‘พิพัฒน์’ ถกทีมประกันสังคม ตั้งเป้าเพิ่มรายได้ 5% หรือปีละ 1.2 แสนล้าน นำมาดูแลผู้ประกันตน

‘พิพัฒน์’ ถกทีมประกันสังคม ตั้งเป้าเพิ่มรายได้ 5% หรือปีละ 1.2 แสนล้าน นำมาดูแลผู้ประกันตน

เมื่อวันที่ 4 มีนาคม นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการชุดต่างๆ ของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงแรงงาน ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ สปส. ภายใต้นโยบาย “ทักษะดี มีงานทำ หลักประกันสังคมเด่น เน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ” โดยมี นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการ สปส. คณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ดประกันสังคม) คณะกรรมการการแพทย์ คณะกรรมการอุทธรณ์ กองทุนประกันสังคม คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน คณะกรรมการตรวจสอบกองทุนเงินทดแทน และผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมที่กระทรวงแรงงาน

นายพิพัฒน์กล่าวว่า กระทรวงแรงงานได้กำหนดทิศทางเป้าหมายให้สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติและนโยบายสำคัญของรัฐบาล มอบแนวทางแด่สำนักงานประกันสังคมในการขับเคลื่อนนโยบายที่ต้องเร่งรัดให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ภายใต้นโยบายมุ่งเน้นการบริการที่ได้มาตรฐาน วินิจฉัยโรคที่แม่นยำรวดเร็ว สะดวกสบาย และมีการติดตามผล พร้อมคุ้มครอง ดูแลและสร้างสวัสดิการที่ดี เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ประกันตน พร้อมเตรียมเดินสายพบสหภาพแรงงาน หรือออกหนังสือหารือในการสร้างสวัสดิการที่ดี เป็นประโยชน์กับผู้ประกันตน โดยกำหนดรายละเอียดแนวทาง 4 ข้อหลักๆ ดังนี้

Advertisement

1.นโยบายด้านการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีสำหรับผู้ประกันตน ปรับปรุงและพัฒนากฎหมายให้มีความเหมาะสมกับบริบทเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ มีมาตรฐานสากล พร้อมพัฒนาและยกระดับสิทธิการรักษา รวมถึงสวัสดิการของงานด้านประกันสังคม ที่มีความทันสมัยและตอบสนองความต้องการของผู้ประกันตน ผ่านโครงการ MICRO FINANCE : ลดหนี้ เติมทุน สร้างสุขแรงงาน

2.นโยบายเชิงรุกเพื่อการส่งเสริมสุขภาพที่ดีสำหรับผู้ประกันตน โครงการตรวจสุขภาพเชิงรุก ณ สถานประกอบการ ที่มุ่งเน้นการตรวจคัดกรองโรคที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในวงกว้าง เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ มาใช้เพื่อการคัดกรองโรคอันตราย ณ สถานประกอบการ

Advertisement

3.นโยบายด้านการยกระดับงานด้านการบริการ “รวดเร็ว สะดวกสบาย และมีการติดตามผล” สู่การพัฒนา BEST E-SERIVCE ประกันสังคมยุคใหม่ สร้างความมั่นคง เพิ่มความมั่นใจ ยกระดับการให้บริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนายจ้าง ลูกจ้าง และผู้ประกันตนในการรับบริการ มีการพัฒนาระบบ TELE – MEDICINE เพื่อเป็นการเพิ่มความสะดวกในการได้รับการบริการด้านการรักษาพยาบาล และช่วยลดความแออัด ณ สถานพยาบาล และการพัฒนาระบบประเมินความพึงพอใจในการเข้าบริการของผู้ประกันตน ณ สำนักงานประกันสังคม และโรงพยาบาลในเครือข่ายประกันสังคม เพื่อการนำข้อมูลมาใช้เพื่อการพัฒนาและระดับงานด้านการบริการและรักษาพยาบาล

4.นโยบาย “กองทุนมั่นคง แรงงานมั่งคั่ง ประกันสังคมยั่งยืน” เพื่อการบริหารจัดการกองทุนอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และยั่งยืน โดยส่วนแรก คือ การเพิ่มจำนวนผู้ประกันตน พร้อมเร่งศึกษาพัฒนาแพคเกจด้านประกันสุขภาพที่ตอบสนองความต้องการของผู้ประกันตนยุคใหม่ เพิ่มกลุ่มเป้าหมายของผู้ประกันตนให้เข้าสู่ระบบประกันสังคมที่มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานอิสระ หรือมาตรา 40 ส่วนที่ 2 คือ พัฒนาด้านการลงทุนที่มีประสิทธิภาพให้ได้ผลตอบแทนการลงทุนที่มากกว่าปัจจุบัน โดยตั้งเป้าหมายผลตอบแทนการลงทุน จากร้อยละ 2.4 เป็นร้อยละ 5 หรือจากปีละ 60,000 ล้านบาท เป็น 120,000 ล้านบาท ไต่ระดับขึ้นไปตั้งแต่ปี 2567-2570 นำไปเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกล่าวว่า ได้เสนอแนวทางให้คณะกรรมการดำเนินการพิจารณา ดังนี้ 1.คณะกรรมการประกันสังคม พิจารณาแนวทางให้นายจ้างสร้างหลักประกันสังคมให้กับลูกจ้าง โดยขึ้นทะเบียนและจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมอย่างครบถ้วน เพื่อให้ลูกจ้างได้รับสิทธิประโยชน์และการคุ้มครองตามกฎหมายครบถ้วน

2.คณะกรรมการการแพทย์ พิจารณาการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ของลูกจ้างหรือผู้ประกันตน ให้ได้รับสิทธิไม่ด้อยกว่าหรือดีกว่ากองทุนอื่น รวมถึงศึกษานวัตกรรมทางการแพทย์สมัยใหม่ที่ได้รับการรับรองจากนานาชาติ

3.คณะกรรมการอุทธรณ์ พิจารณาคำอุทธรณ์ของลูกจ้าง นายจ้าง หรือผู้มีส่วนได้เสีย ด้วยความรวดเร็ว แต่ต้องอยู่ภายใต้การบังคับใช้กฎหมาย และการวินิจฉัยสิทธิประโยชน์ต้องเป็นมาตรฐานเดียวกัน

4.คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน พิจารณาเรื่องการส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงาน พัฒนามาตรการหรือสร้างแรงจูงใจในการลดอุบัติเหตุจากการทำงาน

5.คณะกรรมการตรวจสอบกองทุนเงินทดแทน พิจารณาแนะนำแนวทางการกำกับ ตรวจสอบ และวางระบบการบริหารกองทุน ให้มีความโปร่งใสและมีประสิทธิภาพเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นายจ้าง ลูกจ้าง และผู้ประกันตน

นายบุญสงค์กล่าวว่า คณะกรรมการของ สปส. มีทั้งสิ้น 7 คณะ เข้าร่วมประชุม 5 คณะ โดยอีก 2 คณะ คือ คณะกรรมการตรวจสอบกองทุนประกันสังคม และคณะกรรมการการแพทย์กองทุนเงินทดแทน อยู่ระหว่างการสรรหาเนื่องจากหมดวาระ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image