สัตวแพทย์แนะซื้อสัตว์มาเลี้ยง พาตรวจสุขภาพก่อน สังเกต 4 อย่าง เสี่ยงโรคทางเดินหายใจ

สัตวแพทย์แนะรับสัตว์มาเลี้ยง ตรวจสุขภาพให้ครบ ชี้น้องพันธุ์หน้าสั้น ตัวเล็ก เสี่ยงโรคหัวใจและทางเดินหายใจสูง

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ผนึกกำลังพันธมิตร จัดงาน “Pet Healthcare 2024 มหกรรมสุขภาพสัตว์เลี้ยงครั้งแรกของไทย” ให้บริการตรวจสุขภาพสัตว์เลี้ยงฟรี โดยคณะสัตวแพทย์ชั้นนำของไทย เวทีเสวนา เวิร์กชอป สินค้าเพื่อสัตว์เลี้ยง พบปะสัตว์เลี้ยงของคนดัง พร้อมแคมเปญสอยดาวเพื่อช่วยเหลือสัตว์เจ็บป่วย ตั้งแต่วันที่ 28-31 มีนาคม เวลา 10.00-20.00 น. ที่ MCC Hall ชั้น 3 เดอะมอลล์ไลฟ์สโตร์ บางกะปิ กรุงเทพฯ

เมื่อเวลา 14.00 น. เริ่มเวทีเสวนา Pet Health Talk ในหัวข้อ “โรคหัวใจและระบบทางเดินหายใจของสัตว์เลี้ยงพี่ต้องรู้” โดย นายสัตวแพทย์ปุณณวิช พิชญไพบูลย์ และ นายสัตวแพทย์วีรภัทร ชวาลวุฒิ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

นสพ.ปุณณวิชกล่าวว่า โรคหัวใจในน้องหมาและแมวเกิดความผิดปกติคล้ายๆ กับคน เกิดที่กล้ามเนื้อหัวใจ คลื่นไฟฟ้าหัวใจ อาการแบ่งเป็น กลุ่มที่ยังไม่แสดงอาการ ค่อนข้างปลอดภัย ส่วนกลุ่มที่แสดงอาการอาจเกิดเสียชีวิตได้เลย ผู้เลี้ยงต้องสังเกตอาการได้จากน้องหมามีอาการหอบ เหนื่อย ไม่ร่าเริง ส่วนน้องแมวสังเกตอาการยาก มีการซ่อนตัว ไม่ค่อยแสดงอาการ แต่สามารถสังเกตจากสีเหงือกและลิ้นที่จะออกเป็นสีม่วงเข้ม ซึ่งเกิดได้ทั้งพันธุกรรมและสิ่งกระตุ้นต่างๆ

Advertisement
นายสัตวแพทย์ปุณณวิช พิชญไพบูลย์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

นสพ.ปุณณวิชกล่าวว่า ในทางพันธุกรรมจะเกิดในสุนัขพันธุ์เล็ก เช่น ชิวาวา ชิสุ มักจะเกิดโรคลิ้นหัวใจเสื่อม ส่วน พันธุ์แควาเลียร์ คิง ชาลส์ สแปเนียล มักเกิดในอายุน้อย อีกทั้งเมื่อคนเลี้ยงสัตว์อย่างดีทำให้สัตว์มีอายุมากขึ้น จะมาพร้อมโรคหัวใจที่เสื่อมตามอายุ ที่พบมากขึ้นเรื่อยๆ เคสที่อันตรายจะอยู่ที่ปลายทางโรค เกิดน้ำท่วมปอด ทำให้หายใจไม่ได้ คลื่นหัวใจไฟฟ้าเต้นผิดจังหวะ ทำให้เสียชีวิตได้

“สายพันธุ์เล็กมีความเสี่ยงมากกว่า มีการผสมพันธุ์เลือดชิด ทำให้มีโอกาสยีนส์ด้อยมาเจอกันได้ ทำให้เกิดความผิดปกติของหัวใจ และทางเดินหายใจได้ง่าย” นสพ.ปุณณวิชกล่าว

นสพ.ปุณณวิชกล่าวว่า เมื่อพบเจอโรคในกลุ่มที่แสดงอาการให้ทำ 3 อย่าง คือ 1.ป้อนยาสม่ำเสมอ สังเกตอาการตอนหายใจไม่เกิน 30 ครั้งต่อนาที ในช่วงพักผ่อน 2.หมอตรวจเจอโรคได้เร็วหรือไม่ 3.ตัวพันธุกรรมสัตว์เองว่ามีความแข็งแรงมากแค่ไหน ส่วนกลุ่มที่ไม่แสดงอาการให้พาไปออกกำลัง 10-15 นาที

Advertisement
นายสัตวแพทย์ปุณณวิช พิชญไพบูลย์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

นสพ.ปุณณวิชกล่าวด้วยว่า เมื่อซื้อสัตว์จากฟาร์มเลี้ยงแนะนำพาน้องไปตรวจกับสัตวแพทย์ รวมถึงตอนนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคหัวใจได้ แต่เน้นตรวจให้เร็ว เพื่อให้โรคดำเนินช้าลง ส่วนโรคพยาธิหนอนหัวใจสามารถป้องกันได้ ไม่ให้น้องโดนยุงกัด ซึ่งเป็นพาหะของโรค หรือให้กินยาเพื่อป้องกันได้ ในโรงพยาบาลสัตว์ หมอจะตรวจด้วยการฟังเสียงปอด เสียงหัวใจ ซึ่งตรวจพบง่ายในสุนัข ส่วนแมวจะมีเสียงเฉพาะคล้ายๆ เสียงฝีเท้าของม้า พอเจออาการเหล่านี้ จะมีการใช้อุปกรณ์อื่นเพิ่มเติม เช่น การถ่ายภาพรังสีวินิจฉัย การอัลตร้าซาวด์หัวใจ

ด้าน นสพ.วีรภัทรกล่าวว่า ส่วนโรคทางเดินหายใจในสัตว์เลี้ยงมีได้ตั้งแต่ส่วนต้นไปถึงส่วนปลาย คือจมูกไปถึงปอด ในสัตว์เด็กมากๆ มาจากการติดเชื้อ เนื่องจากไม่ได้รับวัคซีน อาการเบื้องต้นจะมีการจาม มีน้ำมูก ส่วนการไอ เชื้อจะลงที่ปอด หรือหลอดลมใหญ่แล้ว ส่วนสัตว์ที่แก่แล้วเกิดจากความเสื่อมของร่างกาย จากโรคหัวใจต่อเนื่อง เช่น โรคลิ้นหัวใจรั่ว โรคลิ้นหัวใจโต ไปโดนตัวหลอดลมก็เกิดอาการไอได้

ผู้เลี้ยงสังเกตอาการได้ 4 อย่าง คือ 1.น้ำมูก หรือสารคัดหลั่ง ไม่ว่าจะสีใส สีเขียว หรือเป็นเลือด 2.การจาม เกิดจากการระคายเคืองในจมูก 3.การไอ เกิดในหลอดลมใหญ่ หลอดลมฝอย จนไปถึงปอด 4.การหอบ มีอาการหายใจลำบาก ใช้ช่องท้องในการหายใจ หายใจเข้าออกลึกมากกว่าปกติ ทั้ง 4 อาการควรพบสัตวแพทย์ทันที ส่วนสัตว์ที่แก่แล้วต้องระวังมะเร็งปอด มะเร็งช่องจมูก

นายสัตวแพทย์วีรภัทร ชวาลวุฒิ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

นสพ.วีรภัทรกล่าวด้วยว่า เมื่อสัตว์เป็นลมวูบไปให้ถ่ายวิดีโอดูอาการแล้วนำส่งสัตวแพทย์โดยด่วน ที่ต้องมีการวินิจฉัย ซึ่งไม่ได้มีแค่ระบบทางเดินหายใจ แต่อาจเป็นระบบอื่นมากกว่า ส่วนอาการที่ผู้เลี้ยงพอดูแลได้ คือภูมิแพ้ มาจากการสูบบุหรี่ของผู้เลี้ยง ฝุ่น PM2.5 ซึ่งอาจมีผลกระทบได้ สามารถป้องกันด้วยการดูแลให้อากาศสะอาด ส่วนโรคจากกรรมพันธุ์ของสุนัขหน้าสั้น หรือภาวะไม่สมบูรณ์ของหลอดลมใหญ่ จะได้ยินเสียงสุนัขกรนดังผิดปกติ ความอ้วนก็เป็นปัจจัยหลักด้วยเช่นกัน

สำหรับการรักษาในโรงพยาบาลสัตว์ ในทางเดินหายใจส่วนต้น ถ้าน้องแมวมีน้ำมูกเป็นเดือน รักษาไม่หาย จะใช้ซีทีสแกนตรวจดูว่ามีเนื้องอก หรือสารคัดหลั่งสะสมหรือไม่ ใช้การส่องกล้องในโพรงจมูก ในทางเดินหายใจส่วนปลาย จะมีการใส่น้ำเข้าไปในหลอดลม ดูดน้ำกลับขึ้นมาส่งไปเพาะเชื้อ เพื่อดูตัวเซลล์ให้การรักษาตรงจุดมากขึ้น รวมถึงใช้ซีทีสแกนในช่องอก การอัลตราซาวด์ประเมินเนื้อปอดในเบื้องต้น

“ถ้าช่วงอายุน้อยยังไม่ต้องตรวจสุขภาพก็ได้ แต่เน้นการให้วัคซีน การถ่ายพยาธิ คุมปรสิตเห็บหมัด พยาธิหนอนหัวใจ แต่เมื่ออายุน้อง 6-8 ปีขึ้นไปควรตรวจสุขภาพประจำปี ซึ่งเขาสู่ช่วงวัยกลางถึงวัยชรา แม้ว่าเขาจะไม่มีความผิดปกติอะไร” นสพ.วีรภัทรกล่าว

นายสัตวแพทย์วีรภัทร ชวาลวุฒิ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้บริการตรวจสัตว์เลี้ยงหลายรูปแบบ อาทิ ตรวจตัวอย่างด้วยวิธี PCR (เก็บตัวอย่างในงาน รายงานผลภายหลัง) หากมีเคสต้องการตรวจนอกเหนือจากโควต้าฟรี สามารถรับตรวจได้โดยมีค่าใช้จ่ายตามประกาศ*** การให้บริการตรวจ PCR จะขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของสัตวแพทย์

คลินิกพิเศษ
วันที่ 28 มีนาคม 2567 คลินิกโรคหัวใจ และทางเดินหายใจ ตรวจร่างกายระบบทางเดินหายใจและหัวใจโดยสัตวแพทย์ และบริการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจในรายที่สงสัยว่ามีความผิดปกติ

วันที่ 29 มีนาคม 2567 คลินิกสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษ (EXOTIC PET) ตรวจร่างกายสัตว์exotic เบื้องต้น และให้คำปรึกษาเรื่องการเลี้ยงและดูแล

วันที่ 30 มีนาคม 2567 คลินิกช่องปาก ตรวจฟัน การสบฟัน ตรวจเหงือก ตรวจประเมินโรคปริทันต์ เเละสุขภาพช่องปาก เเละให้คำปรึกษาการดูเเลสุขภาพช่องปากเบื้องต้น

วันที่ 31 มีนาคม 2567 คลินิกพฤติกรรมสัตว์ ปรึกษาปัญหาพฤติกรรมสัตว์เลี้ยง และมีสัตวแพทย์ช่วยตรวจร่างกายทั่วไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image