กก.โรคติดต่อเห็นชอบออกข้อกำหนดจ่าย ‘ยากันยุง’ ให้ผู้ป่วยไข้เลือดออก ห่วงยอดพุ่ง2.7แสนราย
เมื่อวันที่ 8 มีนาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการ สธ. แถลงภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2567 ว่า ที่ประชุมเห็นชอบ 1.(ร่าง) กฎกระทรวงสาธารณสุข ให้มีการจ่ายค่าทดแทนเพื่อชดเชยความเสียหายจากการเฝ้าระวัง การป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ โดยออกภายใต้ออกกฎหมายพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ พ.ศ.2558 มาตรา 48 ซึ่งดำเนินการภายใต้งบประมาณของกรมควบคุมโรค ความหมายคือ กรณีที่มีการเฝ้าระวังโรคแล้วมีความเสียหายเกิดขึ้น ไม่ว่าจะต่อร่างกาย ชีวิตหรือทรัพย์สิน ก็จะมีการชดเชยความเสียหายตามกรณี ขั้นตอนหลังจากนี้ จะส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป โดยรายละเอียดของร่างดังกล่าวจะมีเพดานของการชดเชยความเสียหายกำหนดไว้ เช่น ความเสียหายต่อบุคคล ค่ารักษาพยาบาลไม่เกิน 30,000 บาท ค่าฟื้นฟูสมรรถนะไม่เกิน 50,000 บาท ซึ่งตรงนี้จะแตกต่างจากมาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ที่เป็นการชดเชยกรณีเจ็บป่วยจากการรักษาพยาบาล แต่ร่างกฎกระทรวงนี้เป็นการป้องกันและควบคุมโรค ซึ่งครอบคลุมในโรคติดต่อทั้งหมด เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าไปป้องกัน ควบคุมโรคในสถานที่ต่างๆ และให้เกิดความมั่นใจกับผู้ประกอบการ
นพ.ชลน่านกล่าวว่า 2.เห็นชอบประกาศกระทรวงฉบับเพิ่มเติม เรื่องผู้ที่มีหน้าที่ในการออกหนังสือรับรองการสร้างเสริมป้องกันโรค ซึ่งอธิบดีกรมควบคุมโรคจะผู้มอบหมาย โดยจะเพิ่มเติมในกลุ่มบุคลากรจากสภากาชาดไทย บุคลากรในหน่วยงานของรัฐและสถานพยาบาล และ 3.สถานการณ์โรคติดต่อในประเทศที่ต้องเฝ้าระวัง คือ โรคไข้เลือดออก ที่มีการคาดการณ์ว่าจะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 2 เท่า โดยหากไม่ดำเนินการใดๆ เลย คาดว่าจะพบผู้ป่วยในปีนี้ถึง 270,000 ราย แต่หากมีการเพิ่มมาตรการอีกหนึ่งมาตรการ จะลดผู้ป่วยได้ถึง 7-8 หมื่นราย ตัวเลขผู้ป่วยจะเหลือ 200,000 ราย นั่นคือ การทายากันยุง
“ที่ประชุมจึงเห็นชอบว่า ควรออกข้อกำหนดว่าแพทย์จะต้องจ่ายยากันยุงให้กับผู้ป่วยที่หายแล้วกลับบ้าน เพื่อป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อต่อ เพราะหากยังมีเชื้อในร่างกายของผู้ป่วย ยุงที่ไปกัดก็จะนำเชื้อไปแพร่ให้ผู้อื่นได้ ดังนั้น ต้องทายาติดต่อกัน 5 วันหลังออกจากโรงพยาบาล รวมถึงผู้ที่อยู่ในครอบครัว ผู้ใกล้ชิดสัมผัสก็ต้องทายากันยุงด้วย เพื่อลดอัตราการแพร่ระบาดของเชื้อ แต่ที่สำคัญคือ การป้องกันไม่ให้เกิดลูกน้ำยุงลาย โดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดจะต้องเข้าไปดูรายละเอียด วัดอัตราการเกิดของลูกน้ำยุงลายในชุมชน เช่น โรงเรียน วัด ฯลฯ ที่ต้องมีค่าเป็นศูนย์ ส่วนโรคระบาดอื่นๆ เช่น ไอกรน บาดทะยัก หัด เป็นต้น ที่พบผู้ป่วยในภาคใต้” นพ.ชลน่านกล่าว
รัฐมนตรีว่าการ สธ.กล่าวว่า ส่วนประเด็นโรคติดต่อในต่างประเทศ มีประเด็นที่สังคมให้ความสนใจคือ ไข้นกแก้ว ที่มีการรายงานว่ามีการระบาดอยู่ในต่างประเทศ ซึ่งเป็นการระบาดจากสัตว์สู่คนโดยการติดเชื้อแบคทีเรีย ดังนั้น จะต่างจากไข้หวัดนกที่เป็นไวรัส และยังไม่มีหลักฐานระบาดจากคนไปสู่คน อย่างไรก็ตาม ไข้นกแก้วสามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ ด้านมาตรการเฝ้าระวัง ขณะนี้กรมควบคุมโรค ได้ร่วมกับอีก 2 กรม คือ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ที่จะเฝ้าระวังเรื่องการนำเข้าสัตว์มาจากต่างประเทศ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยทั้ง 3 กรมนี้จะทำงานร่วมกันในการเฝ้าระวังโรคต่อไป