แพทย์ ชี้ อันตรายจากแคดเมียม “พิษต่อไต-กระดูก” แถมยังเป็นสารก่อมะเร็ง

แพทย์ ชี้ อันตรายจากแคดเมียม “พิษต่อไต-กระดูก” แถมยังเป็นสารก่อมะเร็งเต้านม-ต่อมลูกหมาก

เมื่อวันที่ 5 เมษายน นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีบริษัทแห่งหนึ่งใน จ.ตาก ได้ขายกากแร่สังกะสีและกากแร่แคดเมียมที่ฝังกลบใน จ.ตาก ให้กับบริษัทแห่งหนึ่งตั้งอยู่ในอำเภอเมือง จ.สมุทรสาคร ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อประชาชน เนื่องจากกากแร่ดังกล่าวเป็นสารก่อมะเร็ง กรมการแพทย์มีความห่วงใยประชาชนในพื้นที่ จึงมอบให้สาธารณสุขในพื้นที่ดูแลสุขภาพประชาชน พร้อมให้ข้อมูลการดูแลสุขภาพที่ถูกต้อง สำหรับพิษภัยของแคดเมียมต่อร่างกาย แคดเมียมเข้าสู่ร่างกายได้ 2 ทางหลัก คือ 1.ทางจมูก จากการหายใจเอาควันหรือฝุ่นของแคดเมียมเข้าไป เช่น ผู้ที่ทำงานในเหมืองแร่ โรงงานอุตสาหกรรมที่มีการใช้แคดเมียม และที่สำคัญจากการสูบบุหรี่หรืออยู่ใกล้ผู้ที่กำลังสูบบุหรี่ 2.ทางปาก จากการบริโภคอาหารที่มีการปนเปื้อนแคดเมียม เช่น ข้าวที่ปลูกบนดินที่มีการปนเปื้อนของแคดเมียมอยู่ สัตว์น้ำที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำที่มีการปนเปื้อน เนื้อหรือนมจากวัวที่กินหญ้าที่เกิดจากดินที่มีการปนเปื้อน

ด้าน นพ.เกรียงไกร นามไธสง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี เปิดเผยว่า พิษต่ออวัยวะที่สำคัญ คือ พิษต่อไต โดยจะมีการอักเสบที่ไต ทำให้ไตสูญเสียการทำงาน เนื่องจากมีการสะสมของแคดเมียมอยู่ และอาจทำให้เกิดไตวายเรื้อรังได้ในที่สุด ซึ่งการเกิดความผิดปกติของไตนี้จะเป็นแบบถาวร แม้ไม่ได้รับแคดเมียมเข้าสู่ร่างกายแล้วไตก็ไม่สามารถกลับคืนสภาพเดิมได้ พิษต่อกระดูก คือ แคดเมียมจะเข้าไปสะสมอยู่ในกระดูก เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนและอาจมีอาการปวดกระดูกอย่างมากโดยเฉพาะที่กระดูกสะโพก ซึ่งเป็นอาการของโรคอิไต-อิไต โดยคนกลุ่มนี้จะมีอาการกระดูกเปราะ แตกหักง่าย พิษของแคดเมียมนอกจากจะทำให้เป็นอันตรายต่อไตและกระดูกแล้ว ยังเป็นสารที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้ เช่น มะเร็งเต้านม และมะเร็งต่อมลูกหมาก นอกจากนี้แคดเมียมยังมีส่วนที่ทำให้อาการของโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ เพิ่มขึ้นอีกด้วย

ขณะที่ นพ.กิติพงษ์ พนมยงค์ นายแพทย์เชี่ยวชาญ ด้านเวชกรรม สาขาเวชกรรมทั่วไป หัวหน้ากลุ่มศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กล่าวว่า โดยทั่วไปแล้วการได้รับแคดเมียมในพื้นที่ที่มีการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม เช่น พื้นที่ลุ่มแม่น้ำตาว ไม่ค่อยพบอาการเฉียบพลัน เนื่องจากในแต่ละวันเราได้รับแคดเมียมในปริมาณไม่มาก แต่แคดเมียมจะถูกสะสมอยู่ในร่างกายเป็นระยะเวลานาน 20-30 ปี อาการจึงเป็นลักษณะแบบเรื้อรัง สำหรับการป้องกัน ได้แก่ 1.หลีกเลี่ยงอาหารที่ปลูกและผลิตในพื้นที่ที่มีการปนเปื้อนของแคดเมียมในปริมาณสูง 2.หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในบริเวณที่มีคนกำลังสูบบุหรี่ และ 3.หมั่นเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำ เช่น การตรวจปัสสาวะเพื่อตรวจสอบความผิดปกติของไต

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image