24 ล้านคนเฮ! สปส. เพิ่มเช็กสุขภาพฟรี 14 รายการ ตรวจมะเร็ง-ไวรัสตับ-ตา

24 ล้านคนเฮ! สปส.เพิ่มเช็กสุขภาพฟรี 14 รายการ ตรวจมะเร็ง-ไวรัสตับ-ตา

เมื่อวันที่ 1 เมษายน ที่ศูนย์การค้าวัสดุก่อสร้างดูโฮม ปทุมธานี นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมเปิดงานโครงการการตรวจสุขภาพเชิงรุกในสถานประกอบการ (KICK OFF) ระหว่างสำนักงานประกันสังคม (สปส.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยมี นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการ สปส. ร่วมงาน

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า สปส.และ สปสช.ร่วมกันดูแลสุขภาพประชาชน โดยเฉพาะผู้ประกันตนทั้งมาตรา 33, 39 รวม 14 ล้านคน และมาตรา 40 อีก 10 ล้านคน รวม 24 ล้านคน จึงเป็นนิมิตรใหม่อันดีในการบูรณาการการสร้างเสริมป้องกันโรค การตรวจคัดกรองสุขภาพให้กับผู้ประกันตนฟรี โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สามารถยืนยันสิทธิของตนเองผ่านแอพพลิเคชั่น เป๋าตัง

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า สปส.ได้ปรับปรุงประกาศคณะกรรมการการแพทย์ของสปส. เพิ่มสิทธิการตรวจสุขภาพของผู้ประกันตน 14 รายการ ให้ได้รับการตรวจสุขภาพถี่ขึ้นตามช่วงอายุเหมาะสม เช่น ช่วงอายุ 35 ปีขึ้นไป ตรวจสุขภาพประจำปีฟรี 1 ครั้งทุกปี เช่น การตรวจไขมันในเส้นเลือด น้ำตาลในเลือด การทำงานของไต ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ตรวจปัสสาวะ เป็นต้น เพิ่มรายการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง FIT TEST การตรวจวัดความดันของเหลวภายในลูกตา รวมถึงเพิ่มความถี่การถ่ายภาพรังสีทรวงอก การปรับปรุงประกาศคณะกรรมการการแพทย์ฯในครั้งนี้ เพื่อค้นหาโรคและเฝ้าระวังปัจจัยเสี่ยงก่อให้เกิดโรคของผู้ประกันตน ในปี 2567 ตั้งเป้าตรวจสุขภาพผู้ประกันตนให้ครบ 100%

Advertisement

นายบุญสงค์ กล่าวว่า ผู้ประกันตนจะได้รับการดูแลด้านสุขภาพที่ครอบคลุม โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายทุกรพ.ทั่วประเทศ สถานประกอบการที่สนใจ สามารถดำเนินการประสานสถานพยาบาลที่มีความพร้อมในการให้บริการตรวจสุขภาพ ที่ขึ้นทะเบียนเรื่องส่งเสริมสุขภาพของ สปส.และ สปสช. ณ ปัจจุบันมีสถานพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการรวม 213 แห่ง แบ่งเป็นสถานพยาบาลรัฐ 165 แห่ง เอกชน 48 แห่ง ตรวจสอบรายชื่อสถานพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการได้ที่ www.sso.go.th หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน 1506 ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการตรวจสุขภาพ 14 รายการ ตามช่วงอายุของผู้ประกันตนคนไทยและต่างด้าว ในมาตรา 33 และ 39 ได้แก่

1.การคัดกรองการได้ยิน อายุ 15 ปีขึ้นไป ตรวจ 1 ครั้งต่อปี

Advertisement

2.การตรวจเต้านมโดยแพทย์หรือบุคลากรสาธารณสุข และสอนการตรวจเต้านมด้วยตัวเอง อายุ 30-39 ปี ตรวจทุก 2 ปี อายุ 40 ปีขึ้นไป ตรวจ 1 ครั้งต่อปี

3.การตรวจตาโดยจักษุแพทย์ คัดกรองความผิดปกติ ค้นหาโรคทางสายตา การตรวจ Snellen eye Chart และการวัดความดันของเหลวในลูกตา อายุ 40-54 ปี ตรวจทุก 2 ปี อายุ 55 ปีขึ้นไป ตรวจ 1 ครั้งต่อปี

4.ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด CBC อายุ 15-34 ปี ตรวจ 1 ครั้ง อายุ 35 ปีขึ้นไป ตรวจ 1 ครั้งต่อปี

5.ตรวจปัสสาวะ UA อายุ 35 ปีขึ้นไป ตรวจ 1 ครั้งต่อปี

6.น้ำตาลในเลือด Fasting Blood Sugar อายุ 35 ปีขึ้นไป ตรวจ 1 ครัังต่อปี

7.การทำงานของไต Cr และ eGFR อายุ 35 ปีขึ้นไป ตรวจ 1 ครั้งต่อปี

8.ไขมันในเลือดชนิด Total cholesterol & HDL cholesterol อายุ 20-34 ปี ตรวจทุก 5 ปี อายุ 35 ปีขึ้นไป ตรวจ 1 ครั้งต่อปี

9.ตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบ HbsAg สำหรับผู้ที่เกิดก่อน พ.ศ.2535 ตรวจ 1 ครั้ง

10.มะเร็งปากมดลูก Pap Smear อายุ 30 ปีขึ้นไป ตรวจทุก 3 ปี

11.มะเร็งปากมดลูก Via อายุ 30-55 ปี ตรวจทุก 5 ปี โดยอายุ 55 ปีขึ้นไป ควรใช้วิธีตรวจด้วย Pap Smear เท่านั้น

12.มะเร็งปากมดลูก HPV DNA TEST ชนิด 2 สายพันธุ์ และ 14 สายพันธุ์ อายุ 30 ปีขึ้นไป ตรวจทุก 5 ปี

13.ตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง FIT TEST อายุ 50 ปีขึ้นไป ตรวจ 1 ครั้งต่อปี

14.การถ่ายภาพรังสีทรวงอก Chest X-ray อายุ 15 ปีขึ้นไป ตรวจทุก 3 ปี

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ก่อนหน้านี้ ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 25-26 มีนาคมที่ผ่านมาสปสช.ร่วมกับ สปส.ชี้แจงแนวทางการจัดบริการและการขอรับค่าบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสำหรับผู้ประกันตนให้แก่สถานพยาบาลในเครือข่ายประกันสังคมที่ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการด้านการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคกับ สปสช.เรียบร้อยแล้ว พร้อมเริ่มดำเนินการ 1 เมษายนนี้เป็นต้นไป

นอกจากนี้ สปสช.และ สปส.ได้ลงนามเอ็มโอยู บูรณาการให้บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสำหรับผู้ประกันตน ภายใต้ชุดบริการการตรวจสุขภาพประจำปี ที่สปส.กำหนดไว้ 14 รายการ และชุดบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคตามรายการบริการ (Fee Schedule) ที่สปสช.กำหนดจำแนกตามกลุ่มอายุ 24 หมวดรายการ

แนวทางนี้เป็นการบูรณาการหน่วยบริการจากเคยขึ้นทะเบียนแยกกันของ 2 หน่วยงาน ให้เป็นหน่วยบริการภายใต้ระบบเดียวกัน เพื่ออำนวยความสะดวกใผู้ประกันตนเข้ารับบริการในหน่วยบริการแห่งเดียว แต่ครอบคลุมตามรายสิทธิประโยชน์ทุกรายการที่ทั้ง 2 หน่วยงานกำหนด ไม่ต้องเดินทางไปขอรับบริการหน่วยบริการหลายแห่งเหมือนอดีตอีกต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image