ทีม SEhRT จับมือสาธารณสุขพื้นที่ชลบุรีเร่งหาแคดเมียมปนเปื้อนรู้ผลใน 2 สัปดาห์
ความคืบหน้ากรณีพบการลักลอบสะสมกากแคดเมียม และกากสังกะสีในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร เมื่อวันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งต่อมาพบมีการเก็บสะสมกากแคดเมียมกว่า 7,000 ตัน ที่ จ.ชลบุรี ด้วย ทำให้ประชาชนที่อาศัยโดยรอบหวั่นเกรงจะมีความเสี่ยงได้รับผลกระทบจากสารพิษ หากกากแคดเมียมปนเปื้อนในแหล่งน้ำอุปโภค บริโภค และแหล่งอาหารของคนในชุมชนนั้น
วันนี้ (7 เมษายน) พญ.อัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า กรมอนามัยได้เร่งส่งทีม SEhRT ศูนย์อนามัยที่ 6 ชลบุรี ลงพื้นที่ปฏิบัติการร่วมกับหน่วยงานภาคการสาธารณสุข ประกอบด้วย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) และสำนักงานควบคุมโรคใน จ.ชลบุรี และเพื่อเป็นการเฝ้าระวังความเสี่ยงสุขภาพประชาชนจากสารพิษที่อาจปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมในชุมชน โดยสำรวจ ประเมิน และเฝ้าระวังด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมทั้งการเก็บตัวอย่างน้ำใช้ครัวเรือน น้ำประปาชุมชน น้ำประปาหมู่บ้าน และอาหาร พืช ผักที่จำหน่ายในตลาดและร้านค้าต่างๆ รวมทั้งทำการประเมินอาการเฝ้าระวังภาวะเจ็บป่วยของประชาชนที่อาศัยรอบโกดังที่เก็บสะสมกากแคดเมียมดังกล่าว เพื่อให้การช่วยเหลือ ส่งต่อ และรักษาอย่างถูกต้องหากพบความผิดปกติทางสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับสารพิษ
“ทั้งนี้ ทีม SEhRT ศูนย์อนามัยที่ 6 ชลบุรี รายงานข้อมูลว่า โรงงานรีไซเคิลแห่งนี้เป็นโรงงานที่มีการประกอบกิจการนำเข้าขยะมารีไซเคิลโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายหลายฉบับ ทั้งในส่วนใบอนุญาตการประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การสาธารณสุข พ.ศ.2355 และที่แก้ไขเพิ่มเติม อีกทั้งโรงงานแห่งนี้ ยังเคยมีการปล่อยน้ำเสียออกจากโรงงานลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะในชุมชน และเกิดกรณีการร้องเรียนที่ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการบังคับใช้กฎหมายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในพื้นที่ จากการประเมินความเสี่ยงทางสุขภาพเบื้องต้น ยังไม่พบประชาชนในพื้นที่มีอาการแสดงหรือผลทางสุขภาพ มีเพียงความกังวลต่อการสะสมกากแคดเมียมและสังกะสังที่สะสมไว้ในโรงงานจำนวนมาก ที่อาจได้รับผลกระทบทางสุขภาพในระยะยาว ส่วนผลตรวจสอบการปนเปื้อนสารแคดเมียมในตัวอย่างน้ำผิวดิน น้ำอุปโภค บริโภค ของประชาชนในครัวเรือนและชุมชน ที่เก็บโดยทีม SEhRT ศูนย์อนามัยที่ 6 ชลบุรี และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ชลบุรีอยู่ระหว่างการส่งตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ (แล็บ) คาดว่าจะทราบผลใน 2 สัปดาห์” พญ.อัจฉรากล่าว
อธิบดีกรมอนามัยกล่าวว่า กรมอนามัยขอความร่วมมือหน่วยงานภาคการสาธารณสุขทุกพื้นที่ร่วมกันกำหนดมาตรการวางแผนการเฝ้าระวังผลกระทบทางสุขภาพต่อประชาชน พร้อมทั้งให้มีการเฝ้าระวังด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมในชุมชนโดยรอบอย่างต่อเนื่อง เน้นการตรวจวิเคราะห์สารแคดเมียมและสังกะสีปนเปื้อนน้ำอุปโภคบริโภค น้ำประปาชุมชน หรือประปาหมู่บ้าน และเก็บตัวอย่างอาหาร พืช ผักที่จำหน่ายในตลาด เพื่อเฝ้าระวังการปนเปื้อนในแหล่งอาหาร ตลอดจนเน้นย้ำการสื่อสารความเสี่ยงสุขภาพประชาชนให้หมั่นสังเกตความผิดปกติของอาหารและน้ำที่รับประทานเป็นประจำ และหลีกเลี่ยงการใช้น้ำหรือกินอาหารกรณีที่พบการปนเปื้อน เพื่อลดความเสี่ยงสุขภาพของประชาชน