สัตว์เลี้ยงอ้วนไม่ได้แปลว่าน่ารัก หมอย้ำให้กินเป็นมื้อ พาออกกำลังกาย ก่อนเจอโรคข้อ-กระดูก

สัตวแพทย์เตือน! หยุดเลี้ยงสัตว์ให้อ้วน ก่อนเสี่ยงโรคข้อกระดูกในหมา-แมว ยกเคสสะโพกหลุดขั้นผ่าตัด

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ผนึกกำลังพันธมิตร จัดงาน “Pet Healthcare 2024 มหกรรมสุขภาพสัตว์เลี้ยงครั้งแรกของไทย” ให้บริการตรวจสุขภาพสัตว์เลี้ยงฟรี โดยคณะสัตวแพทย์ชั้นนำของไทย เวทีเสวนา เวิร์กชอป สินค้าเพื่อสัตว์เลี้ยง พบปะสัตว์เลี้ยงของคนดัง พร้อมแคมเปญสอยดาวเพื่อช่วยเหลือสัตว์เจ็บป่วย ตั้งแต่วันที่ 28-31 มีนาคม เวลา 10.00-20.00 น. ที่ MCC Hall ชั้น 3 เดอะมอลล์ไลฟ์สโตร์ บางกะปิ กรุงเทพฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศเวลา 12.00 น. มีประชาชนนำสัตว์เลี้ยงทยอยเดินทางมาร่วมงานเพื่อเลือกซื้อของใช้สำหรับสัตว์เลี้ยงที่ภายในงานนำมาจัดจำหน่ายอย่างหลากหลาย อาทิ อาหาร เสื้อผ้า อุปกรณ์สันทนาการ หรือบางส่วนนำสัตว์เลี้ยงเข้ารับบริการตรวจสุขภาพ ซึ่งให้บริการครบครัน ตั้งแต่ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ฝังไมโครชิป ไปจนถึงบริการคลีนนิ่ง

ต่อมาเวลา 15.00 น. เริ่มเวทีเสวนา Pet Health Talk หัวข้อ โรคทางศัลยกรรม การผ่าตัด-โรคข้อและกระดูกในสัตว์เลี้ยง โดย สพญ.อินทุอร จิรเรืองตระกูล คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Advertisement

สพญ.อินทุอรให้ความรู้เกี่ยวกับเทคนิคการเลี้ยงดูน้องหมาในเรื่องของข้อและกระดูกว่า การดูแลสุนัขและแมวอาจจะแตกต่างกันเพียงบางจุดเท่านั้น สุนัขมีความคล้ายกับมนุษย์ที่มีพลังงานที่ต้องใช้ การออกกำลังกายจึงค่อนข้างสำคัญ ซึ่งแนะนำให้เจ้าของพาสุนัขออกไปเดินออกกำลังกาย แต่ส่วนใหญ่สังคมคนเมืองจะไม่ค่อยมีเวลา ซึ่งเราควรดูแลเขามากขึ้นในเรื่องของการออกกำลังกาย อาจพาไปเดินช่วงเช้าตรู่ หรือช่วงมืด ประมาณ 5-10 นาที/วัน

อีกปัจจัยที่สำคัญคือเรื่องสิ่งแวดล้อมภายในบ้าน สุนัขถือเป็นสมาชิกในบ้านของเรา อาจมีการสร้างบ้านเราให้เป็นบ้านของเขาด้วย เช่น พื้นบ้านที่ทำให้สุนัขเดินแล้วไม่ลื่น ดังนั้น จึงแนะนำเสื่อโยคะที่หาซื้อง่ายๆ หรือจิ๊กซอว์กันไม่ให้เด็กลื่น โดยการแบ่งโซนให้ลูกสุนัข หาตำแหน่งที่เขาชอบวิ่ง หรือชอบเบรก ให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเขา ซึ่งจะช่วยชะลอไขกระดูกให้กับลูกสุนัข

Advertisement

ปัจจุบันโรคที่เกี่ยวกับข้อของสัตว์เลี้ยงส่วนใหญ่สุนัขจะมีปัญหาด้านข้อกระดูกมากกว่าน้องแมว สุนัขส่วนใหญ่จะแบ่งเป็นพันธ์ุเล็กและพันธ์ุใหญ่ โดยปัญหาจะแตกต่างกัน เช่น ถ้าเป็นสุนัขพันธุ์ปอม หรือพันธุ์ชิวาวา ส่วนใหญ่จะมีปัญหาในตัวของลูกสะบ้าที่เป็นเม็ดกระดูกตรงหัวเข่า มีโอกาสหลุดออกจากตัวสะบ้า มักเจอในสุนัขพันธุ์เล็ก ส่วนพันธ์ุใหญ่จะเจอโรคสะโพกเสื่อม เกิดจากพันธุกรรมที่ร่องหัวเข่าตื้น นอกจากนี้ ผลกระทบยังเกิดจากพื้นที่บ้านลื่น หรือการวิ่งหมุนๆ ของลูกสุนัข ก็จะทำให้สะบ้าหลุดมากขึ้น

ในส่วนของอาการที่มักพบ สพญ.อินทุอร เผยว่าคือ เมื่อลูกสุนัขกำลังวิ่งและมีการหยุดชะงักแล้วมีการขยับขาตัวเองนิดหน่อย ซึ่งอาจทำให้บางบ้านไม่ได้สังเกตถึงอาการของสัตว์เลี้ยงของตัวเอง ปัญหาของลูกสะบ้าบางรายอาจมีอาการเดินไม่ได้

สพญ.อินทุอรกล่าวต่อไปว่า สุนัขพันธุ์ใหญ่ที่มาพบแพทย์เกี่ยวกับปัญหาเรื่องสะโพกจะเป็นในลักษณะ “เดินขากะเผลก” ซึ่งลักษณะดังกล่าวสามารถเกิดอาการข้ออักเสบเฉียบพลันได้ เนื่องจากสุนัขสายพันธ์ใหญ่ที่มีอายุน้อย จะพลังเยอะ วิ่งกระแทกทำให้เกิดอาการอักเสบ และเจ้าของมักจะพามาพบแพทย์ตอนที่อักเสบแล้ว ส่วนมากจะพบใน ส่วนมากจะพบในกลุ่มลาบราดอร์, เยอรมันเชพเพิร์ด, รีทรีฟเวอร์, เชตแลนด์ชีปด็อก เป็นต้น

“น้ำหนักก็มีส่วนทำให้เกิดข้ออักเสบได้ ยิ่งน้ำหนักมากยิ่งทำให้ข้อเสื่อมมากยิ่งขึ้น แต่ปัจจัยส่วนใหญ่เกิดจากพันธุกรรมและอาหาร บางครอบครัวรู้สึกว่าสุนัขยังอายุน้อยจึงจำเป็นต้องกินแคลเซียม จนบางครั้งมากจนเกินไปส่งผลให้การเจริญเติบโตของกระดูกไม่สมดุลกับกล้ามเนื้อ ดังนั้น การจำกัดอาหารทำให้ลดการเกิดโรคดังกล่าวส่งผลให้กระดูกกับกล้ามเนื้อสมดุลกัน อาหารข้อหลวม ข้อเสื่อมก็จะน้อยลง”

ในส่วนของแมว สพญ.อินทุอรให้ความรู้ว่า ปัญหาเกี่ยวกับกระดูกไม่ค่อยพบในแมว แต่เคยมีการผ่าตัดแก้ไขสะโพก ส่วนมากจะเกิดจากอุบัติเหตุ หรือปัจจัยอีกหนึ่งอย่างที่เจ้าของอาจไม่เคยสังเกตคือ แมวไม่ขึ้นที่สูง ซึ่งการปีนขึ้นที่สูงคือปกติของแมว หากแมวเริ่มนอนบนพื้นมากขึ้นอาจเพราะเริ่มมีปัญหาเรื่องข้อเสื่อมในแมว

“แมวจะไม่เดินกะเผลก แต่เขาเก็บอาการคือเลือกที่จะไม่ปีนขึ้นที่สูงเลย หมอก็จะเริ่มสังเกตเวลาอุ้มขึ้นมาที่โต๊ะ แต่แมวไม่กระโดดลง กลับเลือกที่จะค่อยๆ ไต่ให้ต่ำที่สุดและลงไป ซึ่งอาการนี้เกิดขึ้นได้ในแมวที่มีน้ำหนักเยอะ ซึ่งอาการข้อเสื่อมส่งผลกระทบถึงเรื่องอื่นๆ ด้วย เช่น ไม่ค่อยเข้ากระบะทราย อั้นปัสสาวะ เพราะการนั่งฉี่มันเจ็บ จนนำไปสู่โรคนิ่วและเป็นกระเพาะอักเสบตามมา”

วิธีสังเกตคือปกติตอนเด็กชอบเล่น ตอนโตก็ยังชอบเล่นเหมือนเดิม ไหวหรือไม่ไหวแค่นั้น ถ้าไม่ไหวต้องเริ่มดูแล้วว่าเกิดอะไรขึ้น เนื่องจากอารมณ์แมวไม่เหมือนสุนัข เจ้าของจะเดาอารมณ์ไม่ถูก บางครั้งก็ต้องให้หมอช่วยเหมือนกัน” สพญ.อินทุอรระบุ

ขณะเดียวกัน สพญ.อินทุอรให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีสังเกตกรณีที่สุนัขเป็นโรคกระดูกเสื่อมว่า จะเห็นชัดกว่าแมว ส่วนใหญ่ที่พบคือ ลุกนั่งลำบาก ถ้านั่งบางทีจะเห็นว่าเดินหมุนตัวสักพักและทิ้งตัวลงไป แต่ในสายพันธุ์เล็กจะสังเกตยากกว่าสายพันธุ์ใหญ่ จะไปในเชิงลุกช้า เดินช้า เนื่องจากเวลาลุกและนั่งจะโดนข้อ เมื่อลุกแล้วจะเดินไม่นั่งเลย เพราะนั่งลำบาก เดินสบายกว่า

วิธีการตรวจเบื้องต้นว่าเป็นมากน้อยแค่ไหน การเอกซเรย์จะช่วยบ่งบอกว่าความรุนแรงอยู่ในระดับใด และแพทย์ตรวจด้วยตนเองซึ่งจะบอกได้ว่าเกิดจากปัจจัยใดบ้าง เนื่องจากเมื่อเริ่มตรวจจุดใดจุดหนึ่งก็จะเชื่อมโยงไปอีกจุดเสมอ ยกตัวอย่าง หากเราเจ็บสะโพกเราจะใช้หัวเข่า เมื่อหัวเข่าใช้งานมากเกินไป หัวเข่าก็จะเสื่อม

ในส่วนของวิธีการรักษา สพญ.อินทุอร ระบุว่า “ไม่แนะนำให้ผ่าตัด” เพราะสุนัขกลุ่มที่เกิดอาการข้อเสื่อมคือกลุ่มสุนัขอายุมาก การผ่าตัดจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับข้อ ยิ่งทำให้เกิดการอักเสบ ยิ่งทำเยอะก็จะมีการอักเสบเยอะขึ้น และทำให้อาการข้อเสื่อมกลับมาเหมือนเดิม

ซึ่งสิ่งที่ควรทำคือ ดูแลรักษาสุขภาพ เช่น อาหารเสริมบำรุงข้อ จะช่วยชะลอการเกิดข้อเสื่อม เพราะอาการนี้เกิดแล้วเกิดเลย เพราะฉะนั้นจะต้องทำให้เกิดช้าที่สุด อาจจะไม่ได้ทำให้หายขาดร้อยเปอร์เซ็นต์แต่กินไว้ชะลอให้เกิดช้าลง

อีกหนึ่งวิธีที่คือ “การออกกำลังกาย” ถ้ามีกล้ามเนื้อ ถึงข้อจะเสื่อม กล้ามเนื้อก็ช่วยรับน้ำหนักแทนข้อ เกิดอาการเจ็บน้อยกว่า อีกทั้งยังมีคุณภาพชีวิตที่ดี ลุกไหว เดินไหว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่แนะนำให้วิ่ง ค่อยๆ เดินจ้อกกิ้ง เพราะวิ่งจะทำให้ข้อเสื่อม หรือให้เดินบนลู่ก็ได้เหมือนกัน ซึ่งวิธีนี้จะเหมาะสำหรับสุนัขพันธุ์ใหญ่ หรือมีน้ำหนักเยอะ

สพญ.อินทุอรกล่าวอีกว่า กรณีที่ต้องผ่าตัดสามารถพบได้เรื่อยๆ เพราะเจ้าของมักจะพามาพบแพทย์ตอนที่อักเสบแล้ว เช่น สะโพกหลุด สุนัขเล่นที่บ้าน เดินชนอะไรสักอย่างแล้วสะโพกหลุด พอมาถึงแพทย์ ก็จะมีการตรวจดูว่าสะโพกนี้เก็บได้ไหม หลุดจากอุบัติเหตุจริง หรือหลวมอยู่แล้ว เพราะในกรณีที่สะโพกหลวมอยู่แล้ว เดินชนนิดหน่อยก็หลุด แสดงให้เห็นว่าไม่ควรเก็บสะโพกนั้นไว้ หากเป็นอุบัติเหตุร้อยเปอร์เซ็นต์ จะถือว่าเป็นภาวะฉุกเฉินของเรื่องข้อ ถ้าข้อสวยจะเก็บไว้และเอากระดูกกลับเข้าไป แต่เวลาที่ดึงจะเจ็บมาก บางครั้งต้องวางยาเพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงทำร้ายแพทย์

การดึงสะโพกใช้เวลาเพียงแค่ 30 นาที แต่ต้องเป็นอาการที่ไม่หนักมากถึงจะทำได้ เช้น ในช่วงสามวันแรกของการหลุด เป็นต้น ถ้านานกว่านี้จะยากต่อการดึง โดยต้องสังเกตว่าจะที่สะโพกที่หลุดออกมาส่งผลต่อการเดินมากน้อยแค่ไหน บางรายไม่วางขาเลย อาจต้องดูว่ามีวิธีอื่นไหมที่จะลดอาการเจ็บ

สพญ.อินทุอรทิ้งท้ายว่า ให้หมั่นสังเกตอาการสัตว์เลี้ยงที่บ้านว่ามีอาการดังกล่าวหรือไม่

“สิ่งที่อยากฝากคือ เรื่องการควบคุมน้ำหนักตัว ซึ่งเป็นเรื่องที่มองข้ามไม่ได้ เพราะส่วนใหญ่เจ้าของจะเลี้ยงให้น้ำหนักเกินเล็กน้อย ให้พอน่ารัก แต่กลายเป็นว่าน้ำหนักที่เยอะเกินไปจะส่งผลหลายอย่าง ไม่ใช่แค่เรื่องข้อกระดูก ควรให้อาหารตามความเหมาะสม ให้เป็นมื้อ หรือลดปริมาณลง ถ้าน้ำหนักเยอะแล้วควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีลดที่ถูกต้อง ถ้าสัตว์เลี้ยงน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติคุณภาพชีวิตจะดีมากขึ้น อายุจะยืน และเขาจะอยู่กับเราได้นาน” สพญ.อินทุอรกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image