ก.แรงงาน ดัน กม.คุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้านสำเร็จ ชี้ปิดช่องนายจ้างเอาเปรียบ-ละเมิดสิทธิ

ก.แรงงาน ดัน กม.คุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้านสำเร็จ ชี้ปิดช่องนายจ้างเอาเปรียบ-ละเมิดสิทธิ

วันนี้ (9 เมษายน 2567) นายภูมิพัฒน์ เหมือนจันทร์ โฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ผลักดันร่างแก้ไขกฎหมายคุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้านเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้ลูกจ้างเหล่านี้มีสิทธิและโอกาสมากขึ้นจากเดิม โดยกฎหมายดังกล่าวคือ ร่างกฎกระทรวงมิให้ใช้บังคับกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานบางส่วนแก่นายจ้าง ซึ่งลูกจ้างทำงานเกี่ยวกับงานบ้านอันมิได้มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย พ.ศ. …ทั้งนี้ ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติหลักการตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ

นายภูมิพัฒน์ กล่าวว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงแรงงาน ฉบับที่ 14 ที่ใช้บังคับมาตั้งแต่ปี 2555 เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการจ้างงานในปัจจุบัน ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นแรงงานไทยหรือแรงงานข้ามชาติที่เป็นลูกจ้างทำงานบ้าน ซึ่งจะทำให้ลูกจ้างได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานเพิ่มขึ้น 11 ประเด็น

“เช่น นายจ้างต้องประกาศเวลาทำงานปกติให้ลูกจ้างทราบ โดยวันหนึ่งต้องไม่เกิน 8 ชั่วโมง (ชม.) และมีเวลาพักไม่น้อยกว่า 1 ชม. ให้ลูกจ้างมีสิทธิลาตามความจำเป็นได้ไม่น้อยกว่า 3 วันต่อปี ให้ลูกจ้างหญิงลาคลอดได้ไม่เกิน 98 วันและได้รับค่าจ้างไม่เกิน 45 วัน ห้ามนายจ้างใช้ลูกจ้างหญิงมีครรภ์ทำงานช่วงเวลา 22.00 – 06.00 น. ทำงานล่วงเวลา หรือทำงานวันหยุด ให้นายจ้างแจ้งการจ้างและการสิ้นสุดการจ้างลูกจ้างที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ต่อพนักงานตรวจแรงงาน ให้ลูกจ้างที่อายุต่ำกว่า 18 ปี มีสิทธิลาไปศึกษาอบรมและได้รับค่าจ้างไม่เกิน 30 วันต่อปี ห้ามนายจ้างจ่ายค่าจ้างต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ห้ามหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด เว้นแต่เป็นการหักตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541” นายภูมิพัฒน์ กล่าวและว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ใส่ใจลูกจ้างแรงงานทุกอาชีพ โดยเฉพาะลูกจ้างทำงานบ้าน เช่น ทำความสะอาดบ้าน ซักรีดเสื้อผ้า เลี้ยงเด็กหรือผู้สูงอายุ ดูแลสวนในบ้าน รักษาความปลอดภัย ซ่อมบำรุง ขับรถ ทำอาหาร ดูแลสัตว์เลี้ยง ไม่ให้ถูกเอาเปรียบหรือใช้แรงงานเกินความจำเป็น ถือเป็นการปิดช่องว่างที่ลูกจ้างจะถูกละเมิดสิทธิ โดยร่างกฎหมายฉบับนี้ได้รับฟังความคิดเห็นผ่านระบบกลางทางกฎหมายแล้ว จากนี้ไปกฤษฎีกาจะตรวจสอบรายละเอียดก่อนประกาศบังคับใช้ต่อไป

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image