‘พิพัฒน์’ เจรจาญี่ปุ่นพัฒนาทักษะแรงงานไทยหนุนการค้าและการลงทุนระหว่างสองประเทศ
วันนี้ (13 กุมภาพันธ์ 2567) นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้ให้การต้อนรับ นายจุน คุโรดะ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของประเทศญี่ปุ่นประจำกรุงเทพมหานคร (JETRO Bangkok) และ นายโคโซ โท รองประธานหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (JCC Bangkok) และคณะ ในโอกาสเข้าพบเพื่อเยี่ยมคารวะและหารือข้อราชการด้านแรงงานกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และคณะ ทั้งนี้ มี นายภุชงค์ วรศรี ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน น.ส.บุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) นายสมาสภ์ ปัทมะสุคนธ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมด้วย
นายพิพัฒน์กล่าวว่า ตนพร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงแรงงาน ขอบคุณประธาน JETRO Bangkok และรองประธาน JCC Bangkok และคณะ เป็นอย่างยิ่งที่เข้าเยี่ยมคารวะและหารือข้อราชการด้านแรงงานในครั้งนี้ กระทรวงแรงงาน โดย กพร.มีการพัฒนาฝีมือแรงงานและส่งแรงงานให้องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่นประจํากรุงเทพฯ (JETRO Bangkok) และหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (JCC Bangkok) ในส่วนของการประกาศค่าแรงขั้นต่ำนั้น ทางกระทรวงแรงงานจะปรับตามกฎเกณฑ์ได้อย่างชัดเจนโดยอ้างอิงตามพื้นที่และสาขาอาชีพ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนชาวญี่ปุ่น นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานพร้อมให้ความร่วมมือกับฝ่ายพัฒนาทรัพยากรบุคคลเพื่อที่จะสนับสนุนให้บริษัทได้พัฒนาฝีมือแรงงานของพนักงานตามความต้องการในเเรงงานที่ขาดแคลน พร้อมอำนวยความสะดวก จัดอบรมสัมนาพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน ให้กับผู้ประกอบการที่อยู่ในการดูแลของ JCC Bangkok เพื่อเป็นประโยชน์ต่อแรงงานและนายจ้างนักลงทุนด้วย
“กระทรวงแรงงานขอบคุณประธาน JETRO Bangkok และรองประธาน JCC Bangkok และคณะ ที่ได้มาพบเพื่อกระชับความสัมพันธ์การลงทุนระหว่างประเทศและพัฒนาด้านแรงงาน โดยเฉพาะความร่วมมือในการส่งเสริมให้แรงงานของไทยได้ไปทำงานในญี่ปุ่นมากขึ้น เราพร้อมที่จะอำนวยความสะดวกตลอดจนประสานงานกับกระทรวงต่างๆ ในทุกๆ เรื่อง เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุนญี่ปุ่นที่มาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งการหารือในครั้งนี้จะเกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศต่อไป” นายพิพัฒน์กล่าว
ด้าน นายจุน คุโรดะ กล่าวว่า ในส่วนของนักลงทุนชาวญี่ปุ่นต้องการให้กระทรวงแรงงานพิจารณาดำเนินการ เกี่ยวกับนักธุรกิจชาวญี่ปุ่นให้สามารถเดินทางมายังประเทศไทย เพื่อธุรกิจระยะสั้น หรือเพื่อฝึกอบรม โดยขอให้ขยายเวลาพำนักสำหรับวีซ่า NON B มากกว่า 90 วัน ตามระยะของการฝึกอบรมเพื่อลดความซับซ้อนของกระบวนการ รวมทั้งเสนอแนะให้กระทรวงแรงงาน พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล หุ่นยนต์ และวิทยาศาสตร์ เพื่อรองรับตลาดแรงงานในอนาคต