กรีนพีซชี้ ก๊าซเรือนกระจกห่อโลกหนา37,000 ล้านตันทำอากาศป่วน เกิดความล่มสลาย ระบบลมมรสุม

กรีนพีซชี้ ก๊าซเรือนกระจกห่อโลกเอาไว้หนาถึง 37,000 ล้านตันทำอากาศปั่นป่วน เกิดความล่มสลายของระบบลมมรสุม

วันที่ 1 พฤษภาคม นายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดเผยกับ มติชนออนไลน์ ว่า สถานการณ์ก๊าซเรือนกระจก ซึ่งส่วนใหญ่คือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทั่วโลกเพิ่มปริมาณมากขึ้นโดยห่อหุ้มโลกหนาขึ้นทุกวัน อธิบายชัดๆ ก็คือ เหมือนมีผ้าห่มผืนหนาๆ มาคลุมโลกเอาไว้ ส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศภายในโลก ส่วนพื้นที่ไหนของโลกจะได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับลักษณะประเทศแต่ละภูมิภาค ซึ่งเวลานี้ประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด โดยคิดเป็นต่อหัวก็คือ จีน อินเดีย อเมริกา ยุโรป ส่วนในภูมิภาคเอเชียก็จะเป็น ญี่ปุ่น เกาหลี และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยทั่วทั้งโลกนั้น สร้างก๊าซเรือนกระจกทั้งสิ้น 37,000 ล้านตัน ส่วนประเทศไทยผลิตอยู่ที่ 440 ล้านตัน คือ ยังไม่ถึง 1% ของปริมาณที่ทั่วโลกผลิต

“ผลของการที่เราผลิตก๊าซเรือนกระจกเพิ่มมากขึ้นทุกๆ ปีนั้น มันไม่ได้ส่งผลว่า ประเทศใดปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากแล้วจะได้รับผลกระทบมาก เพราะเมื่อก๊าซเรือนกระจกออกมา จะลอยสูงขึ้นไปรวมกันในชั้นบรรยากาศห่อหุ้มโลกเอาไว้ ผลที่จะเกิดขึ้นก็คือ ทั่วโลกจะมีความแปรปรวนของสภาพอากาศ เช่น ในยุโรป ก็จะเกิดเป็นคลื่นความร้อนที่ฉับพลัน ซึ่งแต่ละปีจะมีคนเสียชีวิตกับคลื่นความร้อนดังกล่าวจำนวนมาก ส่วนในภูมิภาคเอเชีย ก็จะมีคลื่นความร้อนอีกแบบที่มีความชื้น และทำให้เกิดความล่มสลายของระบบลมมรสุม ฤดูกาลต่างๆ ไม่มีความเสถียร ไม่สามารถพยากรณ์อากาศได้อย่างชัดเจนและแม่นยำ” นายธารากล่าว

เมื่อถามว่า เราสามารถลด หรือทำให้ก๊าซเรือนกระจกที่มีอยู่เวลานี้หายไป ได้หรือไม่ นายธารา กล่าวว่า ก๊าซเรือนกระจกที่ปกคลุมโลกเราตอนนี้ สะสมตัวเองเรื่อยมาตั้งแต่สมัยปฏิวัติอุตสาหกรรม นั่นหมายความว่า มันจะอยู่กับเราได้มากกว่าหนึ่งร้อยถึงสองร้อยปี

Advertisement

“ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์นั้นถือเป็นตัวหนึ่งที่ขับเคลื่อนการพัฒนาในโลกของเรา เพียงแต่เราจะทำอย่างไรให้มันเกิดความสมดุลไม่ให้มากเกินเหมือนที่เป็นอยู่เวลานี้ อย่างเช่น ประเทศไทย เราผลิตอยู่ที่ 440 ล้านตัน แม้จะเป็นแค่ ไม่ถึง 1% ของปริมาณที่ทั้งโลกผลิต แต่ก็ถือว่าปริมาณสูงอยู่ดี ซึ่งหากต้องทำใหเกิดความสมดุลนั้น จะต้องปล่อยไม่เกิน 300-350 ล้านตัน แต่เราก็ยังลดไม่ได้ ตรงกันข้ามคือ มีแต่จะเพิ่มปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ” ผู้อำนวยการกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว

เมื่อถามว่า ผลกระทบที่ใกล้ตัวที่สุดนับจากนี้ที่ประเทศไทยจะได้รับคืออะไรบ้าง นายธารากล่าวว่า ทั่วโลกอุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้น อย่างเช่น ที่อาร์กติก ซึ่งความหนาวเย็นติดลบมากๆ ก็ยังมีอุณหภูมิสูงขึ้นถึง 4 องศาเซลเซียส สำหรับประเทศไทยนั้น พบว่า อุณหภูมิเฉลี่ยรายปีอยู่ที่ 22 องศาเซลเซียส และหากสภาพการณ์ยังเป็นเช่นแบบนี้ไม่มีการจัดการอะไร จะทำให้อีก 50 ปีข้างหน้า อุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 29 องศาเซลเซียส

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image