากใช้บริการในโรงพยาบาล (รพ.) ของรัฐสามารถใช้ได้มากกว่า 900 บาท หรือเรียกว่าอันลิมิต ซึ่งทำให้ผู้ประกันตนเกิดคำถามถึงประเด็นดังกล่าวว่า ตนไม่เคยทราบถึงเรื่องนี้มาก่อนว่าหากใช้สิทธิประกันสังคมเพื่อทำฟันใน รพ.ของรัฐ สามารถเบิกจ่ายได้ไม่จำกัด และเชื่อว่าผู้ประกันตนหลายคนไม่อยากไปรอคิวทำฟันใน รพ.ของรัฐ ทำให้เลือกไปใช้บริการในคลินิกเอกชน ทั้งนี้ หากเป็นจริงว่าสามารถใช้ได้มากกว่า 900 บาทใน รพ.ของรัฐ ก็ต้องถามว่า ใช้อย่างไร ต้องใช้ใน รพ.ตามสิทธิประกันสังคมที่เลือกไว้หรือไม่ เพราะถ้าต้องใช้ใน รพ.ตามสิทธิ ก็จะมีผู้ประกันตนบางส่วนที่มีสิทธิอยู่ใน รพ.เอกชน คนกลุ่มนี้จะทำอย่างไร

“ไม่เคยได้ยินเรื่องนี้มาก่อนเลยว่าสามารถทำฟันได้มากกว่า 900 บาท โดยให้ไปใช้สิทธิใน รพ.ของรัฐ เข้าใจว่าตอนนี้มีการออกมาเคลื่อนไหวเชิงเปรียบเทียบระหว่างสิทธิประกันสังคมและสิทธิของบัตรทองของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งใครๆ ก็รู้ว่าสิทธิบัตรทองทำฟันเท่าไหร่ก็ได้ ไม่ว่าจะขูด อุด ถอน ฉะนั้น ต้องถามว่าจริงหรือไม่ ถ้าหากท่านพูดจริง แล้วผู้ประกันตนทั่วไปรู้สิทธิตรงนี้หรือไม่ วันที่ 8 ก.พ.นี้ ผมต้องไปพบแพทย์ใน รพ. ตามสิทธิประกันสังคม ซึ่งเป็น รพ.ของรัฐ ก็จะไปลองถามดูว่า การทำฟันใน รพ.ของรัฐ สามารถทำได้มากกว่า 900 บาทหรือไม่ เป็นไปตามที่ท่านเลขา สปส.บอกหรือไม่” นสพ.บูรณ์กล่าว

นสพ.บูรณ์กล่าวต่อว่า หากเป็นกรณีการตีความเรื่อง “การรักษา” ด้านทันตกรรม ก็ต้องไปดูอีกว่า ประกันสังคมมีสิทธิตรงนี้จริงหรือไม่ เพราะการทำฟันถูกนิยามคล้ายกับการทำศัลยกรรมตกแต่ง ฉะนั้น การรักษาด้านทันตกรรมก็ต้องไปดูว่าเข้าข่ายใช้เพื่อรักษาหรือไม่ แล้วถ้าเป็นเช่นนั้นจริง การรักษาจะครอบคลุมได้มากแค่ไหน เช่น การทำรากฟันเทียม การผ่าตัด การเอกซเรย์ช่องปาก เป็นต้น ทั้งนี้ตนไม่ทราบถึงการตีความของท่านเลขา สปส. ที่อาจหมายถึงการไปทำฟันใน รพ.ของรัฐที่มีค่าใช้จ่ายถูกกว่าคลินิกเอกชน ทำให้ 900 บาทนั้นสามารถทำได้หลายอย่างหรือไม่

Advertisement

“กรณีเช่น เราเกิดอุบัติแล้วฟันแตก จะสามารถตีความว่าเป็นการรักษาพยาบาลได้หรือไม่ หรือกรณีฟันผุจะถือว่าเป็นโรคอย่างหนึ่งหรือไม่ ถ้านิยามว่าเป็นโรค ตามหลักของสิทธิประกันสังคม ที่บำบัดให้เราหายจากโรคนั้นควรจะต้องได้รับสิทธิ แต่ตอนนี้ทำให้เราไม่แน่ใจว่า แบบไหนที่ถือเป็นการรักษา เช่น เราฟันผุ เหงือกเป็นหนอง ไปผ่าตัดรากฟัน เหงือกบวม เมื่อเราไปรักษาแล้วมีการตีความว่าเป็นการทำทันตกรรม ก็จะอยู่ในสิทธิ 900 บาท คงไม่ได้ถือเป็นการรักษา ดังนั้น ประกันสังคมฯจะต้องมีความชัดเจนเรื่องนี้” นสพ.บูรณ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image