สธ.เร่งเครื่องแก้กม.อุ้มบุญ เปิดทาง LGBTQ+มีลูก หนุนเพิ่มประชากรประเทศ

สธ.เร่งเครื่องแก้กม.อุ้มบุญ เปิดทาง LGBTQ+มีลูก หนุนเพิ่มประชากรประเทศ

กรณีมีการเตรียมการจัดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการ “พัฒนาความมั่นคงครอบครัวไทย ผ่านพ้นภัยวิกฤตประชากร” ในวันที่ 7 มีนาคม 2567 เนื่องจากประเทศไทยมีปัญหาโครงสร้างประชากร ที่มีผู้สูงอายุมากกว่าเด็กเกิดใหม่ และคาดว่าอีกไม่เกิน 50 ปี ประชากรประเทศจะลดลงเหลือประมาณ 30 ล้านคน จากที่ปัจจุบันมีประมาณ 66 ล้านคน นั้น

วันนี้ (18 กุมภาพันธ์ 2567) นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ในส่วนของ สธ. นั้น ขณะนี้ สบส.กำลังดำเนินการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ.2558 หรือ กฎหมายอุ้มบุญ โดยมีการกำหนดให้สามารถดำเนินการได้ในคู่สมรส ไม่ได้ระบุว่าต้องเป็นเพศชายกับเพศหญิงเท่านั้น ดังนั้น หากเป็นคู่สมรสที่ถูกต้องตามกฎหมาย ก็สามารถทำอุ้มบุญได้ แต่ต้องบอกรายละเอียด

Advertisement

“ซึ่งการเสนอแก้ไข พร.บ.ฉบับนี้ ได้มีการเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดก่อนไปแล้ว แต่เมื่อมีการเปลี่ยน ครม.จึงต้องนำกลับมาทำใหม่ แต่ก็จะยืนยันฉบับแก้ไขตามร่างเดิม เนื่องจากผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์แล้ว ขณะนี้ สบส.อยู่ระหว่างทบทวนรายละเอียด ก่อนนำเสนอ ครม.อีกครั้ง” นพ.สุระ กล่าวและว่า กรณีนี้เป็นการแก้ไขกฎหมายให้มีความทันสมัยขึ้น จึงไม่มีความยุ่งยากเหมือนการออกกฎหมายใหม่ ดังนั้น หากผ่านการพิจารณาของ ครม. ก็จะส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา หากไม่แก้ไขใดๆ จะส่งกลับเข้า ครม.เห็นชอบ ก็สามารถประกาศบังคับใช้ได้ จากนั้น สบส.จะดำเนินการออกกฎกระทรวง ประกาศ หลักเกณฑ์วิธีการต่างๆ ที่เป็นกฎหมายลูกเพิ่มเติม เพื่อให้สอดคล้องกับส่วนที่มีการแก้ไขใน พ.ร.บ.

นพ.สุระกล่าวว่า ในการแก้ไขกฎหมายอุ้มบุญ จะอนุญาตให้คู่สมรสทำได้ตาม พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม หาก พ.ร.บ.เป็นอย่างไร ก็จะเป็นไปตามนั้น เพราะในกฎหมายอุ้มบุญไม่ได้ระบุว่า สามี/ภรรยา คือ ชายกับหญิง แต่ระบุว่าคู่สมรสตามกฎหมาย ซึ่งก็จะยึดที่การมีทะเบียนสมรสที่ถูกต้องกฎหมายเป็นหลัก เมื่อประสงค์จะมีการอุ้มบุญ ก็จะต้องเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการฯ เหมือนเดิม ปัจจุบันในประเทศไทย คณะกรรมการฯอนุญาตให้ทำอุ้มบุญถูกต้องตามกฎหมายแล้ว 745 คน นับตั้งแต่ที่ พ.ร.บ.มีผลบังคับใช้เมื่อปี 2558

ผู้สื่อข่าวถามว่า การแก้ไขกฎหมายนี้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายส่งเสริมการมีบุตรหรือไม่ นพ.สุระ กล่าวว่า เป็นการดำเนินการร่วมกัน ซึ่งกฎหมายอุ้มบุญนั้น นอกเหนือจากดูเรื่องของการตั้งครรภ์ หรือท้องไม่ได้ด้วยตนเอง ก็ยังดูเรื่องท้องได้ แต่ท้องยากด้วย โดยการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ เช่น การทำเด็กหลอดแก้ว หรือการผสมบางอย่างที่ฉีดเข้าไป เป็นต้น

Advertisement

เมื่อถามว่า หาก พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมมีผลบังคับใช้ กลุ่ม LGBT+ สามารถทำอุ้มบุญ หรือใช้เทคโนโลช่วยการเจริญพันธุ์ตามกฎหมายนี้ได้ นพ.สุระกล่าวว่า ก็จะต้องมาออกประกาศเพื่อให้คู่สมรสที่ถูกต้องตามกฎหมายสามารถมีบุตรได้ เช่น ผู้หญิงกับผู้หญิงแต่งงานกันแล้วอยากมีลูก ซึ่งสามารถตั้งครรภ์ได้เอง แต่อาจจะต้องใช้ผสมอสุจิคนอื่น ส่วนหากเป็นผู้ชายเป็นคู่สมรสกัน ก็ต้องหาผู้หญิงมาอุ้มบุญ ก็เข้าสู่การพิจารณาตามหลักเกณฑ์การอุ้มบุญ เพราะไม่มีมดลูก ตั้งครรภ์เองไม่ได้ ทั้งนี้ ย้ำว่าต้องเป็นคู่สรมสที่ถูกต้อง มีทะเบียนสมรส ไม่ใช่คู่ชีวิต

“กฎหมายต้องการที่จะคุ้มครองเด็กที่เกิดมาให้ได้มากที่สุด จึงมีการพิจารณาเรื่องของกรณีระหว่างที่ทำอุ้มบุญ หากเกิดคู่สมรสเสียชีวิตไป คนที่รับอุ้มท้องจะทำอย่างไร ก็พยายามดูในเรื่องเหล่านี้อยู่ เบื้องต้นมีการระบุว่า เป็นหน้าที่ของหญิงที่รับตั้งครรภ์จะต้องดูแลเด็ก แต่กำลังพิจารณาว่า ควรปรับแก้ให้เป็นญาติสายตรงของคู่สมรสที่มีกำลัง มีทรัพย์สินที่จะสามารถดูแลเด็กได้ อยากแก้ให้เป็นแบบนี้ ไม่ใช่ให้เป็นเรื่องของคนรับตั้งครรภ์ เพราะหากฐานะไม่ดี เด็กที่เกิดมาจะลำบาก จึงอยากให้เป็นญาติมากกว่า” นพ.สุระกล่าว

ต่อข้อถามถึงแนวทางป้องกันกรณีที่มีการจดทะเบียนสมรสปลอม เพื่อให้เข้าหลักเกณฑ์อุ้มบุญ แต่เบื้องหลังเป็นการค้ามนุษย์ นพ.สุระกล่าวว่า มีหลักเกณฑ์การพิจารณา หากเป็นไปตามที่หลักเกณฑ์กำหนด ก็ต้องพิจารณาให้ทำได้ ส่วนคนที่ไม่ทำตามหลักเกณฑ์อยู่ใต้ดิน ซึ่งแม้จะมีหรือไม่มีกฎหมายฉบับนี้ ก็ยังทำอยู่ ก็เป็นเรื่องของความมั่นคง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จะต้องติดตามดำเนินการตามกฎหมาย โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) จะดำเนินการตามกฎหมายกรณีการอุ้มบุญที่ผิดกฎหมาย

เมื่อถามถึงกรณีการให้ชาวต่างชาติมาทำอุ้มบุญที่ประเทศไทย นพ.สุระกล่าวว่า เป็นอีกเรื่อง ซึ่งยังไม่มีการแก้ไขกฎหมายให้ชาวต่างประเทศทำอุ้มบุญในประเทศไทยได้ ยังยืนยันว่า ตามกฎหมาย คู่สมรสฝ่ายหนึ่งฝายใดจะต้องเป็นคนไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image