ชัชชาติ ลั่น ‘ตกลงคนละครึ่ง’ ปรากฏรบ.ไม่จ่าย ขอ ส.ก.เพิ่มงบ ‘สะพานเกียกกาย ช่วง 3’

ชัชชาติ ลั่น ‘ตกลงคนละครึ่ง’ ปรากฏไม่จ่าย ขอสภากทม.เพิ่มงบ ‘สะพานเกียกกาย ช่วง 3’

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 7 กุมภาพันธ์ ที่ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยผู้บริหาร กทม. และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ทั้ง 50 เขต เข้าร่วมการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยแรก (ครั้งที่ 6) ประจำปีพุทธศักราช 2567

สำหรับการประชุมครั้งนี้มีระเบียบวาระที่สำคัญคือ นายชัชชาติ ผู้ว่าฯกทม. รายงานผลการดำเนินการตามข้อสังเกตของคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 นอกจากนี้ นายชัชชาติยังยื่นญัตติเสนอขอความเห็นชอบเพิ่มวงเงินผูกพันงบประมาณกรุงเทพมหานครโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณแยกเกียกกาย ช่วงที่ 3 ก่อสร้างทางยกระดับและถนนฝั่งพระนคร จากแม่น้ำเจ้าพระยาถึงแยกสะพานแดง อีกด้วย

นายชัชชาติกล่าวว่า ก่อนเข้าถึงหลักการและเหตุผล ขอชี้แจงให้เข้าใจในโครงการนี้ มีมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2562 สะพานเกียกกาย จริงๆ แล้วก็เป็นสะพานข้ามน้ำเจ้าพระยาอันล่าสุด และเป็นเรื่องสำคัญ

Advertisement

“จริงๆ แล้วรถติดในกรุงเทพฯ ส่วนหนึ่งก็มาจากการที่เรามีสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไม่เพียงพอ หลายโครงการก็ทำไม่ได้ เพราะจะมีปัญหาเรื่องการต่อต้านของมวลชน ความจริงแล้วสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เกียกาย ก็จะเป็นส่วนช่วยบรรเทาเรื่องการจราจรและลดภาระของสะพานต่างๆ ที่อยู่ในกรุงเทพฯ” นายชัชชาติกล่าว

นายชัชชาติกล่าวต่อว่า โครงการจริงๆ แล้วมีอยู่ 3 ส่วน ช่วงที่ 1 คือฝั่งธนบุรี ช่วงที่ 2 สะพานที่อยู่กลางน้ำ และช่วงที่ 3 อยู่ฝั่งพระนคร ข้างรัฐสภา โดยทั้ง 3 ส่วนก็มีมูลค่าโครงการแตกต่างกันไป ช่วงที่ 1 มูลค่า 770 ล้าน ช่วงที่ 2 กทม.กับรัฐบาลคนละครึ่ง หรือ 462 ล้าน ช่วงที่ 3 คือทางขึ้นฝั่งพระนคร เดิมกำหนดไว้คนละครึ่งระหว่างเรากับรัฐบาล 490 ล้าน

Advertisement

“เพราะฉะนั้น จริงๆ แล้วที่ผ่านมาปี 2562 รัฐบาลเป็นผู้จ่ายงบประมาณเวนคืนทั้งหมด และปี 2562 เราก็เริ่มส่วนที่ 2 ก่อนเพราะใช้เวลาก่อสร้างนาน เป็นสแปร์ที่อยู่กลางสะพาน รัฐบาลให้เงินมาครึ่ง-ครึ่งเรียบร้อย เราก็เริ่มส่วนที่ 3 ช่วงที่ 1 ยังไม่เริ่มเพราะฝั่งธนฯ มีการเวนคืนเยอะ

สมัยก่อนที่พวกเรามา เขาก็ทำส่วนที่ 2 ก่อน ในปีงบประมาณ 2564 ก็ตกลงกันไว้ว่าคนละครึ่ง ซึ่งเราเอาข้อบัญญัติของ กทม.แล้ว ของรัฐบาลเองก็ได้บรรจุไว้ในเล่มโครงการนี้ ณ ปี 2561 ซึ่งข้อบัญญัติเราผ่านสภา เราก่อนสภาใหญ่ ปรากฏว่าสภาใหญ่ตัดงบตัวนี้ออก ทำให้ในปี 2564 ไม่มีงบตัวนี้ออกมา

แต่ต่อมาก็ดำเนินการต่อ กทม.ก็ไปทำหนังสือเพราะการที่มีงบครึ่ง-ครึ่ง ก่อนเราจะดำเนินการปะมูล ต้องขอความเห็นชอบจากมหาดไทยก่อน เข้าใจว่าก่อนเราเริ่ม พ.ค.65 ทางผู้บริการชุดก่อนได้ทำหนังสือถามไปมหาดไทยว่าจะเริ่มการประมูลช่วงที่ 3 ได้หรือไม่ มหาดไทยตอบมาว่า ‘ดำเนินการได้’ จากนั้น พอเราเข้ามาเขาก็ดำเนินการต่อเพราะคาดว่ารัฐบาลจะให้เงินสนับสนุนแต่ปรากฏว่างบไม่ได้ส่งมาตลอด 2566-2567 ยังไม่ได้เข้า เข้าใจว่าอาจจะมีข้อกังวลเรื่องสะพานที่ผ่านสภา ช่วงต่างๆ ซึ่งจริงๆ แล้วเรามีการดำเนินการปรับปรุงมาตลอด

มาถึงนาทีนี้ เนื่องจากข้อบัญญัติเดิมที่ค้างอยู่ว่าต้องออกคนละครึ่ง ทำให้เราไม่สามารถลงนามในสัญญาต่อไป ก็ต้องมีการปรับวงเงินให้เราเป็นผู้รับผิดชอบ 100%” นายชัชชาติกล่าว

นายชัชชาติกล่าวอีกว่า ถ้าช่วงที่ 3 ไม่เริ่ม จะทำให้การเสร็จของสะพานต่างกัน สุดท้ายสะพานจะเปิดไม่ได้ เพราะช่วงที่ 3 ที่รอดำเนินการอยู่ยังไม่เริ่ม ส่วนช่วงที่ 1 ที่ดำเนินการ พอเราเห็นปี 2564 มีปัญหาปุ๊บ ช่วงที่ 1 เราจึงของบฯ ของเรา 100%

 

“สรุปว่าปัจจุบันที่ดำเนินการอยู่ คือช่วงที่ 1 ฝั่งธนฯ เราใช้เงินเรา 100% อยู่ในข้อบัญญัติงบประมาณฯ เรียบร้อย ดำเนินการอยู่ ช่วงที่ 2 จ่ายคนละครึ่ง ช่วงที่ 3 เริ่มจากคนละครึ่ง แต่รัฐบาลไม่ได้ให้เงินส่วนครึ่งนึงมา ดังนั้น สิ่งที่ค้างอยู่ในข้อบัญญัติ ต้องปรับตรงนี้เพื่อให้เรารับผิดชอบ 100%”

“ถามว่าเราจะไปขอเขาได้ไหม ขอได้ แต่เขาอาจจะไม่ให้ เพราะมันมีประเด็นที่มีความลึกซึ้งในรายละเอียดอยู่” นายชัชชาติกล่าว

นายชัชชาติกล่าวต่อว่า ดังนั้น ขอความเห็นชอบ เพิ่มวงเงินผูกพันงบประมาณกรุงเทพมหานครโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณแยกเกียกกาย ช่วงที่ 3 ก่อสร้างทางยกระดับและถนนฝั่งพระนคร และจากแม่น้ำเจ้าพระยาถึงแยกสะพานแดง ของสำนักการโยธาฯ เนื่องจาก กทม.มีความจำเป็นในการดำเนินการก่อสร้าง ช่วงที่ 1-3 เพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายการจราจร ระหว่างฝั่งตะวันตก และตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมีวงเงินงบฯ 980 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 720 วัน จึงโปรดนำเรียนสภาฯ กทม.ให้ความเห็นชอบ

ทั้งนี้ มี ส.ก.รวมอภิปรายในรายละเอียดหลายราย

จากนั้น นายชัชชาติกล่าวชี้แจงว่า เรื่องกระบวนการที่บอกว่าเราล่าช้า ความจริงปัญหาหนึ่งคืองบฯ ปี 2567 ของรัฐบาลเองก็ล่าช้าไปเยอะ เราคาดว่าจะบรรจุเข้าไปอยู่ในงบปี 2567 เพราะก่อนประมูล กทม.ได้ชี้แจงกระทรวงมหาดไทย ซึ่งอนุมัติมาแล้ว ดังนั้น ก็ควรที่จะผ่านตั้งแต่ปีที่แล้ว  แต่ปรากฏไม่ได้บรรจุในเล่ม เมื่อตนทราบจึงรีบเอาเข้าสภากทม.วันนี้

“เราชี้แจงหลายรอบ ถามว่าทำไมเราตัดส่วนที่ 4-5 ออกไป ส่วนหนึ่งเพราะความกังวลของสภาฯ เพราะก็มีความละเอียดอ่อนช่วงที่ 3 ผ่านหน้ารัฐสภาเลย ก็คงมีสมาชิกหลายท่านกังวลอยู่ในหลายเรื่องมีข้อทักท้วงให้เราดำเนินงานต่างๆ ซึ่งจริงๆ แล้ว ก็มีการดำเนินงานมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลที่แล้ว ต่อเนื่องมา ที่โดนตัดไปช่วงแรกเราชี้แจงหมดแล้ว คิดว่าน่าจะกลับเข้ามาได้

“การเจรจาระหว่างเรากับรัฐบาล ส่วนใหญ่เป็นการเจรจาระหว่าง เรากับสำนักงบประมาณ ในการแบ่งงบฯ กัน ยกเว้นโครงการรที่เกิน 1,000 ล้าน ต้องเข้า ครม.เห็นชอบ อันนี้เกิน 1,000 ล้าน ก็เลยเข้า ครม.เพื่ออนุมัติ แต่โครงการช่วงที่ 3 ไม่ถึง เลยไม่เข้า ครม. กล่าวคือเป็นโครงาการที่แยกต่างหากจากช่วง 1-2 จึงไม่ได้ผูกเนื่องกันมา

ทำไมถึงขออนุมัติงบฯ เกินกว่าที่ประมูลไว้ได้ แค่ 49 ล้าน จะพอหรือไม่ ทำไมขอวงเงินมา 980 ล้านบาท แทนที่จะขอเท่าที่ประมูลได้ ผมขอให้รองผู้ว่าฯกทม. เป็นผู้ชี้แจง” นายชัชชาติกล่าว

นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯกทม. กล่าวว่า ในกรณีที่โครงการเขียนไว้ 980 ล้านบาท พอหลังจากที่สำนักการโยธา ประมูลได้แล้ว ก็มาขอเต็มวงเงินนั้น ตนเข้าใจว่า สำนักการโยธาคงคิดว่าจะต้องขอตามโครงการ แต่ข้อเท็จจริงแล้วหากขอมา สำนักงบฯ ก็จะให้เงินเท่ากับจำนวนที่เขาประมูลได้อยู่ดี คงไม่ใช่ 980 ล้าน แต่เป็น 875 ล้าน นั่นคือขั้นตอนของวิธีการงบประมาณ ฉะนั้น วงเงินที่เราให้ คงไม่ใช่การให้ 980 ล้านบาท

“ในกรณีที่ปีนี้ ทางสภาฯ ได้ขยายวงเงินไปให้ สำนักการโยธาได้เข้ากระบวนการก่อหนี้ ซึ่งปีนี้อยู่ 49 ล้าน ในกรณีที่ใช้งบฯ เกินกว่านี้ โยธาฯ สามารถจัดสรรงบฯ กลางได้ เพราะถือเป็นภาระหนี้ที่ กทม.ต้องชำระให้ผู้รับจ้าง” นายจักกพันธุ์กล่าว

ด้าน นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม. กล่าวว่า เรื่องการยืนราคาของผู้รับจ้าง บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (ITD) ที่ประกวดราคาได้ ก็มีการยืนราคามาตลอด ล่าสุดจะยืนราคาถึงเดือน พฤษภาคม 2567

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image