มาแบบไหนก็พร้อม! กทม.จ้อง ‘พายุฤดูร้อน-ฝนนอกฤดู’ เผยบางนา-บางเขน ‘ขยะตันท่อ’ ประจำ

มาแบบไหนก็พร้อม! กทม.จ้อง ‘พายุฤดูร้อน-ฝนนอกฤดูกาล’ เผย บางนา-บางเขนเจอประจำ ‘ขยะตันท่อ’

เมื่อวันที่ 25 มีนาคม ที่ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 6/2567

โดยภายหลังการประชุม นายวิษณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงมาตรการการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือน้ำท่วมว่า เนื่องจากช่วงอากาศเริ่มร้อน และเริ่มมีพายุฝนฟ้าคะนองบ้าง กทม.ไม่ได้นิ่งนอนใจ จึงได้เร่งรัดในการดำเนินการทุกเรื่องทั้งการขุดลอกคูคลองตามแผน การดูแลจุดเสี่ยง ที่พบเมื่อปี 2565“เรื่องที่ต้องระวังคือฝนนอกฤดูกาล ต้องเฝ้าระวังพื้นที่ก่อสร้าง ซึ่งต้องกำชับทั้งโครงการที่อยู่ในความดูแลของ กทม.และโครงการที่ตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร” นายวิษณุกล่าว

นายวิษณุชี้ว่า จุดอ่อนน้ำท่วมเดิม ในขณะนี้พบว่ามีการระบายได้ดีมากขึ้น แต่ 10 จุดที่ท่วมเดิม เช่น ถนนเพชรเกษม เขตบางแค ต้องมีการปรับปรุงเพิ่มเติม ทั้งการติดตั้งบ่อสูบ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติม ที่ต้องระวังคือการเคลียร์ขยะหน้าตะแกรง เมื่อเริ่มตกทีมงานต้องเตรียมการทันที

Advertisement

“ตอนนี้เราทราบข้อมูลทุกจุดแล้ว ที่เห็นว่าตกแล้วมีน้ำท่วมคือ เกิดจากขยะอุดตัน จึงต้องรีบไปเคลียร์ขยะในจุดนั้นๆ โดยเฉพาะจุดที่เห็นประจำทั้งบางนา บางเขน” นายวิษณุกล่าว

ขณะที่ นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในพื้นที่ กทม.จริงๆ แล้วมีพื้นที่น้ำท่วมหลายจุดที่ไม่ได้อยู่ในอำนาจการดูแลของ กทม.แต่เราจะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ เพราะฉะนั้น การประสานความร่วมมือกับทุกหน่วยงานจึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด

Advertisement

“จากการสังเกตพบว่าจุดอ่อนน้ำท่วม ถึงแม้จะยังท่วมอยู่แต่มีระยะเวลาที่สั้นลง เดิมอาจใช้เวลาเป็นวัน แต่ขณะนี้ได้กำชับให้เร่งระบายน้ำให้เร็วที่สุด ซึ่งอาจใช้เวลาเป็นรายชั่วโมง สำหรับในการประชุมวันนี้ก็มีการรายงานจำนวนพื้นที่ที่มีการเตรียมพร้อมลอกท่อ คูคลอง ไปแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องตามแผนงานปกติ” นายเอกวรัญญูเผย

นอกจากนี้ ในที่ประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร สำนักการระบายน้ำ สำนักการโยธาและสำนักสิ่งแวดล้อม ยังได้รายงานการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์พายุฤดูร้อน ดังนี้

1.สำนักการระบายน้ำ เตรียมพร้อมเรื่องการระบายน้ำและการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขัง ประกอบด้วย การลดระดับน้ำในคลอง การเตรียมพร้อมระบบระบายน้ำ และการเตรียมความพร้อมอุปกรณ์และเจ้าหน้าที่ โดยภาพรวมการขุดลอกคลอง รวมทั้งสิ้น 217,930 เมตร ขุดลอกได้ 93,655 เมตร (42.97%) การเปิดทางน้ำไหล ดำเนินการรอบที่ 1 แล้วเสร็จ อยู่ระหว่างดำเนินการรอบที่ 2 การล้างท่อระบายน้ำใน กทม. ความยาวประมาณ 6,807 กม. แบ่งเป็น สำนักการระบายน้ำ 2,083 กม. สำนักงานเขต 4,724 กม. แล้วเสร็จ 44.4% ที่เหลืออยู่ระหว่างดำเนินการ

การเตรียมความพร้อมล้างทำความสะอาดและบำรุงรักษาอุโมงค์ระบายน้ำ 3 แห่ง เสร็จแล้ว 1 แห่ง ประตูระบายน้ำ จำนวน 242 แห่ง แล้วเสร็จ 174 แห่ง 72% และสถานีสูบน้ำ จำนวน 188 แห่ง แล้วเสร็จ 153 แห่ง 72% นอกจากนี้ยังได้เตรียมพร้อมบำรุงรักษา และติดตั้งเครื่องสูบน้ำไฟฟ้า ตู้เมนไฟฟ้า ตู้ควบคุมเครื่องสูบน้ำ ตามแผนประจำปี 2567

2.สำนักการโยธา ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของป้ายต่างๆ ดำเนินการดังนี้ ตรวจสอบตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ สำหรับป้ายที่เข้าข่ายต้องยื่นรายงานการตรวจสอบงานออกแบบโครงสร้าง ต้องสูงตั้งแต่ 10 เมตรขึ้นไป และมีพื้นที่ 50 ตารางเมตร ขึ้นไปตรวจสอบโดยวิศวกร สาขาวิศวกรรมโยธา และป้ายที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ ป้ายที่เข้าข่ายต้องยื่นรายงานการตรวจสอบอาคาร คือ มีความสูงตั้งแต่ 15 เมตรขึ้นไป มีพื้นที่ 50 ตารางเมตร ขึ้นไป หรือป้ายบนอาคารที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 25ตารางเมตรขึ้นไป ตรวจสอบโดยผู้ตรวจสอบอาคารที่ได้ขึ้นทะเบียนกับกรมโยธาธิการและผังเมือง

ทั้งนี้ อำนาจหน้าที่ในการขออนุญาตก่อสร้างป้าย/ออกใบรับรองการตรวจสอบอาคาร (แบบ ร.1) ประกอบด้วย อำนาจของสำนักงานเขต ป้ายทุกชนิด ยกเว้น ป้ายชื่อสถานีบริการน้ำมัน และป้ายที่ติดตั้งบนอาคารสูง และอำนาจของสำนักการโยธา ป้ายที่ติดตั้งบนอาคารสูงและอาคารขนาดใหญ่พิเศษ/ป้ายชื่อสถานีบริการน้ำมัน

3.สำนักสิ่งแวดล้อม ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของต้นไม้ใหญ่ ได้กำชับให้สํารวจตรวจสอบสภาพต้นไม้ใหญ่และความแข็งแรงของวัสดุค้ำยัน โดยซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพที่แข็งแรงสามารถพยุงค้ำยันค้นไม้ได้ รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนตรวจสอบต้นไม้ใหญ่ในบริเวณพื้นที่ของตนเองและตัดแต่งกิ่งไม้เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดจากการหักโค่นล้มของต้นไม้ นอกจากนี้ได้กำชับให้สำนักงานเขต 50 เขต ซักซ้อม เตรียมความพร้อมของหน่วยเบสท์เป็นประจำ โดยต้องเตรียมพร้อมตลอด 24 ชั่วโมง

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image