หมอบูรณ์ เห็นด้วยกับ กสม. ชี้ ประกันสังคม จ่ายเงินสมทบเองควรได้รับสิทธิดูแลดีกว่าบัตรทอง

หมอบูรณ์ เห็นด้วยกับ กสม. ชี้ ประกันสังคม จ่ายเงินสมทบเองควรได้รับสิทธิดูแลดีกว่าบัตรทอง ถาม สปส. ถ้าได้น้อยกว่าจะเสียเพิ่มเพื่ออะไร

เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ นสพ.บูรณ์ อารยพล หรือหมอบูรณ์ นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิผู้ประกันตนในนาม “กลุ่มขอคืนไม่ได้ขอทาน” ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มีความเห็นถึงผู้ประกันตนในสิทธิของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ที่ใช้สิทธิเบิกค่ารักษาทันตกรรมที่จำเป็น ได้น้อยกว่าประชาชนทั่วไปในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทอง) และระบบสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการและบุคลากรภาครัฐ ทั้งที่ผู้ประกันตนเป็นกลุ่มเดียวที่กฎหมายกำหนดให้ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนทุกเดือน ว่า ตนเห็นด้วยกับความคิดนี้ และมีความเห็นเพิ่มเติมว่าผู้ที่จ่ายเงินสมทบที่นอกเหนือจากการจ่ายภาษีทั่วไปแล้วควรจะได้รับสิ่งที่ดีและมากกว่าผู้ที่ไม่ได้จ่ายสมทบ ถึงแม้ว่าจะได้รับการดูแลที่เท่ากับคนในสิทธิบัตรทองก็เป็นสิ่งที่รับไม่ได้ แต่ด้วยองคาพยพใหญ่ของประกันสังคมที่ดูแลหลายเรื่อง ทำให้สิทธิประโยชน์ของประกันสังคมสู้บัตรทองไม่ได้ ฉะนั้น ข้อเสนอของตนคือประชาชนทุกคนควรได้สิทธิรักษาสุขภาพด้วยสิทธิบัตรทอง ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน จากนั้นผู้ประกันตนในสิทธิประกันสังคมก็สามารถเลือกโรงพยาบาล (รพ.) ตามสิทธิได้เพิ่ม เพื่อให้ประชาชนมี รพ. พื้นฐานตามสิทธิบัตรทอง และสามารถเลือก รพ. ในเครือเอกชนตามสิทธิประกันสังคมได้ แบบนี้จึงควรค่ากับเงินสมทบที่ผู้ประกันตนและนายจ้างร่วมกันจ่ายปีละกว่า 1.8 หมื่นบาท

“คนที่จ่ายเงินสมทบควรมีสิทธิในการเลือก รพ. ตามสิทธิประกันสังคมเป็น รพ. แห่งที่สอง เพราะความต่างของสิทธิผู้ประกันตนกับสิทธิบัตรทองต่างกันแค่สิทธิผู้ประกันตนสามารถเลือก รพ. เอกชนได้เท่านั้นเอง แต่ข้อเสียก็คือ รพ. เอกชน ที่ได้งบรายหัวจากประกันสังคมในอัตราหัวละ 3,900 บาท เกือบๆ 4,000 บาท ทำให้การรักษาของ รพ. เอกชนมีงบจำกัด เท่าที่ได้ยินมาจากเพื่อนผู้ประกันตน ก็บอกว่ากว่าจะได้พบแพทย์เฉพาะทาง ก็ต้องไป รพ. หลายครั้ง ถึงจะได้พบแพทย์เฉพาะทาง” นสพ.บูรณ์กล่าว

เมื่อถามว่ากรณีที่ผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบจะได้รับสิทธิในการดูแลเรื่องอื่น เช่น การชดเชยชราภาพ การเสียชีวิต การชดเชยลาคลอด หรือการชดเชยว่างงาน ซึ่งไม่มีในสิทธิบัตรทอง นสพ.บูรณ์กล่าวว่า ถ้าหากคิดเช่นนั้นทางประกันสังคมก็ไม่ควรมาเก็บเบี้ยในส่วนของการรักษาพยาบาล เพราะเบี้ยที่เก็บทั้งหมดตกเดือนละร้อยละ 12.5 แบ่งออกเป็นเงินสมทบจากรัฐบาลร้อยละ 2.5 จากผู้ประกันตนร้อยละ 5 และจากนายจ้างร้อยละ 5 ฉะนั้น ถ้าหากมองว่าผู้ประกันตนได้รับสิทธิในเงินชดเชยต่างๆ แล้ว รัฐบาลก็ไม่ต้องสมทบเงินเข้ามา แล้วให้ผู้ประกันตนไปใช้สิทธิรักษาพยาบาลร่วมกับสิทธิบัตรทองให้เหมือนกับผู้ประกันตนมาตรา 39 ดังนั้น เมื่อคำนวณอัตราออกมาใหม่ก็จะเป็นการหักเงินสมทบจากผู้ประกันตนร้อยละ 4.5 และนายจ้างร้อยละ 4.5

Advertisement

“ถ้าตัดในส่วนของการรักษาพยาบาลที่ต้องจ่ายเงินสมบทเข้าประกันสังคม แล้วประกันสังคมก็เอาไปจ่ายให้ รพ. อีกครั้ง ถ้าตัดส่วนนี้ออกไปเพื่อให้ผู้ประกันตนและนายจ้างประหยัดเงิน เอาเงินไปทำอย่างอื่น แล้วก็ไปใช้สิทธิรักษาตามบัตรทองจึงจะเหมาะสมกว่า เพราะถ้าสิทธิของผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบแต่ได้สิทธิประโยชน์เท่ากับหรือน้อยกว่าบัตรทองแล้ว เราจะจ่ายเงินสมทบไปเพื่ออะไร” นสพ.บูรณ์กล่าว

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 6 ก.พ. ที่ผ่านมา นางนิยดา เสนีย์มโนมัย โฆษกสำนักงานประกันสังคม ชี้แจงว่า ปัจจุบันสิทธิทันตกรรมของสำนักงานประกันสังคม เป็นสิทธิเดียวในสามกองทุนสุขภาพที่สามารถเข้ารับบริการได้ในสถานพยาบาลหรือคลินิกเอกชน ที่ไหนก็ได้ทั่วประเทศ สามารถรับบริการได้ทันที ไม่ต้องมีการนัดหมายล่วงหน้า ไม่ต้องสำรองจ่าย ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคมได้มีการปรับค่าบริการกรณีทันตกรรมจากเดิม 600 บาท เป็น 900 บาท โดยสำรวจราคาจากสถานพยาบาล ที่ให้บริการทันตกรรมทั้งภาครัฐและเอกชน และอัตราการใช้บริการเฉลี่ยต่อปีของผู้ประกันตน อีกทั้ง สำนักงานประกันสังคมยังให้สิทธิผู้ประกันตนที่ต้องเข้ารับบริการด้านสุขภาพช่องปากที่จำเป็นหรือประสบอุบัติเหตุที่เกี่ยวกับช่องปาก ซึ่งถือเป็นการรักษาพยาบาลอย่างหนึ่ง ผู้ประกันตนสามารถเข้ารับบริการ ที่สถานพยาบาลตามสิทธิโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image