สปสช.นัดถก รพ.มหาวิทยาลัยสัปดาห์หน้า สางปมค้างชำระเงินค่ารักษา ยันเร่งแก้เร็วที่สุด

สปสช.นัดถก รพ.มหาวิทยาลัยสัปดาห์หน้า สางปมค้างชำระเงินค่ารักษา ยันเร่งแก้เร็วที่สุด

วันนี้ (9 กุมภาพันธ์ 2567) นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่เครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHosNet) ทำหนังสือเร่งรัดให้ สปสช. ชำระค่ารักษาพยาบาลที่ค้างชำระแก่โรงพยาบาลในกลุ่ม UHosNet ภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้ นั้น สปสช.ได้รับทราบถึงความกังวลใจ และไม่ได้นิ่งนอนใจแต่อย่างใด โดยขณะนี้ สปสช.ได้มีการนัดหารือกับผู้บริหารโรงพยาบาลในกลุ่ม UHosNet จะลงพื้นที่ไปพูดคุยเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกันในสัปดาห์หน้า โดยหลังจากที่มีข้อเสนอแนะหรือแนวทางที่ชัดเจนร่วมกันแล้ว สปสช.จะเร่งดำเนินการเพื่อให้สามารถเบิกจ่ายเงินชดเชยค่าบริการแก่โรงพยาบาลในกลุ่ม UHosNet โดยเร็วที่สุด

นพ.จเด็จ กล่าวถึงปัญหาที่ทำให้การเบิกจ่ายเงินล่าช้า ว่า ส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาทางเทคนิค เช่น รายการเบิกจ่ายติดรหัส C ซึ่งหมายถึงข้อมูลรายการไม่ผ่านการตรวจสอบ 611 ล้านบาท และ รหัส DENY ที่หมายถึง ข้อมูลรายการถูกปฏิเสธการจ่าย 389 ล้านบาท รวมทั้งการจ่าย 0 บาท กรณีเบิกค่าใช้จ่ายนอกรายการ Fee Schedule

“จากเหตุผลเหล่านี้ ทำให้ สปสช. ต้องมีการตรวจสอบและ Mapping รหัสการเบิกจ่ายใหม่ ทำให้การจ่ายเงินค่าบริการล่าช้า สปสช.เข้าใจถึงความลำบากของโรงพยาบาลที่ต้องการนำเงินเหล่านี้ไปหมุนเวียนเพื่อจัดบริการแก่ประชาชน อย่างไรก็ตาม เราก็มีหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายที่ต้องปฏิบัติตาม เพื่อให้เกิดความโปร่งใสตรวจสอบได้ การหารือที่จะเกิดขึ้น เราคงต้องมาหาจุดสมดุลร่วมกันว่า จะทำอย่างไรให้สามารถเบิกจ่ายเงินได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ด้วย เช่น กรณีติดรหัส C เราอาจต้องมีการจัดทีม หรือสายด่วนสำหรับให้คำปรึกษาแก่เจ้าหน้าที่การเงินของโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อให้การเบิกจ่ายถูกต้องสามารถจ่ายเงินได้อย่างรวดเร็ว เรายืนยันว่า หากมีการทำรายการเบิกจ่ายที่ถูกต้องก็สามารถจ่ายเงินให้ได้ภายในเวลา 3 วัน”    นพ.จเด็จ กล่าว

ADVERTISMENT

เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า นอกจากปัญหาเชิงเทคนิคแล้ว อีกส่วนยังเป็นปัญหาเชิงระบบ เช่น การให้บริการในบางรายการไม่ได้ครอบคลุม หรือกำลังอยู่ระหว่างการปรับปรุงให้อยู่ในรายการที่ สปสช. จ่ายเงินให้ได้ ซึ่ง สปสช. ได้รับทราบและอยู่ระหว่างการปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้เหมาะสมแล้ว แต่การดำเนินการต้องผ่านขั้นตอนหลายขั้นตอนจึงอาจไม่รวดเร็วทันใจ และจะได้นำประเด็นปัญหาในในเชิงเข้าหารือในที่ประชุมครั้งนี้ด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image