กรมควบคุมโรค แนะแนวทางเอาชีวิตรอดในปี’67 จากโรคต้องระวัง-โรคหน้าร้อน

กรมควบคุมโรค แนะแนวทางเอาชีวิตรอดในปี’67 จากโรคต้องระวัง-โรคหน้าร้อน เผย ยังคงพบโควิด-19 ระบาดอยู่

เมื่อวันที่ 27 มีนาคม ที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พญ.จุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค แถลงข่าวประเด็น “อยู่อย่างไร ให้ห่างไกลโรค ปี 2567” ว่า โรคที่อาจเกิดการระบาดในปี 2567 นี้ ได้แก่ 1.โรคไข้หวัดใหญ่ พบผู้ติดเชื้อได้ทุกกลุ่มอายุ ตั้งแต่ต้นปีพบผู้ป่วยแล้วกว่า 90,000 ราย แนะนำประชาชนในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุ หรือ มีโรคประจำตัว ไปรับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ปีละ 1 ครั้ง หากป่วยให้หยุดอยู่บ้านพักผ่อนจนกว่าจะหาย 2.โควิด-19 ยังคงเป็นโรคที่ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ หรือ มีโรคประจำตัว หากป่วยจะมีอาการรุนแรง ตั้งแต่ต้นปีพบผู้ป่วยแล้วกว่า 6,000 ราย เน้นประชาชนควรยังคงรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด หากไปในสถานที่ปิดหรือแออัด ควรสวมหน้ากากอนามัย และล้างมือบ่อยๆ และ 3.โรคไข้เลือดออก ตั้งแต่ต้นปีพบผู้ป่วย 20,590 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็ก 5-14 ปี ขอความร่วมมือประชาชนให้ช่วยกันสำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ตามมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสชิคุนกุนย่า และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา อย่างต่อเนื่อง หากมีอาการสงสัยป่วยไข้เลือดออก เช่น มีอาการไข้สูงลอย คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง มีผื่น มีจุดเลือดที่ลำตัว ไม่ซื้อยามารับประทานเอง ให้รีบไปพบแพทย์ทันที

พญ.จุไรกล่าวว่า โรคติดต่อสำคัญที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ 1.โรคหัด ในปีนี้ผู้ป่วยโรคหัดมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ต้นปี ซึ่งมีรายงานผู้ป่วยสงสัย 503 ราย ผลยืนยันโรคหัด 214 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กเล็ก 1-4 ปี แนะนำผู้ปกครองพาเด็กเล็กเข้ารับวัคซีนป้องกันโรคหัดให้ครบตามกำหนด 2.โรคไอกรน ตั้งแต่ต้นปีพบผู้ป่วยโรคไอกรนเสียชีวิตแล้ว 7 ราย ส่วนใหญ่เป็นในเด็กเล็ก จึงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากในหลายพื้นที่มีความครอบคลุมการฉีดวัคซีนต่ำ แนะนำพาบุตรหลานเข้ารับวัคซีนป้องกันโรคไอกรนตามกำหนด สำหรับเด็กควรรับวัคซีน DTP อย่างน้อย 3 เข็ม และควรฉีดให้หญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์ 20 สัปดาห์ขึ้นไป 3.โรคติดเชื้อไวรัสซิกา ตั้งแต่ต้นปีพบผู้ป่วยแล้ว 101 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอายุ 30-39 ปี เน้นโดยเฉพาะสำหรับหญิงตั้งครรภ์ หากมีอาการไข้ตาแดง ผื่น ให้รีบไปพบแพทย์ และ 4.วัณโรค ยังคงเป็นโรคติดต่อที่อันตราย โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา มีรายงานผู้ป่วยวัณโรค  รายใหม่ 111,000 ราย ขอแนะนำกลุ่มเสี่ยงที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย (รวมเด็ก) หรือไอติดต่อกันเกิน 2 สัปดาห์ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อเอกซเรย์ปอดอย่างน้อยปีละ 1 ครั้งด้าน นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิและโฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคและภัยสุขภาพในช่วงฤดูร้อน ได้แก่ 1.โรคติดต่อทางเดินอาหารและน้ำ อาทิ โรคอาหารเป็นพิษ โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน โรคไวรัสตับเสบเอ และโรคไข้ไทฟอยด์ หรือโรคไข้รากสาดน้อย เป็นต้น ซึ่งอากาศที่ร้อนเหมาะแก่การเจริญเติบโตของเชื้อโรคหลายชนิด ส่งผลให้อาหารบูดเสียได้ง่าย เมื่อเรารับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อโรคเข้าไป ทำให้ป่วยเป็นโรคดังที่กล่าวมา สำหรับการป้องกัน ขอให้ประชาชนตระหนักถึงสุขอนามัย ล้างมือทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร ก่อนปรุงประกอบอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ ขอให้รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ อาหารค้างคืนควรอุ่นร้อนก่อนรับประทาน ทั้งนี้โรคไวรัสตับอักเสบเอ สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน สามารถฉีดให้เด็กได้ตั้งแต่อายุ 1 ปีขึ้นไป จำนวน 2 ครั้ง ห่างกัน 6-12 เดือน

2.ฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM2.5 ในช่วงนี้มีหลายพื้นที่ที่พบปัญหาสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน ขอให้ประชาชนปิดบ้านให้มิดชิด เมื่อออกจากบ้านให้ตรวจเช็กค่าฝุ่น PM2.5 หากค่าฝุ่นเกิน 37.5 mg/m3 ให้สวมหน้ากากสำหรับป้องกันฝุ่น ใช้เวลาอยู่ภายนอกในระยะสั้นๆ และสำหรับผู้ป่วย 4 กลุ่มโรค โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคระบบทางเดินหายใจ โรคผิวหนังอักเสบ และโรคตาอักเสบ ไม่ควรออกจากบ้านเพราะอาจเสี่ยงอาการรุนแรงขึ้น รวมถึงต้องต้องระวังอย่างมากในเด็กเช่นกัน และ 3.การจมน้ำ สถานการณ์การจมน้ำยังคงมีความเสี่ยงสูง ซึ่งในช่วงหน้าร้อนมีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เสียชีวิตจากการจมน้ำสูงที่สุด ส่วนใหญ่เกิดจากเด็กชวนกันไปเล่นน้ำ ขาดความรู้เรื่องกฎความปลอดภัยทางน้ำ ทักษะการเอาชีวิตรอด และวิธีการช่วยเหลือคนตกน้ำที่ถูกต้อง จึงขอให้ผู้ปกครองดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด เมื่อไปใกล้แหล่งน้ำให้สวมอุปกรณ์ เช่น เสื้อชูชีพ หรือมีอุปกรณ์ช่วยลอยน้ำอย่างง่ายให้เด็กไว้กับตัวตลอดเวลา

Advertisement

“นอกจากนี้ ขอแนะนำประชาชนที่จะเดินทางไปต่างประเทศ ควรตรวจสอบข้อมูลโรคที่เกิดการระบาดในประเทศปลายทาง เช่น โรคแอนแทรกซ์ พบผู้ป่วยในประเทศลาว โรคไข้หวัดนก พบผู้ป่วยในประเทศกัมพูชา จีน โรคติดเชื้อสเตรปโตคอคคัส ชนิด เอ พบในประเทศญี่ปุ่น และโรคหัด พบการระบาดในทวีปยุโรปหลายประเทศ เป็นต้น หากจะเดินทางไป ควรศึกษาวิธีป้องกันตนเองอย่างเหมาะสม รวมถึงการรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด ยังคงมีความจำเป็น ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค จะยังคงมาตรการและดำเนินการเฝ้าระวังโรคและภัยสุขภาพที่สำคัญอย่างต่อเนื่อง และเตรียมการรับมือเพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทยต่อไป สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน กรมควบคุมโรค โทร 1422” นพ.วีรวัฒน์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image