57จว.ประกาศ ‘สมุนไพรอัตลักษณ์’ สกลนคร-กัญชา เชียงใหม่-กัญชง กระบี่/สงขลา-กระท่อม

57จว.ประกาศ ‘สมุนไพรอัตลักษณ์’ สกลนคร-กัญชา เชียงใหม่-กัญชง กระบี่/สงขลา-กระท่อม

วันนี้ (2 เมษายน 2567) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2567

โดยที่ประชุมซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) และ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ได้ร่วมพิจารณาและตั้งเป้าหมายผลักดันประเทศไทยเป็นผู้นำในภูมิภาคด้านสมุนไพรเพื่อสุขภาพ โดยคาดว่า ในปี 2570 ขนาดตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรของประเทศไทยจะมีมูลค่าอยู่ที่ 1.4 แสนล้านบาท จากผลการดำเนินงานในปี 2566 มูลค่าตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรของประเทศไทยอยู่ที่ 56,944.4 ล้านบาท และประเทศไทย มีขนาดตลาดใหญ่เป็นลำดับที่ 7 ของโลก

Advertisement

นายสมศักดิ์ กล่าวถึงการส่งเสริมสมุนไพรอัตลักษณ์ประจำจังหวัด ว่า วันนี้ถ้ามีสมุนไพรอัตลักษณ์ประจำจังหวัด ก็จะหาเงินช่วยชาวบ้านในการปลูกให้เป็นแปลงที่ใหญ่ขึ้น ก็ต้องหารือกับ กษ.ด้วย ตนมีเงินตรวจราชการอยู่ไม่มาก

“ก็บอก นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ว่า จังหวัดไหนที่มั่นคงแล้ว เป็นเอกลักษณ์ตัวที่เขาชอบ ก็หาพื้นที่ลองปลูกนำร่องหรือแจกกล้า เป็นการลั่นกระดิ่งให้เห็นว่าเราพร้อมที่จะเดินหน้าแล้ว ส่วนการส่งเสริมไปจนถึงการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรและผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ นั้น ก็จะต้องมาจัดทำแผนการส่งเสริม ซึ่งต้องทำแน่ ทำแบบดั้งเดิมไม่ได้ เราต้องหนีเพื่อนบ้าน เพื่อนบ้านเขาปลูก เราก็ปลูก ดังนั้น เราก็ต้องต่อยอดด้วย” นายสมศักดิ์ กล่าว

Advertisement

ด้าน น.ส.กมลทิพย์ สุวรรณเดช นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ กรมการแพทย์แผนไทยฯ เปิดเผยว่า แต่ละจังหวัดมีสภาพพื้นที่และนิเวศแตกต่างกัน การขึ้นหรือเกิดสมุนไพรแต่ละชนิดจะแตกต่างกัน คุณภาพคือสรรพคุณทางยาก็จะแตกต่างกัน จึงมาดูว่าแต่ละจังหวัด สมุนไพรชนิดไหนที่ปลูกแล้วได้คุณภาพทางยาที่ดี ก็จะส่งเสริมให้จังหวัดนั้นปลูกสมุนไพรชนิดนั้นๆ ซึ่งคณะอนุกรรมการด้าานวิชาการกำหนดชนิดสมุนไพรอัตลักษณ์ประจำจังหวัดได้พิจารณาแล้ว 57 จังหวัด เช่น อุบลราชธานี ปลูกบัวบกได้คุณภาพสารสำคัญสูง หรือขมิ้นชันที่เป็นตัวยาใช้มากในตำรับยาไทย สุราษฎร์ธานี และ ตาก มีงานวิจัยรองรับว่า ขมิ้นชันจาก 2 จังหวัดนี้มีสารสำคัญสูง จึงเลือกให้เหมาะสมสภาพพื้นที่และส่งเสริมต่อผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่อ ส่วนอีก 19 จังหวัด กำลังพิจารณาคาดว่าจะคัดเลือกได้ภายใน 1-2 เดือนนี้

“สำหรับแนวทางในการพิจารณาเลือกสมุนไพรอัตลักษณ์ประจำจังหวัดนั้น กำหนดให้แต่ละจังหวัดที่รู้ข้อมูลพื้นที่ตัวเองดี คัดเลือกมาก่อนว่า สมุนไพรตัวไหนที่มีค่า มีการพบมาก เป็นพืชเศรษฐกิจ หรือพบหายาก มีคุณค่าทางวัฒนธรรมเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ส่งมาให้เรา ก็จะมาดูว่าที่เลือกมาใช่หรือไม่ใช่ หรือเห็นว่าตัวไหนที่น่าจะเป็นสมุนไพรอัตลักษณ์มากกว่า ก้จะให้ข้อมูลทางด้านสารสำคัญ งานวิจัยเข้าไป อย่าง หัวร้อยรู เป็นสมุนไพรหายากของ จ.ตรัง และใช้ทางยารักษาโรคมะเร็ง มีเฉพาะในธรรมชาติเท่านั้น มีการปลูกที่ยากมาก เราจึงให้หัวร้อยรูเป็นสมุนไพรอัตลักษณ์ของตรัง ก็มีแผนว่าจะทำอย่างไรให้ลดการเก็บจากธรรมชาติแล้วหันมาส่งเสริมการปลูกทดแทนในธรรมชาติ” น.ส.กมลทิพย์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ไม่ได้แปลว่าทั้ง 77 จังหวัด จะต้องออกมาเป็นสมุนไพร 77 ชนิด น.ส.กมลทิพย์ กล่าวว่า ก็มีซ้ำกันได้ เช่น ขมิ้นชัน มีที่ จ.สุราษฎร์ธานี กับ จ.ตาก ซึ่งมีความแตกต่างกัน จ.สุราษฎร์ธานี จะมีสารเคอร์คูมินอยด์สูง แต่ จ.ตากมีส่วนของน้ำมันหอมระเหยที่สูง บางจังหวัดก็มี 2 ชนิด เช่น จ.ตรัง มีหัวร้อยรู และ พริกไทย ซึ่งพริกไทยของ จ.ตรัง มีคุณภาพดีมากพอๆ กับของ จ.จันทบุรี ซึ่งเป็นแหล่งพริกไทยสำคัญที่สุดและใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

เมื่อถามว่า เมื่อได้สมุนไพรประจำจังหวัดแล้วจะมีการต่อยอดส่งเสริมอย่างไร น.ส.กมลทิพย์ กล่าวว่า แต่ละจังหวัดจะกำหนดแผนการผลิตสมุนไพรชนิดนั้นๆ ให้ได้ตามมาตรฐานของการปลูกและการเก็บเกี่ยวที่ดี จะทำให้ได้วัตถุดิบสมุนไพรที่มีคุณภาพ ก็จะสามารถส่งเสริมในการผลิตยาหรือผลิตภัณฑ์สมุนไพรต่างๆ ที่จะใช้ใน โรงพยาบาล หรือจำหน่ายให้แก่ประชาชน โดยไปใช้วัตถุดิบสมุนไพรที่เป็นอัตลักษณ์ประจำจังหวัดนั้น เช่น ขิง จ.เพชรบูรณ์ ประกาศว่าคุณภาพดีที่สุด ผู้ประกอบการก็ไปที่ จ.เพชรบูรณ์ จะได้ขิงที่มีคุณภาพดีที่สุดการประกาศสมุนไพรประจำจังหวัดนี้ช่วยส่งเสริมในเรื่องของผลิตภัณฑ์ หรือสินค้าโอทอป (OTOP) ของดีประจำจังหวัดได้อีกด้วย

ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2567 ได้มีการจัดนิทรรศการแสดงเรื่องเมืองสมุนไพร และการส่งเสริมผลิตภัณฑ์สมุนไพร รวมถึง “สมุนไพรอัตลักษณ์ประจำจังหวัด” ด้วย ซึ่งผ่านการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการด้านวิชาการกำหนดชนิดสมุนไพรอัตลักษณ์ประจำจังหวัดแล้ว 57 จังหวัด อยู่ระหว่างการพิจารณา 19 จังหวัด มีรายละเอียด ดังนี้

ภาคเหนือ

เชียงใหม่ – กัญชง, แม่ฮ่องสอน – บุกไข่, เชียงราย – ส้อมป่อย, ลำพูน – เปล้าใหญ่, ลำปาง – กวาวเครือ, พะเยา – เพชรสังฆาต, แพร่ – กลอย, น่าน – มะแขว่น, ตาก – ขมิ้นชัน, สุโขทัย – เพกา, พิษณุโลก – ส้มซ่า, กำแพงเพชร – สมอพิเภก, เพชรบูรณ์ – ขิง และ พิจิตร – ฟ้าทะลายโจร

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

กาฬสินธุ์ – ขมิ้นชัน, ขอนแก่น – คูน, ชัยภูมิ – เร่วน้อย, นครพนม – สมอไทย, นครราชสีมา – พรมมิ, บุรีรัมย์ – กระเม็ง, มุกดาหาร – ว่านกีบแรด, ยโสธร – โคคลาน, ร้อยเอ็ด – กำแพงเจ็ดชั้น, เลย – กระชายดำ, ศรีสะเกษ – หอม, สกลนคร – กัญชา, สุรินทร์ – โลดทะนงแดง, อุดรธานี – ข่า และ อุบลราชธานี – บัวบก

ภาคกลาง

ชัยนาท – มะตูม, นครปฐม – กระชาย, นนทบุรี – หน่อกะลา, ปทุมธานี – บัวหลวง, พระนครศรีอยุธยา – ผักเสี้ยนผี, ลพบุรี – ฟ้าทะลายโจร, สมุทรปราการ – เหงือกปลาหมอดอกม่วง, สมุทรสาคร – เหงือกปลาหมอดอกขาว, สมุทรสงคราม – เกลือสมุทร, สุพรรณบุรี – ว่านพระฉิม, อุทัยธานี – คนฑา และ อ่างทอง – ข่าตาแดง

ภาคใต้

กระบี่ – กระท่อม, ชุมพร – มะเดื่ออุทุมพร, ตรัง หัวร้อยรู และพริกไทย, นครศรีธรรมราช – จันทน์เทศ, นราธิวาส – คนที, ปัตตานี – ปลาไหลเผือก, พัทลุง – ไพล, ภูเก็ต – ส้มควาย, สงขลา – กระท่อม และ สุราษฎร์ธานี – ขมิ้นชัน

ภาคตะวันตก

กาญจนบุรี – มะขามป้อม, ประจวบคีรีขันธ์ – ว่านหางจระเข้, ราชบุรี – ขมิ้นอ้อย และ เพชรบุรี – หัวเข่าคลอน

ภาคตะวันออก

จันทบุรี – กระวาน และ พริกไทย แล ะปราจีนบุรี – ฟ้าทะลายโจร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image