กรมสุขภาพจิตชวนสังคมเฝ้าระวังผู้มีปัญหาจิตเวชเสี่ยงก่อความรุนแรง ย้ำ! ต้องรักษา

กรมสุขภาพจิตชวนสังคมเฝ้าระวังผู้มีปัญหาจิตเวชเสี่ยงก่อความรุนแรง ย้ำ! ต้องรักษา

จากกรณีดาราดังโพสต์ข้อความกังวลในพฤติกรรมของผู้ป่วยจิตเวชที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่พัก ที่มีการแจ้งความเพื่อลงบันทึกประจำวัน ต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปรับเรื่องร้องเรียนและตรวจสอบที่เกิดเหตุ และมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจากโรงพยาบาลด้านจิตเวชที่เกี่ยวข้องเข้าไปทำการติดตามและดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดแล้วนั้น

วันนี้ (24 มีนาคม 2567) นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ชื่นชมและขอบคุณทุกภาคส่วนที่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ และโรงพยาบาลที่เกี่ยวข้องเข้าไปทำการติดตามและดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดในเวลาต่อมา ซึ่งประเด็นนี้ แม้ สธ.มีนโยบายที่จะผลักดันผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติดเข้าสู่ระบบการดูแลรักษาต่อเนื่อง ให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตในชุมชนได้อย่างปกติ แต่มาตรการที่ควรดำเนินการควบคู่กัน คือ การกินยาอย่างต่อเนื่องของผู้ป่วย การเฝ้าระวัง และช่วยกันเป็นหูเป็นตาที่จะสังเกตพฤติกรรมเสี่ยง ได้แก่ ดื่มสุราและใช้ยาเสพติด ทำให้อาการกำเริบได้ ซึ่งสิ่งที่ประชาชนในพื้นที่จะร่วมกันเฝ้าระวังสามารถทำได้จากการสังเกตสัญญาณเตือนของบุคคลที่จะนำมาซึ่งความรุนแรง ได้แก่ 5 สัญญาณเตือนอันตราย คือ นอนไม่หลับ เดินไปมา พูดคนเดียว หงุดหงิดฉุนเฉียว และหวาดระแวง ที่บ่งบอกถึงความจำเป็นที่ต้องเข้ารับการรักษา

Advertisement

ด้าน นพ.จุมภฏ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สุขภาพจิต ได้มีการกำหนดกฎหมายเพื่อคุ้มครองประชาชนโดยทั่วไป ซึ่งตามมาตรา 22 บุคคลที่มีความผิดปกติทางจิตกรณีใดกรณีหนึ่งนี้ เป็นบุคคลที่ต้องได้รับการบำบัดรักษา คือ 1.มีภาวะอันตราย และ 2.มีความจำเป็นต้องได้รับการบำบัดรักษา โดยมาตรา 23 ผู้ใดพบบุคคลซึ่งมีพฤติการณ์อันน่าเชื่อว่าบุคคลนั้นมีลักษณะตามมาตรา 22 ให้แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ พนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจโดยไม่ชักช้า และให้นำผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางจิตส่งสถานพยาบาลเพื่อให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยอาการ หากประชาชนรายใดพบบุคคลใกล้ชิด หรือบุคคลทั่วไปที่แสดงอาการผิดปกติหรือมีอาการกำเริบ หากมีแนวโน้มความรุนแรงมากและเป็นอันตราย สามารถโทรศัพท์แจ้งเหตุเจ้าหน้าที่ตำรวจ/ฝ่ายปกครอง/เจ้าหน้าที่สาธารณสุข สายด่วนตำรวจ 191 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

“ในกรณีที่ต้องการรักษาและอาการไม่รุนแรง สามารถโทรขอคำปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323
ทั้งนี้ กรมสุขภาพจิตขอให้ประชาชนทุกคนเข้าใจและให้โอกาสผู้ป่วยจิตเวช ให้สามารถที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้ในสังคมอย่างเป็นปกติ เพราะผู้ป่วยจิตเวชเป็นเพียงผู้ที่มีอาการการเจ็บป่วยชนิดหนึ่ง ไม่ได้หมายถึงเป็นผู้ที่ไร้ความสามารถ หากได้รับการดูแลสนับสนุนและได้รับโอกาสดีๆ จากญาติ ผู้นำชุมชนและคนรอบข้าง ก็สามารถที่จะใช้ชีวิตตามปกติได้ และหากเมื่อใดที่มีอาการกำเริบ ให้นำส่งโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์ปรับการรักษาก็จะทำให้คนในชุมชนและสังคมมีความสุขและปลอดภัย” นพ.จุมภฏกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image