ครม.เคาะงบกองทุนหลักประกันสุขภาพ ปี’68 รวม 2.35 แสนล้าน 3,844.55 บาท/คน

ครม.เคาะงบกองทุนหลักประกันสุขภาพ ปี’68 รวม 2.35 แสนล้าน 3,844.55 บาท/คน

วันนี้ (10 เมษายน 2567) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 9 เมษายน 2567 ซึ่งมี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน มีมติอนุมัติงบประมาณสำหรับกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2568 วงเงิน 235,842,800,900 บาท

พร้อมทั้งเร่งรัดให้ สธ.ดำเนินการและให้ความสำคัญในด้านการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (PP) แก่ประชาชนทั่วไปโดยเร่งด่วน ขณะเดียวกัน ก็เร่งรัดให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ให้ความสำคัญต่อการดำเนินงานและบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นโดยเร่งด่วน ทั้งนี้ เพื่อลดภาระงบประมาณการให้บริการแก่ผู้ป่วยในระยะยาว รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงินของระบบหลักประกันสุขภาพ

Advertisement

 

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. ยังให้ความเห็นว่าปริมาณการใช้บริการและอัตราค่าใช้จ่ายในการให้บริการแก่ผู้ป่วยของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะค่าเหมาจ่ายรายหัว ขณะที่ค่าบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสำหรับคนไทยทุกคนทุกสิทธิการรักษา มีสัดส่วนเพียง ร้อยละ 10.76 ของงบประมาณทั้งหมด ดังนั้น เพื่อไม่ให้เป็นภาระงบประมาณแผ่นดินมากเกินไป จึงเห็นสมควรที่ สธ. จะเร่งดำเนินการและให้ความสำคัญในด้านการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคแก่ประชาชนทั่วไปโดยเร่งด่วนและมีการติดตามประเมินผลตามตัวชี้วัดที่สะท้อนถึงผลลัพธ์การให้บริการ เพื่อให้มีความคุ้มค่าจากการใช้จ่ายงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ

Advertisement

“นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม. ยังเห็นว่า สปสช. และ อปท.ควรเร่งรัดพิจารณาให้ความสำคัญต่อการดำเนินงานและบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นโดยเร่งด่วน และหากงบประมาณ 2567 มีงบประมาณเหลือจ่ายสูงกว่ารายจ่าย ก็เห็นสมควรให้นำเงินดังกล่าวมาสมทบกับงบประมาณปี 2568 เป็นลำดับแรก” นพ.ชลน่าน กล่าว

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า งบประมาณ 235,842,800,900 บาท ที่ ครม. อนุมัตินี้ จะประกอบด้วย

1.ค่าบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายรายหัว 3,844.55 บาทต่อคน สำหรับประชาชนผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งขาติ จำนวน 47.15 ล้านคน วงเงินรวม 181,297,444,400 บาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2567 ร้อยละ 9.53

2.ค่าบริการผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ 4,209,445,500 บาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.79

3.ค่าบริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง 13,506,166,200 บาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.46

4.ค่าบริการควบคุม ป้องกันและรักษาโรคเรื้อรัง (ผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังในชุมชน และผู้ป่วยโรคหอบหืด) 1,298,924,300 บาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.46

5.ค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับหน่วยบริการในพื้นที่กันดาร พื้นที่เสี่ยงภัย และพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 1,490,288,000 บาท

6.ค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับการบริการระดับปฐมภูมิ 2,180,228,000 บาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.69

7.ค่าบริการสาธารณสุขร่วมกับ อปท. ประกอบด้วย กองทุน กปท. 2,522,207,000 บาท ลดลงร้อยละ 1.11 กองทุน Long Term Care 2,900,246,000 บาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.06 และ กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัด 530,968,000 บาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.05

8.เงินช่วยเหลือเบื้องต้นผู้รับบริการและผู้ให้บริการที่ได้รับความเสียหายจากการให้บริการ 522,923,000 บาท ลดลงร้อยละ 18.65

และ 9.ค่าบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค สำหรับการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรครายบุคคลและครอบครัว สำหรับคนไทยทุกคนทุกสิทธิ 66,37 ล้านคน วงเงิน 25,383,960,500 บาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.57

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image