ปี’66 อากาศร้อนทำตาย 37 ราย สบส.ดึง อสม.-อสส.ร่วมเตือนภัย 6 กลุ่มเสี่ยง

ปี’66 อากาศร้อนทำตาย 37 ราย สบส.ดึง อสม.-อสส.ร่วมเตือนภัย 6 กลุ่มเสี่ยง 

วันนี้ (19 มีนาคม 2567) นพ.สามารถ ถิระศักดิ์ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ว่า ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดการณ์ว่าจะเกิดภาวะ “ภัยร้อน” ในหลายจังหวัดทั่วประเทศ ในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2567 โดยรัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับ สธ. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกันปัญหา ตลอดจนผลกระทบต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชน ทั้งนี้ โดยข้อมูลจากกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ระบุว่า ในระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2566 พบรายงานผู้เสียชีวิตจากภาวะอากาศร้อนมากถึง 37 ราย

“ดังนั้น เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดต่อสุขภาพจากภาวะภัยร้อน และเสริมสร้างความรอบรู้ให้ประชาชนสามารถดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสม สบส.ซึ่งมีภาคีเครือข่ายภาคประชาชน เช่น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) อยู่ภายใต้การกำกับดูแลกว่า 1.07 ล้านคน จึงส่งหนังสือแจ้งเวียนถึงประธานชมรม อสม. และประธานชมรม อสส. ทั่วประเทศ สื่อสารไปถึงพี่น้อง อสม. และ อสส. และเผยแพร่ข้อมูลสื่อความรู้เกี่ยวกับโรคลมแดด (Heat Stroke)  ผ่านแอพพลิเคชั่น SMART อสม. ให้พี่น้อง อสม. และ อสส. ได้นำความรู้ที่ได้ไปใช้ในการเฝ้าระวังโรคที่เกิดจากภาวะภัยร้อน อย่างโรคลมแดด ซึ่งเป็นโรคอันตรายที่พบได้บ่อยในช่วงหน้าร้อน” นพ.สามารถกล่าว

Advertisement

รองอธิบดี สบส.กล่าวว่า ลมแดด เกิดจากร่างกายได้รับความร้อนมากเกินไป จนความร้อนในร่างกายสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ส่งผลให้เกิดอาการวิงเวียน ปวดศีรษะ มึนงง หน้ามืด คลื่นไส้ อาเจียน จนถึงขั้นชักเกร็ง และหมดสติ ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายต่ออวัยวะสำคัญ หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องอย่างทันท่วงที อาจถึงขั้นพิการและเสียชีวิตได้ โดย อสม. และ อสส. ดำเนินการเชิงรุก ลงให้ความรู้แก่ประชาชนในการป้องกันตัวจากโรคลมแดด

“โดยเฉพาะ 6 กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ 1.เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และผู้สูงอายุ 2.ผู้ที่ทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแดด 3.ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง ฯลฯ 4.ผู้ที่มีภาวะอ้วน 5.ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ และ 6.ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก ให้หลีกเลี่ยงการออกไปในพื้นที่แดดจัด สวมเสื้อผ้าที่โปร่งระบายอากาศได้ดี ดื่มน้ำให้เพียงพอ งดดื่มสุรา/กาแฟ และงดการร่วมกิจกรรมกลางแจ้งขณะแดดจัด พร้อมให้คำแนะนำแก่ประชาชนในการช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้มีอาการป่วยด้วยโรคลมแดด โดยนำผู้ป่วยเข้าในสถานที่ร่มหรือมีอุณหภูมิที่เย็น ถอดเสื้อผ้าและคลายเครื่องแต่งกายในท่านอนหงายยกขาสูง และอาจเช็ดตัวด้วยผ้าชุบน้ำเย็น ใช้ถุงน้ำแข็งวางบริเวณศีรษะ ลำคอ รักแร้ ขาหนีบ ใช้สเปรย์น้ำเย็นพ่น หรือฝักบัว ระหว่างที่รอรถพยาบาล” นพ.สามารถกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image