ดาวหาง 12P/Pons-Brooks ดวงแรกของปีมาแล้ว พรุ่งนี้ ชวนดูท้องฟ้าทิศตะวันตก ก่อนสองทุ่ม

ดาวหาง 12P/Pons-Brooks ที่เราได้ยินชื่อกันตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ขณะนี้กำลังเข้าสู่ช่วงที่เหมาะสมแก่การสังเกตการณ์แล้ว

เมื่อวันที่ 20 เมษายน เฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า ในวันที่ 21 เมษายน ดาวหาง 12P/Pons-Brooks จะโคจรเฉียดเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดที่ระยะห่างประมาณ 116 ล้านกิโลเมตร มีโอกาสที่ดาวหางจะมีความสว่างเพิ่มมากขึ้น ก่อนที่ดาวหางจะค่อยๆ โคจรออกห่างจากดวงอาทิตย์ไปเรื่อยๆ ทำให้มีความสว่างลดลงจนไม่สามารถสังเกตได้

ขณะนี้ดาวหาง 12P/Pons-Brooks มีตำแหน่งปรากฏบนท้องฟ้าอยู่ระหว่างพื้นที่ของกลุ่มดาววัว (Taurus) และกลุ่มดาวแกะ (Aries) สามารถสังเกตการณ์ได้ในช่วงหัวค่ำทางทิศตะวันตกทันทีที่ท้องฟ้ามืดสนิท โดยดาวหางจะปรากฏอยู่บนท้องฟ้าจนถึงเวลาไม่เกิน 20.00 น. ตามเวลาประเทศไทย ก่อนที่จะตกลับขอบฟ้าตามดวงอาทิตย์ไปในที่สุด

เช็กตำแหน่งปรากฏของดาวหางแบบ real time ได้ที่

Advertisement

https://theskylive.com/12p-info

ข้อมูลจากเว็บไซต์ Comet Observers Database ชี้ว่า ขณะนี้ดาวหาง 12P/Pons-Brooks มีค่าแมกนิจูดปรากฏประมาณ 4.3 หมายความว่าผู้สังเกตสามารถมองเห็นดาวหางดวงนี้ได้ด้วยตาเปล่าหากท้องฟ้ามืดสนิทปราศจากมลภาวะทางแสง

ทั้งนี้ หากสังเกตดาวหางด้วยตาเปล่าจะมองเห็นเหมือนเป็นดาวอีกดวงหนึ่งบนท้องฟ้าที่ดูแล้วเป็นฝ้าๆ ไม่คมชัดเหมือนดาวดวงอื่น แนะนำใช้กล้องสองตาช่วยในการสังเกตการณ์ จะสังเกตเห็นหางของดาวหางได้ชัดเจนยิ่งขึ้น สำหรับภาพดาวหาง 12P/Pons-Brooks ขนาดใหญ่ที่ปรากฏให้เห็นในข่าวต่างๆ ล้วนแต่เป็นภาพถ่าย หากสังเกตด้วยตาเปล่าจะไม่เห็นเป็นเช่นนั้น

Advertisement

อย่างไรก็ดี John Bortle นักดาราศาสตร์สมัครเล่นชาวอเมริกัน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านการสังเกตการณ์ดาวหางให้ข้อมูลว่า ในช่วงหลายเดือนก่อนหน้านี้ที่ดาวหางยังคงอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ แต่จู่ๆ ดาวหางก็มีความสว่างเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว (outburst) Bortle จึงเชื่อว่าการเฉียดเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ในวันที่ 21 เมษายนนี้ ดาวหางอาจจะไม่เกิดการ outburst จนมีความสุกสว่างเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอีก แต่อาจจะมีความสว่างเพิ่มขึ้นอีกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ดังนั้น ในช่วงนี้อาจเป็นช่วงเวลาสุดท้ายของการสังเกตการณ์ดาวหาง 12P/Pons-Brooks ซึ่งหลังจากที่ดาวหางโคจรเฉียดดวงอาทิตย์ผ่านไปแล้ว ดาวหางก็จะโคจรออกห่างจากดวงอาทิตย์และโลกออกไปเรื่อยๆ ทำให้มีความสว่างน้อยลงจนไม่สามารถสังเกตได้ ซึ่ง 12P/Pons-Brooks จะโคจรเข้ามาเฉียดโลกและดวงอาทิตย์อีกครั้งในปี ค.ศ.2095 หรืออีกประมาณ 71 ปีนั่นเอง

ภาพ Nielander

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image