เปิดค่าจ้างจริงเฉลี่ย 10 จังหวัด สูงกว่า 400 บาท/ วัน ปลัดแรงงาน เร่งพิจารณาพื้นที่อื่น

เปิดค่าจ้างจริงเฉลี่ย 10 จว. สูงกว่า 400 บาท/วัน ปลัดแรงงาน เผย ต้องการทำภาพให้ชัดขึ้น เตรียมพิจารณาพื้นที่อื่นต่อ

เมื่อวันที่ 27 มีนาคม นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานให้สัมภาษณ์ถึงมติในที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง ชุดที่ 22 ครั้งที่ 3/2567 เมื่อวันที่ 26 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยนำร่องการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทต่อวันในบางพื้นที่ของ 10 จังหวัด ในเฉพาะธุรกิจประเภทกิจการโรงแรม เพื่อใช้สำหรับนายจ้างและลูกจ้างที่ทำงานในสถานประกอบการประเภทกิจการโรงแรมระดับ 4 ดาวขึ้นไป และมีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป ว่า เมื่อมีมติในที่ประชุมไตรภาคีออกมาแล้ว ลำดับต่อไปตนก็จะนำเรื่องแจ้งต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้รับทราบในวันที่ 2 เม.ย. เพื่อให้มีการประกาศใช้ภายในวันที่ 13 เม.ย. ตามที่เคยประกาศเอาไว้ อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำครั้งที่ 2 ของปีนั้น เป็นไปตามนโยบายของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งครั้งนี้มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำไปจนถึง 400 บาทต่อวัน จึงมั่นใจว่าไม่มีปัญหาอะไร

นายพิพัฒน์กล่าวต่อว่า ในที่ประชุมไตรภาคีได้มีความเห็นว่าหลังจากมีการนำร่องในบางพื้นที่แล้ว ก็จะต้องมีการศึกษาผลของการประกาศใช้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่มีการปรับขึ้น หากดูแล้วว่านายจ้างยังเดินต่อไปได้ ก็จะเตรียมศึกษาเพื่อประกาศในพื้นที่ต่อไป ขณะเดียวกัน ก็จะศึกษาในอาชีพอื่นๆ นอกเหนือจากที่ประกาศไปเพิ่มเติมด้วย ว่าจะมีอาชีพอะไรบ้างที่จะปรับขึ้นได้ภายในปี พ.ศ.2567 นี้ แต่ทั้งหมดก็จะต้องมีการหารือร่วมกับท่านนายกรัฐมนตรีก่อน

ด้าน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในระยะนำร่องจะเป็นกลุ่มธุรกิจโรงแรมระดับ 4 ดาวขึ้นไป ในพื้นที่ที่กำหนดใน 10 จังหวัด ได้แก่ 1.กรุงเทพมหานคร เฉพาะเขตปทุมวัน และเขตวัฒนา 2.กระบี่ เฉพาะเขตองค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวนาง 3.ชลบุรี เฉพาะเขตเมืองพัทยา 4.เชียงใหม่เฉพาะเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ 5.ประจวบคีรีขันธ์ เฉพาะเขตเทศบาลหัวหิน 6.พังงา เฉพาะเขตเทศบาลตำบลคึกคัก 7.ภูเก็ตทั้งจังหวัด 8.ระยอง เฉพาะเขตตำบลบ้านเพ 9.สงขลา เฉพาะเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ และ 10.สุราษฎร์ธานี เฉพาะเขตอำเภอเกาะสมุย

Advertisement

เมื่อถามถึงอัตราค่าจ้างจริงเฉลี่ยใน 10 จังหวัดนำร่อง นายไพโรจน์กล่าวว่า จากข้อมูลที่อนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดได้สำรวจมานั้น พบว่าข้อมูลการจ้างงานจริงในแต่ละจังหวัดมีค่าเฉลี่ยที่มากกว่า 400 บาทต่อวัน เช่น กรุงเทพฯ มีค่าจ้างจริงเฉลี่ย 417 บาท ค่าใช้จ่ายตามอัตภาพเฉลี่ย 382 บาท, ชลบุรี ค่าจ้างจริงเฉลี่ย 467 บาท ค่าใช้จ่ายตามอัตภาพ 442 บาท ส่วนค่าจ้างจริงเฉลี่ยในจังหวัดอื่นๆ ประจวบคีรีขันธ์ 507 บาท, เชียงใหม่ 601 บาท, ภูเก็ต 527 บาท, สงขลา 412 บาท, กระบี่ 396 บาท, พังงา 501 บาท และ สุราษฎร์ธานี 361 บาท ส่วนค่าจ่ายจริงตามอัตภาพ ก็ใกล้เคียงกับค่าจ้างจริงที่เฉลี่ยออกมา

ถามต่อว่าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทต่อวันนั้น อาจไม่ได้ส่งผลกระทบเชิงบวกมากนัก เนื่องจากค่าจ้างจริงเฉลี่ยเดิมก็สูงกว่า 400 บาทต่อวันอยู่แล้ว นายไพโรจน์กล่าวว่า เดิมการจ้างงานจริงนั้นสูงกว่า 400 บาทต่อวัน แต่พบว่าบางส่วนก็มีการจ้างงานต่ำกว่า 400 บาทต่อวัน จึงต้องมีการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เพื่อให้มีการปรับขึ้นเท่าๆ กัน

Advertisement

นอกจากนั้น ก็มีการพิจารณาในพื้นที่อื่นๆ เพิ่มเติมด้วย เช่น สุราษฎร์ธานี ที่เราพิจารณาในพื้นที่เกาะสมุยไป ต่อไปก็จะพิจารณาเกาะพงัน หรืออย่าง กรุงเทพฯ ที่พิจารณาเขตปทุมวัน เขตวัฒนาแล้ว ก็จะดูในเขตอื่นๆ เช่น ห้วยขวาง ที่มีโรงแรม 4 ดาวขึ้นไปอยู่มาก หรือเขตที่มีโรงแรม 4 ดาวขึ้นไปตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งนี้ การพิจารณาในเกณฑ์เหล่านี้ ต้องคำนึงถึงความสามารถในการจ้างงานของผู้ประกอบการด้วย ซึ่งโรงแรมระดับ 4 ดาวขึ้นไปในพื้นที่ที่มีการท่องเที่ยวเยอะๆ รายได้ของผู้ประกอบการก็จะมากกว่าพื้นที่อื่นๆ ก็จะสามารถจ่างค่าจ้างในอัตราที่สูงได้

“เราต้องการทำภาพของการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นให้ถึง 400 บาท โดยนำร่องในบางพื้นที่ก่อน ซึ่งช่วงที่ผ่านมามีการถามถึงค่าจ้างขั้นต่ำว่าเมื่อไหร่จะถึง 400 บาท ครั้งนี้เราก็เริ่มทำให้ภาคท่องเที่ยว ภาคโรงแรมก่อน แล้วจะมีภาคธุรกิจอื่นตามมา แต่ก็ต้องอยู่การเสนอของอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดก่อนด้วย ว่าแต่ละจังหวัด และนายจ้างนั้นมีความพร้อมจะปรับขึ้นหรือไม่” นายไพโรจน์กล่าว

เมื่อถามว่ามีการวิเคราะห์ว่าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ผู้ที่จะได้ประโยชน์สูงสุดคือแรงงานต่างชาติมากกว่าแรงงานคนไทย นายไพโรจน์กล่าวว่า ในธุรกิจท่องเที่ยวโรงแรม ส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานไทยมากกว่า แต่ในส่วนของธุรกิจอุตสาหกรรม โรงงาน ส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานต่างชาติมากกว่า

///

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image