ก.คมนาคม-สสส. จับมือภาคีรณรงค์เมาไม่ขับ ‘หมอแท้จริง’ ชงจัดหนักขาเมาเพิ่มโทษคุก 11-13 ปี

ก.คมนาคม-สสส. จับมือภาคีรณรงค์เมาไม่ขับ ‘หมอแท้จริง’ ชงจัดหนักขาเมาเพิ่มโทษคุก 11-13 ปี

เมื่อวันที่ 11 เมษายน มูลนิธิเมาไม่ขับ ร่วมกับ การรถไฟแห่งประเทศไทย บริษัท ขนส่ง จำกัด สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่ายรณรงค์ลดอุบัติเหตุเมาไม่ขับ ภาครัฐ ภาคเอกชน จัดกิจกรรมรณรงค์สงกรานต์ปลอดภัย ร่วมใจลดอุบัติเหตุทางถนน ที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ โดยมี นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน โดยบรรยากาศในงานมีการจัดกิจกรรมให้ความรู้กับประชาชนในเรื่องอันตรายจากการเมาแล้วขับ สติ๊กเกอร์แผ่นพับ คู่มือการเดินทางสงกรานต์อย่างไรให้ปลอดภัย

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์และช่วงเทศกาลที่มีวันหยุดต่อเนื่องที่ผ่านมา เป็นข่าวที่นำมาซึ่งความเศร้าเสียใจแก่ญาติมิตรของผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ แม้ว่าหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนจะร่วมกันรณรงค์ป้องกันอย่างเต็มที่ แต่สถิติผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บก็ยังสูงอยู่ จากข้อมูลที่เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับรายงานผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2566 มีผู้เสียชีวิตถึง 264 คน บาดเจ็บอีก 2,208 คน นับเป็นความสูญเสียอย่างมหาศาลของประเทศ สาเหตุสำคัญเกิดจากพฤติกรรมในการขับขี่ ได้แก่ ดื่มแล้วขับ ขับรถเร็ว ฝ่าฝืนกฎจราจร ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2567 คาดการณ์ว่า จะมีประชาชนเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ ระหว่างวันที่ 11 – 17 เมษายนนี้ รวม 7 วัน ประมาณ 2.05 ล้านคน-เที่ยว แบ่งเป็น รถ บขส. 772,730 คน รถไฟระหว่างเมือง 645,600 คน และท่าอากาศยาน 629,365 คน เพิ่มจากเทศกาลสงกรานต์ปีที่แล้วร้อยละ 23.95

Advertisement

“นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้สั่งการให้กระทรวงคมนาคม บูรณาการระบบขนส่งสาธารณะให้เพียงพอ และให้ทุกภาคส่วนอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในการเดินทาง และลดการสูญเสียจากอุบัติเหตุในช่วง 7 วันอันตราย จึงได้เน้นย้ำทุกหน่วยงานในสังกัดให้ความสำคัญกับความปลอดภัย อุบัติเหตุต้องเป็น 0 ด้วยการตรวจเข้มความพร้อมของรถโดยสาร และพนักงานขับรถแบบ 100% โดยได้กำชับให้ บขส. อำนวยความสะดวกพี่น้องประชาชนผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ ตามนโยบายสะดวก สบาย ปลอดภัย ไร้รอยต่อ ซึ่งสถานีขนส่งหมอชิต 2 ได้ปรับปรุงให้สามารถเชื่อมโยงระบบขนส่งสาธารณะ ทั้งรถโดยสารสาธารณะของ ขสมก. และเชื่อมต่อกับระบบรางที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ผู้โดยสารสามารถใช้บริการรถแท็กซี่ได้ที่บริเวณ ชั้น 1 ประตูทางออกที่ 4 สถานีขนส่งหมอชิต 2 เพื่อป้องกันมิจฉาชีพแฝงตัวเข้ามาหลอกลวงและเอาเปรียบผู้โดยสาร หากพบรถแท็กซี่เรียกเก็บค่าบริการเพิ่ม หรือปัญหาอื่นๆ สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ได้ทันที หรือร้องเรียนได้ที่สายด่วน 1584 กรมการขนส่งทางบก” นายสุรพงษ์ กล่าว

Advertisement

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สสส.ขับเคลื่อนงานป้องกัน และแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุ มุ่งปรับลดพฤติกรรมเสี่ยง เพิ่มวินัยความปลอดภัยการใช้รถ และถนนอย่างต่อเนื่อง จากรายงานการบาดเจ็บ และเสียชีวิตช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2566 ของ สธ. พบว่า มีผู้ดื่มแล้วขับ 4,340 ราย โดยดื่มแล้วขับขี่รถจักรยานยนต์และล้มเองสูงถึงร้อยละ 53 ช่วงเทศกาลสงกรานต์ประชาชนจะเดินทางกลับภูมิลำเนา โดยใช้บริการขนส่งสาธารณะเป็นจำนวนมาก พนักงานขับรถจึงต้องมีความพร้อมทางร่างกาย ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งก่อน และระหว่างขับรถ เพราะในขณะที่ดื่มแอลกอฮอล์ร่างกายจะยังไม่ดูดซึม แต่เมื่อขับขี่ยานพาหนะร่างกายจะจะดูดซึมแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เกิดอาการมึนเมา ส่งผลต่อการตัดสินใจ ขาดสติ ถึงขั้นหมดสติ และนำมาสู่การเกิดอุบัติเหตุ ทั้งนี้ ประชาชนที่กลับภูมิลำเนาด้วยตนเอง ต้องไม่ประมาทในการใช้รถใช้ถนน จากข้อมูลของบริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด ระบุว่า ร้อยละ 56 มักเกิดอุบัติเหตุ และเสียชีวิตใกล้บ้านในรัศมี 5 กิโลเมตร และ ร้อยละ 78 เสียชีวิตบนเส้นทางที่ใช้ประจำ จึงขอเน้นย้ำ ดื่มไม่ขับ ไม่ขับเร็ว สวมหมวกนิรภัย เพื่อลดอุบัติเหตุช่วงเทศกาลสงกรานต์

“เทศกาลสงกรานต์เป็นช่วงเวลาแห่งความสุข สสส. อยากให้ทุกคนถึงที่หมายอย่างปลอดภัย ไม่อยากให้เกิดความสูญเสีย เพราะจากสถิติสงกรานต์ปี 2566 มีเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี เกิดอุบัติเหตุที่เกิดจากดื่มแล้วขับมากถึง 628 ราย สูงกว่าปีที่ผ่านมาร้อยละ 21 จึงขอความร่วมมือประชาชนร่วมกันรับผิดชอบต่อสังคม ฝากให้ทุกคนเป็นตำรวจครอบครัว ติดตาม ตรวจ เตือนคนในครอบครัว ที่อาจจะมีโอกาสเสี่ยง ช่วยกันกระตุ้นเตือน เพื่อลดอุบัติเหตุทางถนนจากการดื่มแล้วไปขับรถ เพื่อร่วมรณรงค์สังคม สสส. จึงได้ Kick off แคมเปญ “ดื่มไม่ขับ สงกรานต์กลับบ้านปลอดภัย” สื่อให้เห็นผลกระทบของแอลกอฮอล์ ที่ส่งผลต่อสมองส่วนที่ควบคุมการตัดสินใจ คึกคะนอง กล้าเสี่ยงมากขึ้น และผลิตชุดคู่มือ # save สมองจากอุบัติเหตุการขับขี่ ที่รวบรวมข้อมูล แนวทางป้องกัน สาเหตุที่ทำให้สมองเสียหายจากการไม่สวมหมวกกันน็อก และดื่มแล้วขับ โดยประชาชนสามารถดาวน์โหลดได้ที่ https://www.thaihealth.or.th/?p=353265” นพ.พงศ์เทพ กล่าว

นพ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ กล่าวว่า ถึงเวลาที่ประเทศไทยต้องเอาจริงเอาจังกับปัญหาคนดื่มแล้วขับอย่างเป็นรูปธรรม และพิสูจน์ทราบได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ที่ดื่มแล้วขับชนคนเสียชีวิต ปัจจุบันบทลงโทษ 3-10 ปี ถ้าผู้ก่อเหตุรับสารภาพ แม้ว่าศาลสั่งจำคุกด้วยโทษสูงสุด 10 ปี ผู้ก่อเหตุรับสารภาพศาลลงโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือโทษจำคุก 5 ปี ซึ่งโทษจำคุก 5 ปี อยู่ในเงื่อนไขที่ศาลสามารถรอลงอาญาผู้ก่อเหตุได้ จึงทำให้ผู้ที่ดื่มแล้วขับชนคนตาย ไม่มีรายใดเคยถูกจำคุกเลย มูลนิธิเมาไม่ขับขอเสนอให้กระทรวงคมนาคมช่วยรับเป็นเจ้าภาพ ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเห็นด้วยกับเรื่องนี้

“ดังนั้น มูลนิธิเมาไม่ขับจึงได้ทำหนังสือเสนอให้กับรัฐมนตรีว่การกระทรวงคมนาคม ขอให้สนับสนุนการแก้ไขบทลงโทษเมาแล้วขับชนคนเสียชีวิตจากโทษจำคุก 3-10 ปี เป็นจำคุก 11-13 ปี เพื่อเอาจริงกับผู้ดื่มแล้วขับที่จะทำให้เพื่อร่วมทางผู้ขับขี่อื่นที่ขับขี่ตามกฎจราจรเดือนร้อนถึงขั้นเสียชีวิต และซ้ำร้ายกว่านั้น ต้องกลายเป็นคนพิการตลอดชีวิต ในฐานะที่ตนทำงานขับเคลื่อนการบังคับใช้กฎหมายมากว่า 30 ปี คิดว่าถึงเวลาแล้วที่การจัดการกับคนเมาแล้วขับอย่างจริงจังเพื่อลดความสูญเสียจากปัญหาการดื่มแล้วขับ” นพ.แท้จริง กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image