สธ. รณรงค์ทุกภาคส่วนร่วม “ยุติวัณโรค เราทำได้” เผยตัวเลขคนไทยดับทะลุ 1.2 หมื่นคนต่อปี

สธ. รณรงค์ทุกภาคส่วนร่วม “ยุติวัณโรค เราทำได้” เนื่องในวันวัณโรคสากลปี 2567 เผยตัวเลขคนไทยดับทะลุ 1.2 หมื่นคนต่อปี เตรียมแผนเร่งรัดคัดกรองวัณโรคทุกกลุ่มเสี่ยง เข้าสู่ระบบการรักษาลดการแพร่เชื้อ

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข รศ.นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย ศ.เกียรติคุณนพ.อรรถ นานา นายกสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ นพ.นิติ เหตานุรักษ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค และ นพ.จอส ฟอนเดลาร์ (Dr.Jos Vandelaer) ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ร่วมกันแถลงข่าวรณรงค์ยุติวัณโรคเนื่องในวันวัณโรคสากล ปี 2567

รศ.นพ.เชิดชัยกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะที่เป็นส่วนราชการที่รับผิดชอบและนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติโดยตรง และให้ความสำคัญถึงปัญหาวัณโรคมาโดยตลอด มีแผนงานและกิจกรรมที่จะผลักดัน ขับเคลื่อนนโยบายการดำเนินงานป้องกัน ดูแล รักษา และควบคุมวัณโรคของประเทศ เพื่อลดอัตราป่วยและอัตราตายจากวัณโรค ซึ่งการดำเนินงานจะประสบความสำเร็จไม่ได้ หากไม่ได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่าย จึงขอขอบคุณภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนทุกๆ ระดับของการดำเนินงานมา ณ ที่นี้ด้วย และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เราจะได้รับความร่วมมือที่ดีอย่างนี้ตลอดไป

รศ.นพ.เชิดชัยกล่าวว่า ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เราได้ทำงานกันอย่างหนักกับการควบคุมโรคโควิด-19 แต่เราก็ยังทุ่มเททำงานการควบคุมป้องกันวัณโรค ควบคู่ไปด้วยกันจนประสบความสำเร็จ “Success stories : the journey of Thailand” อันได้แก่ 1.สามารถทำให้ประเทศไทยพ้นออกจากกลุ่มประเทศที่มีปัญหาด้านจำนวนและอัตราป่วยวัณโรคดื้อยาหลายขนานสูงที่สุดของโลกได้ในปี พ.ศ.2564 2.สามารถผลักดันนโยบายในการเพิ่มสิทธิประโยชน์ 7 กลุ่มเสี่ยงสูงต่อวัณโรคเข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ในปี พ.ศ.2565 3.มีการค้นหาคัดกรองตรวจวินิจฉัยด้วยการ X-ray ปอดและตรวจเสมหะด้วยเทคนิคทางโมเลกุล ระดับอณูชีววิทยา ตลอดจนขึ้นทะเบียนรักษาผู้ป่วยวัณโรค และวัณโรคดื้อยาด้วยสูตรยาระยะสั้นและยาใหม่ๆ ในทุกสถานพยาบาลทั่วประเทศ 4.ขยายเครือข่ายการตรวจหาการติดเชื้อวัณโรคระยะแฝง เพื่อเข้าสู่ระบบการรักษาการติดเชื้อวัณโรคระยะแฝงในกลุ่มผู้สัมผัสครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ

Advertisement

5.พัฒนาโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ AI การถ่ายภาพรังสีทรวงอก เพื่อคัดกรองเชิงรุกในประชากร กลุ่มเสี่ยง พร้อมนำไปติดตั้งกับระบบเครื่องเอกซเรย์บนรถหน่วยบริการเคลื่อนที่ภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ 6.พัฒนาโปรแกรมระบบฐานข้อมูล การบริหารจัดการผู้ป่วยวัณโรคของประเทศไทย (NTIP) และได้จดลิขสิทธิ์โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ใช้เป็นฐานข้อมูลหนึ่งเดียวของประเทศไทย กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา 7.พัฒนาความร่วมมือในระดับต่างๆ ทั้งในโรงพยาบาล มหาวิทยาลัยในสถาบันการศึกษาทางการแพทย์ กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมมือในการเร่งรัดคัดกรองวัณโรคเชิงรุกในเรือนจำ กระทรวง ยุติธรรม ตามโครงการราชทัณฑ์ปันสุข ทำความดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และ 8.พัฒนาความร่วมมือในระดับนานาชาติทั้งในเรื่องการทบทวนแผนงานวัณโรคแห่งชาติ การศึกษาวิจัยวัณโรคระยะแฝง การดำเนินงานควบคุมวัณโรคในประชากรข้ามชาติ และพื้นที่ชายแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ตลอดจนได้เตรียมการสำรวจความชุกของวัณโรคระดับชาติของประเทศไทยร่วมกับนานาชาติอีกด้วยด้าน นพ.นิติกล่าวว่า วันวัณโรคสากล (World TB Day) ตรงกับวันที่ 24 มีนาคมของทุกปี ในปีนี้องค์กรต่างๆ ในระดับนานาชาติ ได้กำหนดข้อความสื่อไปถึงทุกภาคส่วนร่วมกันรณรงค์ในทิศทางเดียวกัน คือ YES! WE CAN END TB หรือ “ยุติวัณโรค เราทำได้” เพื่อเป็นข้อความสื่อไปถึงทุกภาคส่วนร่วมกันรณรงค์ไปในทิศทางเดียวกัน ว่าวัณโรคยังคงเป็นโรคติดต่อที่เป็นนักฆ่าที่อันตรายที่สุดในโลก โดยในแต่ละวันจะมีคนเสียชีวิตจากวัณโรคกว่า 4,000 คน และเกือบ 30,000 คน ล้มป่วยด้วยวัณโรคในทุกๆ วัน ส่วนประเทศไทย ในปี พ.ศ.2566 ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลกได้ประมาณการณ์ว่า มีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ 111,000 รายต่อปี และมีการเสียชีวิตเนื่องจากวัณโรคกว่า 12,000 รายต่อปี

นพ.นิติกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ความสำคัญ และตระหนักในปัญหาวัณโรคมาตลอด และได้ดำเนินงานควบคุมวัณโรคตามแผนปฏิบัติการระดับชาติด้านการต่อต้านวัณโรคให้เป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ยุติวัณโรค (End TB Strategy) ในปี พ.ศ.2578 โดยเน้นและให้ความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ คือ 1.เร่งรัดการค้นหา และตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยวัณโรคและผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาในทุกกลุ่มเสี่ยง 2.ยกระดับการดูแลรักษาผู้ป่วยวัณโรคและผู้ป่วยวัณโรคดื้อยา 3.เพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงการวินิจฉัยการรักษาการติดเชื้อวัณโรคระยะแฝง และการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ 4.เสริมสร้างความเข้มแข็งระบบสนับสนุนการดําเนินงานวัณโรค และ 5.ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการป้องกัน ดูแลรักษา และควบคุมวัณโรค มุ่งมั่นในการดำเนินงานเพื่อยุติวัณโรค เพื่อลดอัตราการตายจากวัณโรคลง ร้อยละ 95 และลดผู้ป่วยรายใหม่ลง ร้อยละ 90 ภายในปี พ.ศ.2578ขณะที่ นพ.จอสกล่าวว่า ท่ามกลางความท้าทายประเทศไทยมีความก้าวหน้าและประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรวมบริการตรวจวินิจฉัยและรักษาวัณโรคผ่านชุดสิทธิประโยชน์ภายใต้โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (UHC) ความคิดริเริ่มนี้เป็นการรับประกันว่าทุกคนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นโดยไม่มีภาระทางการเงิน นอกจากนี้ ประเทศไทยยังนำแนวทางขององค์การอนามัยโลกเกี่ยวกับการรักษาวัณโรคเชิงป้องกัน (TPT)) ซึ่งเป็นมาตรการเชิงรุกในการหยุดยั้งโรคก่อนที่จะเริ่มแพร่ระบาดในกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยง ในปี พ.ศ.2566 จากการประชุมระดับสูงของสหประชาชาติว่าด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (UN High-Level Meeting on UHC) ได้กำหนดเป้าหมายระดับโลกสำหรับการวินิจฉัยและการรักษาวัณโรคที่จะบรรลุผลภายในปี พ.ศ.2570

“ความท้าทายยังคงมีอยู่ในการบรรลุเป้าหมายระดับโลก จำเป็นต้องแก้ไขปัจจัยทางสังคมที่เป็นตัวกำหนดโรควัณโรค เช่น ภาวะทุพโภชนาการ ความยากจน การสูบบุหรี่ การใช้แอลกอฮอล์อย่างอันตราย การติดเชื้อร่วม และวิถีชีวิต ผ่านการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานที่เข้มแข็งและยั่งยืน (PHC) และแนวทางแบบสหสาขาวิชาชีพ กลยุทธ์เหล่านี้ควรอยู่บนพื้นฐานของแนวทางที่มุ่งเน้นผู้คน เพื่อปรับปรุงการเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ ครอบคลุม และราคาไม่แพงอย่างเท่าเทียมกันด้วยระบบการส่งต่อที่มีประสิทธิภาพไปยังระดับการดูแลอื่นๆ รวมถึงความครอบคลุมของผู้ย้ายถิ่นภายใต้โครงการประกันสังคม วันนี้เพื่อเป็นการรำลึกถึงวันวัณโรคโลก เราขอแสดงความเสียใจต่อผู้ป่วยหลายล้านคนทั่วโลก และผู้ที่เสียชีวิต และเรายังขอขอบคุณความพยายามอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยของบุคลากรทางการแพทย์ ชุมชน ภาคประชาสังคม ผู้สนับสนุน พันธมิตร และผู้บริจาคที่ทำงานเพื่อยุติวัณโรค” นพ.จอสกล่าว ศ.เกียรติคุณนพ.อรรถ กล่าวว่า สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ตระหนักถึงปัญหานี้มาโดยตลอด และได้สืบสานงานด้านยุติวัณโรค ตามพระราชปณิธานในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรมพระบรมราชชนก ในภารกิจการดำเนินงานต่อต้านวัณโรค โดยสนับสนุนร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์และสาธารณสุข และองค์กรอื่นๆ ที่มีวัตถุประสงค์คล้ายคลึงกันในการรักษา ควบคุม ป้องกัน และกำจัดวัณโรคให้หมดไป โดยสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ มีวิธีการปฏิบัติที่ตั้งไว้ ดังต่อไปนี้ 1.ส่งเสริมและสนับสนุนกิจการตรวจวินิจฉัย และรักษาผู้ป่วยวัณโรค 2.ดำเนินการและร่วมมือในด้านสาธารณสุข เพื่อป้องกันและควบคุมวัณโรค 3.ดำเนินการและร่วมมือในการวิจัยเรื่องวัณโรค และเผยแพร่ความรู้เรื่องวัณโรคให้แก่ กลุ่มสหวิชาชีพต่างๆ และ 4.ดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ การสุขศึกษา ความรอบรู้เรื่องวัณโรคให้แก่ประชาชนปฏิบัติการอื่นๆ อันจะพึงบังเกิดคุณประโยชน์ต่อประชาชน และประเทศชาติ ต่อไป

Advertisement

“วัณโรคเป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจ ที่แพร่เชื้อจากผู้ป่วยจากการไอ จาม พูดคุย คนที่ได้รับเชื้อจะมีโอกาสป่วยเป็นวัณโรค เมื่อป่วยก็จะส่งผลกระทบต่อผู้ป่วย และครอบครัว แต่เป็นโรคที่ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด เพราะสามารถรักษาหายได้ โดยกินยาอย่างต่อเนื่องตามแพทย์สั่ง ประมาณ 6 เดือน โดยต้องรีบตรวจหา หรือวินิจฉัยให้เร็ว เมื่อมีอาการผิดปกติ หรือเมื่อเรารู้ว่าเป็นผู้สัมผัสร่วมบ้าน ผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยวัณโรค ให้รีบตรวจหาวัณโรคให้เร็วที่สุดในโรงพยาบาล หรือสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน เพื่อเข้าสู่กระบวนการการรักษาตามมาตรฐาน วัณโรครักษาหายได้ ลดการแพร่กระจายเชื้อไปสู่คนอื่น และมีทัศนคติที่ดี ไม่แบ่งแยก ไม่ลดคุณค่า ไม่เลือกปฏิบัติต่อผู้ป่วยวัณโรค ประชาชนสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่กองวัณโรค โทร. 0 2211 2224 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422” ศ.เกียรติคุณนพ.อรรถกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image