สธ.ห่วงวัยทำงาน ป่วยไข้เลือดออกถึงชีวิต ชี้ คนป่วยอาการน้อยก็แพร่เชื้อได้ แนะทายากันยุงให้เหมือนใส่แมสก์

สธ. ห่วงวัยทำงานป่วยไข้เลือดออก แนวโน้มตายเพิ่ม แนะอยู่บ้านก็ต้องทายากันยุงให้เหมือนใส่แมสก์ ชี้ คนป่วยอาการน้อยแพร่เชื้อได้หลังโดนยุงกัด

เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงสถานการณ์ไข้เลือดออกว่า สถานการณ์ขณะนี้น่ากังวล เนื่องจากพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อย่างเดือนมกราคมที่ผ่านมาพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกแล้ว 8,197 ราย มากกว่าปี 2566 ถึง 1.9 เท่า ที่พบผู้ป่วย 4,286 ราย และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกรมควบคุมโรคมีการประเมินตั้งแต่ต้นปีแล้วว่า ในปี 2567 สถานการณ์ไข้เลือดออกจะสูงขึ้น ประกอบกับข้อมูลผู้ป่วยที่รักษาโรคไข้เลือดออกแบบผู้ป่วยนอก พบว่า เมื่ออยู่ที่บ้านไม่ได้ทายากันยุง ป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ เมื่อยุงมากัดก็นำเชื้อจากผู้ป่วยไปแพร่เชื้อต่อคนอื่น อีกทั้งยังพบว่าร้อยละ 80 โดยเฉพาะผู้ใหญ่ ไม่ได้มาโรงพยาบาล (รพ.) แต่ป่วยเป็นไข้เลือดออกที่อาการไม่มาก เรียกว่า DF หรือ Dengue fever คือ มีเชื้อไวรัสอยู่ แต่อาการไม่รุนแรง มีไข้ปกติ และไปซื้อยากินเอง เมื่อยุงมากัด จึงนำโรคแพร่เชื้อคนอื่นด้วย

“ดังนั้น จึงอยากรณรงค์ว่า เมื่ออยู่บ้านควรทายากันยุงหรือโลชั่นกันยุง ป้องกันไว้ดีที่สุด เหมือนการใส่หน้ากากอนามัย ใส่แมสก์ ก็เหมือนเราป้องกัน ลดการแพร่เชื้อ คล้ายๆ กัน” นพ.ธงชัยกล่าว

นพ.ธงชัยกล่าวว่า ปัจจุบันวันทำงานที่ป่วยไข้เลือดออก น่าเป็นห่วง เพราะจะมีอัตราเสียชีวิตเพิ่มขึ้น ที่สำคัญคือ ผู้ป่วยไม่คิดว่า ตนเองจะป่วยเป็นไข้เลือดออก คิดว่าเป็นไข้ทั่วไป หรือโควิด-19 บางทีไปซื้อยากลุ่มอันตราย โดยเฉพาะยากลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) ยาสเตียรอยด์ เพราะเสี่ยงเสียชีวิตได้ คำแนะนำ สำหรับผู้ที่มีอาการไข้คือ ให้รับประทานเฉพาะยาพาราเซตามอล แล้วสังเกตอาการตนเองใกล้ชิด หากมีไข้สูงลอย 2-3 วันไม่ดีขึ้น ต้องรีบพบแพทย์ และยิ่งมีอาการหน้าแดง จ้ำเลือด ปวดท้องด้านขวา เสี่ยงตับโต ซึ่งกรณีอาการจะรุนแรง แต่หากกรณี DF ไข้น้อยๆ ไม่มีอาการมาก ไม่มีน้ำมูก ไม่เหมือนหวัด ซึ่งตรงนี้ก็จะเป็นพาหะนำโรคได้ สิ่งสำคัญจึงรณรงค์ขอให้ทายากันยุงป้องกัน ปัจจุบันยากันยุงพัฒนามากขึ้น ทำเป็นโลชั่น ไม่เหนียวตัว อย่างผู้สูงอายุบางคนไม่ชอบทา ก็สามารถหาที่เป็นแบบโลชั่นได้

Advertisement

“ทุกปีที่มีการระบาดของไข้เลือดออก ส่วนหนึ่งจะพบว่าเชื่อมโยงกับภาวะเอลนีโญ ที่ทำให้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้เกิดการขยายตัวเพิ่มของประชากรยุง อย่างปีที่แล้วก็เป็นปีแรกของเอลนีโญ ซึ่งปกติจะระบาด 2 ปีติดกัน และมีคนไข้สะสมจากปีที่แล้ว อยู่ในชุมชนสูงเช่นกัน ปัญหาคือ ทุกวันนี้เราไม่รู้ว่าเราป่วยไข้เลือดออกหรือไม่ แต่เราไปซื้อยาพาราเซตามอลกินเอง อาการไม่เยอะ แต่ยุงที่มากัดเราก็อาจเอาเชื้อไปแพร่ได้ ดังนั้น การจะแยกก็อาจสังเกตว่า หากเรามีไข้ ปวดเมื่อยมากๆ ก็อาจเป็นไข้หวัดใหญ่” นพ.ธ.ชัยกล่าว

ทั้งนี้ นพ.ธงชัยกล่าวย้ำว่า การทายา หรือทาโลชั่นป้องกันยุงจะช่วยป้องกันได้ดี รวมทั้งช่วยกันเก็บบ้าน เก็บขยะ เก็บภาชนะให้สะอาดเรียบร้อย ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย ส่วนเรื่องวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก กำลังศึกษาร่วมกับสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เพื่อศึกษาว่าคุ้มค่ามากน้อยแค่ไหน รวมถึงผลความปลอดภัยของการใช้วัคซีน ซึ่งปัจจุบันราคาวัคซีนค่อนข้างแพง อย่างการป้องกันก็ไม่ได้ 100% เพราะไข้เลือดออกมีถึง 4 สายพันธุ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image