‘ชลน่าน’ ชูผลงาน “ทักษิณ” วางรากฐานบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค “เศรษฐา” สานต่อยกระดับเป็นรักษาทุกที่

‘ชลน่าน’ ชูผลงาน “ทักษิณ” วางรากฐานบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค “เศรษฐา” สานต่อยกระดับเป็นรักษาทุกที่ เผย 30 มี.ค. คิกออฟเฟซสองอีก 8 จังหวัด

เมื่อวันที่ 6 มีนาคม นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้กล่าวในการแถลงข่าวโครงการบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ ระยะที่ 2 เมื่อวันที่ 5 มี.ค. ที่ผ่านมา ว่า นโยบายยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว เป็นนโยบายเรือธงที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.การคลัง ได้แถลงต่อรัฐสภา โดยกระทรวงสาธารณสุขและเครือข่ายได้เริ่มขับเคลื่อนมา ในระยะแรกได้เปิดให้บริการ 4 จังหวัดใน 4 ภูมิภาค ซึ่งมีการเปิดตัวโครงการใน จ.ร้อยเอ็ด โดยมีท่านนายกฯ เป็นประธาน พร้อมด้วย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นรองประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ เข้าร่วมด้วย เพื่อเป็นการสื่อสารต่อประชาชนให้รับทราบว่ารัฐบาลชุดนี้ โดยการนำของท่านนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน และพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรค ภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย เราถือเป็นสัญญาประชาคม ประกาศให้ประชาชนรับทราบว่าเราได้ทำตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน ขณะนี้ผ่านมา 2 เดือน พบว่า ประชาชนมีความพึงพอใจต่อโครงการมากกว่าร้อยละ 80 ส่วนด้านภาระงานของบุคลากรทำงานนั้น ก็ไม่มีเสียงบ่นว่างานหนักขึ้น เนื่องจากมีระบบดิจิทัลเข้ามาช่วยลดการใช้งานของกำลังคน อย่าง จ.ร้อยเอ็ด สามารถลดบุคลากรห้องบัตรได้จาก 20 คนเหลือไม่ถึง 10 คน นอกจากนั้นยังสามารถทำศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) ในจุดบริการอื่นๆ ได้ ทั้งนี้ ยังพบว่านโยบายบัตรใบเดียวยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชนได้ แต่ต้องประเมินตัวเลขกลับมาอีกทีให้เห็นชัดว่า ภาระค่าใช้จ่ายที่ลดลงไป มีผลต่อด้านเศรษฐกิจ การประหยัดงบประมาณได้อย่างไร

นพ.ชลน่านกล่าวว่า ส่วนจัดส่งยาและเวชภัณฑ์ถึงบ้านผ่าน Health Rider ไม่ต้องรอรับยาที่โรงพยาบาล โดยผลสำรวจความพึงพอใจการรับบริการ Health Rider ระหว่างวันที่ 23ก.พ. – 1 มี.ค.2567 พบว่า ภาพรวมพึงพอใจสูงถึงร้อยละ 99.6 เนื่องจากช่วยลดเวลาการรอคอยยาในโรงพยาบาล (รพ.) ให้ประชาชนได้มากกว่าร้อยละ 90 นอกจากนั้น ยังได้นำนวัตกรรมใหม่เข้ามาพัฒนาระบบบริการ ทั้งการบันทึกข้อมูลส่วนบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ Personal Health Record (PHR) การบริการเทเลเมดิซีน ระบบ Health ID ที่เป็นบัตรประชาชนดิจิทัล การจ่ายยาทางไปรษณีย์ ร้านยาใกล้บ้าน เชื่อมโยงกับหน่วยบริการนวัตกรรม ทั้งคลินิกเอกชน คลินิกทันตกรรม ห้องแล็บในชุมชน เป็นต้น จาก 30 บาทรักษาทุกโรค มาเป็น 30 บาทรักษาทุกที่ผ่านระบบดิจิทัล

“การยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรคมาเป็นรักษาทุกที่ ซึ่งคำว่า รักษาทุกโรคเป็นนโยบายของพรรคไทยรักไทยในสมัยของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ได้ทำไว้เมื่อ 20 ปีก่อน ด้วยข้อจำกัดของเทคโนโลยีสมัยนั้นจำเป็นต้องจัดระบบการเช่นนั้น แต่ขณะนี้เทคโนโลยีมีการพัฒนาเยอะ เราก็ปรับระบบมาเป็นดิจิทัลได้” นพ.ชลน่านกล่าว

Advertisement

นพ.ชลน่านกล่าวว่า สำหรับเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์ 8 จังหวัดในระยะที่ 2 ประกอบด้วย เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ สิงห์บุรี สระแก้ว หนองบัวลำภู นครราชสีมา อำนาจเจริญ และพังงา ผ่านเกณฑ์ประเมิน รพ.อัจฉริยะ 96 แห่งครบ 100% ผ่านประเมินความปลอดภัยมาตรฐานสากลร้อยละ 94 มีจังหวัดยกระดับความปลอดภัยระดับดี 100% ได้คือ อำนาจเจริญ โดยมีการอัพเกรดคอมพิวเตอร์และระบบปฏิบัติการของ รพ.ให้รองรับระบบการให้บริการใหม่ เพิ่มศักยภาพบุคลากรด้านเทคโนโลยีดิจิทัล พร้อมสื่อสารประชาสัมพันธ์ทั้งบุคลากรและประชาชน รวมทั้งมอบหมายให้ สปสช.เร่งทำข้อสรุปหลักเกณฑ์และกระบวนการเบิกจ่าย การยืนยันตัวตน การเปิดสิทธิ ปิดสิทธิ ให้มีความชัดเจน เพื่อให้หน่วยบริการภาคเอกชนมั่นใจและเข้าร่วมโครงการ ทั้งนี้ จะเชิญนายกฯ เป็นประธานคิกออฟระยะที่ 2 ที่ จ.นครราชสีมา ในวันที่ 30 มี.ค.2567

“ผมในฐานะรมว.สธ. พร้อมกับท่านรมช.สธ. ภายใต้การนำของท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน พวกเราเข้ามาสานต่อนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคของอดีตท่านนายกฯ ทักษิณ ชิตวัตร เป็นรักษาทุกที่ ต้องเน้นย้ำจริงๆ เพราะเป็นสิ่งที่เป็นคุณูประการ แน่นอนว่าผมไม่กล่าวถึงบุคคลอื่นไม่ได้ เพราะการจะขับเคลื่อนนโยบายยากๆ มีสามองค์ประกอบหลัก คือ 1.ความรู้เรื่องข้อมูลวิชาการ 2.มิติภาคประชาชน และ 3.นโยบายทางการเมือง ซึ่งเป็นเสาหลักตามทฤษฎีสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขาของท่าน ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส มีความสำคัญ และต้องยกย่อง นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ในด้านวิชาการ เครือข่ายประชาชน จนถึงภาคนโยบายของอดีตนายกฯ ทักษิณที่ตัดสินใจทำโครงการนี้ ทำให้เกิดเป็นรูปเป็นร่างในปัจจุบัน” นพ.ชลน่านกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image