สปสช. เยี่ยมรพ.สรรพสิทธิประสงค์ ชูโครงการฟันเทียม เฉลิมพระเกียรติในหลวง ดูแลปชช.เขตสุขภาพ 10

สปสช. เยี่ยมรพ.สรรพสิทธิประสงค์ ชูโครงการฟันเทียม เฉลิมพระเกียรติในหลวง ดูแลปชช.เขตสุขภาพ 10

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม ที่ อาคาร 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ โรงพยาบาล (รพ.) สรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย ทพญ.วรางคนา เวชวิธี รก.ทันตแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ นางมลุลี แสนใจ ผอ.สปสช.เขต 10 อุบลราชธานี เดินทางลงพื้นที่เยี่ยมชมโครงการฟันเทียม รากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 และต้นแบบ Teledent @home /Teledent @client hospital/ Teledent@central prison โดยมี นพ.สมฤกษ์ จึงสมาน ผู้ตรวจราชการเขตสุขภาพที่ 10 นพ.ธีระพงษ์ แก้วภมร นพ.สสจ.อุบลราชธานี นพ.มนต์ชัย วิวัฒนาสิทธิพงศ์ ผอ.รพ.สรรพสิทธิประสงค์ และ ทพ.วุฒิชัย ตั้งสิริสุธีกุล ทันตแพทย์ชำนาญการพิเศษ ต้อนรับและนำเสนอโครงการฟันเทีนมและรากฟันเทียมฯ

ทพ.วุฒิชัย กล่าวถึงผลการดำเนินงานว่า โครงการนี้ได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน เริ่มตั้งแต่สำนักงานเขตสุขภาพที่ 10 ที่ช่วยงบประมาณดำเนินโครงการ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) สำนักทันตสาธารณสุข สถาบันทันตกรรม ศูนย์อนามัย ที่ 10 Service plan สาขาสุขภาพช่องปาก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลทั้ง 5 จังหวัดในเขตสุขภาพที่ 10 และหัวหน้า กลุ่มงานทันตกรรม ของโรงพยาบาลทั้ง 5 จังหวัดในเขตสุขภาพที่ 10 ที่คอยช่วยเหลือ สร้างระบบ สนับสนุนด้านวิชาการการบริหารจัดการ และ จัดสรร วัสดุอุปกรณ์ในการทำงาน ฟันเทียมและรากฟันเทียม ส่วน รพ.สรรพสิทธิประสงค์ ร่วมกับโรงพยาบาลในเครือข่ายทำหน้าที่ตั้งแต่การคัดกรอง การจัดบริการ และการติดตามผลหลังใส่ฟันเทียมหรือรากฟันเทียมทพ.วุฒิชัย กล่าวว่า ขั้นตอนการดำเนินงานจะเริ่มตั้งแต่การคัดกรอง โดยได้รับความร่วมมือจากโรงพยาบาลในเครือข่ายในการคัดกรองและส่งรายงานผ่าน Google form นอกจากนี้ ทีมของ รพ.สรรพสิทธิประสงค์ยังออกคัดกรองเชิงรุกร่วมกับลูกข่ายตามอำเภอต่างๆ ทั้งการออกหน่วย พอ.สว. ร่วมกับทีมสำนักงานทันตสาธารณสุข การออกหน่วยกับสหวิชาชีพ ตามโครงการ พาแพทย์สู่ชุมชน และพยายามสร้างระบบการทำงานที่มีความเชื่อมโยงตั้งแต่ปฐมภูมิทุติยภูมิและตติยภูมิ ตามคำแนะนำของผู้อำนวยการ รพ.สรรพสิทธิประสงค์ และในพื้นที่เรือนจำ ตามโครงการราชทัณฑ์ปันสุข ภายใต้การสนับสนุนของ ผบ.เรือนจำกลางอุบลราชธานีและทีมงาน

ทพ.วุฒิชัย กล่าวว่า ขณะเดียวกัน จะเป็นการเตรียมช่องปากก่อนหัตถการ โดยผู้ป่วยจะได้รับการเตรียมช่องปากที่โรงพยาบาลชุมชน โดยในกระบวนนี้จะมีการ Teleconsult แก่ทันตแพทย์ที่ยังขาดทักษะและประสบการณ์ในโรงพยาบาลชุมชน หรือในกรณีที่ผู้ป่วยมีโรคประจำตัวหรือมีความเสี่ยงก็จะมีการปรึกษากับอายุรแพทย์เพื่อประเมินและจัดการ เตรียมผู้ป่วยให้พร้อมและปลอดภัยก่อนทำหัตถการ รากฟันเทียม

Advertisement

“อย่างไรก็ตาม หลังจากเตรียมช่องปากแล้ว โรงพยาบาลชุมชนที่ทันตแพทย์ขาดทักษะและประสบการณ์ หรือไม่มีเครื่องมือ จะส่งตัวผู้รับบริการมาฝังรากฟันที่ รพ.สรรพสิทธิประสงค์ พร้อมทั้งเป็นการฝึกทักษะการทำหัตถการ และดูแลอย่างใกล้ชิดแบบรายบุคคล แก่ทันตแพทย์ที่ยังขาดประสบการณ์ไปด้วยในตัว และเมื่อฝังรากฟันเทียมแล้ว จะมีการติดตามผลการรักษาผ่านระบบ Teledentistry ซึ่งทีมงานในพื้นที่ตั้งแต่ อสม.ไปจนถึงบุคลากรของโรงพยาบาลชุมชนจะได้ฝึกใช้ งานระบบทันตกรรมทางไกล ในวันที่ผู้ป่วยมารับการผ่าตัด” ทพ.วุฒิชัย กล่าว

ทั้งนี้ ทพ.วุฒิชัย กล่าวว่า ข้อดีของการจัดระบบในลักษณะนี้ ช่วยลดจำนวนครั้งการเดินทางมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลแม่ข่ายจาก 8 ครั้ง เหลือ 2 ถึง 3 ครั้ง และถ้าต้องปรึกษาแพทย์ร่วมด้วยก็จะลดจาก 10 ครั้งเหลือ 2-3 ครั้ง ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ลดค่าเสียโอกาสของลูกหลานที่ต้องพาผู้สูงวัยมารับบริการที่โรงพยาบาลแม่ข่าย และ ดูแลให้ครอบคลุมถึง กลุ่มเปราะบาง อย่างเช่น ผู้ต้องขังในเรือนจำมีโอกาสการเข้าถึงบริการมากขึ้น ยกระดับการให้บริการผู้ป่วยต้องขังให้เข้าถึงการให้บริการรากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติ และยังเป็นการเพิ่มศักยภาพการให้บริการด้านทันตกรรมในหน่วยบริการลูกข่ายด้วยขณะที่ ทพ.อรรถพร กล่าวว่า โครงการฟันเทียม รากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติฯ เป็นการสืบสานพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการแก้ปัญหาให้ผู้ที่สูญเสียฟันทั้งปากให้ได้รับฟันเทียมเพื่อให้สามารถรับประทานอาหารได้ดีขึ้น ส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพใจที่แข็งแรง มีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยโครงการนี้มีหลายหน่วยงานที่ร่วมดำเนินการ และ สปสช. ก็เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ร่วมสนับสนุนโครงการนี้ โดยได้เพิ่มสิทธิประโยชน์รากฟันเทียมแก่ผู้ที่สูญเสียฟันทั้งปาก หรือ ผู้ที่มีปัญหาใส่ฟันเทียมแล้วหลวมโยกและจำเป็นต้องใส่รากฟันเทียมเพื่อยึดฟันเทียมให้แน่นขึ้น

ด้าน ทพญ.วรางคนา กล่าวว่า โครงการนี้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ วันที่ 1 ต.ค.2565 ถึงวันที่ 30 ก.ย.2567 โดยมีเป้าหมายผู้รับบริการ 72,000 ราย ในส่วนของผู้มีสิทธิบัตรทองสามารถเข้ารับการใส่ฟันเทียมและรากฟันเทียมที่โรงพยาบาลรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และไม่จำเป็นต้องเป็นหน่วยบริการประจำตามสิทธิการรักษาของแต่ละคน แต่ขอให้เป็นหน่วยบริการใกล้บ้านเพื่อความสะดวกรักษาต่อเนื่อง ขณะที่ผู้ประกันตนรับบริการได้ที่โรงพยาบาลเอกชนและคลินิกทันตกรรมเอกชนในระบบประกันสังคม และผู้มีสิทธิข้าราชการเข้ารับบริการได้ที่โรงพยาบาลรัฐทุกแห่ง

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image