ชัชชาติ เตรียมส่งแรงงานอัพสกิล 1,000 คน รองรับงานไฮเทค ขอบคุณที่ช่วยสร้างเมือง

ชัชชาติ เตรียมส่งแรงงานอัพสกิล 1,000 คน รองรับงานไฮเทค ขอบคุณที่ช่วยสร้างเมือง

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 1 พฤษภาคม ที่บริเวณลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ร่วมพิธีเปิดงานวันแรงงานแห่งชาติ ปี พ.ศ.2567 โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานในพิธีเปิดงาน

ทั้งนี้ ในช่วงเช้าเวลา 07.30 น. นายชัชชาติ พร้อมด้วย พญ.วันทนีย์ วัฒนะ ปลัด กทม. ได้ร่วมพิธีสงฆ์ เจริญพระพุทธมนต์ และถวายภัตตาหารเช้าในงานวันแรงงานแห่งชาติ ปี พ.ศ.2567 ณ ลานคนเมือง โดย สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธี ซึ่งภายหลังพิธีสงฆ์เสร็จสิ้น ริ้วขบวนลูกจ้างผู้ใช้แรงงาน ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงาน ที่เคลื่อนออกจากบริเวณแยก จปร. ถ.ราชดำเนินนอก ได้มาถึงลานคนเมือง ซึ่งในการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติจะมีการจัดกิจกรรมและการแสดงบนเวทีตลอดทั้งวัน

Advertisement

นายชัชชาติเปิดเผยว่า กทม.ดูแลผู้ใช้แรงงานทั้งหมด ในเรื่องพื้นฐานของการศึกษา สาธารณสุข ที่ดูแลครอบครัวผู้ใช้แรงงาน โดยใช้หน่วยบริการของ กทม.ในทุกๆ ด้าน ซึ่งผู้ใช้แรงงานเป็นส่วนสำคัญของประชากรเมือง กทม.จะพยายามดูแลให้ครบทุกด้าน

นายชัชชาติกล่าวว่า สำหรับศูนย์ฝึกอาชีพของ กทม. ตนได้ให้นโยบายไปว่าจะต้องมีการปรับหลักสูตรฝีมือแรงงานให้เพิ่มเรื่องเทคโนโลยีแห่งอนาคต การต่อยอดองค์ความรู้ในการพัฒนาอาชีพ เช่น การเรียนภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ซึ่งเมื่อวานนี้ (30 เมษายน 2567) ได้คุยกับบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งที่เขาต้องการแรงงานจำนวนมาก ก็อาจจะมีความร่วมมือในการจัดฝึกอบรมด้านไฮเทค โดยมีเป้าหมายส่งพี่น้องแรงงานไปอบรม 1,000 คน สำหรับผู้จบวุฒิ ปวช. แต่โรงงานดังกล่าวตั้งอยู่นอกพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างไรก็ตาม จะเป็นการเพิ่มสกิลแรงงานเพื่อรองรับงานของโลกอนาคต

Advertisement

“วันนี้เป็นวันสำคัญของผู้ใช้แรงงาน ต้องขอขอบคุณผู้ใช้แรงงานที่เป็นแรงสำคัญในการสร้างเมือง เป็นแรงในการก่อสร้างต่างๆ ขอให้ทุกท่านมีความสุข สุขภาพร่างกายแข็งแรง ขอให้ประสบความสำเร็จในอาชีพการงาน กทม.พยายามจะดูแลพวกเราให้ดีที่สุด” นายชัชชาติกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับวันแรงงานในประเทศไทยถูกกล่าวถึงครั้งแรกในปี พ.ศ.2475 ซึ่งตรงกับสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี ในรัชสมัยรัชกาลที่ 8 และรัฐบาลได้รับรองวันที่ 1 พฤษภาคม เป็นวันกรรมกรแห่งชาติในปี พ.ศ.2499 และได้เปลี่ยนชื่อเป็นวันแรงงานในปี พ.ศ.2500 อุตสาหกรรมไทยในสมัยก่อนได้เริ่มขยายตัวมากขึ้น ผู้ใช้แรงงานต่างก็มีปัญหาที่เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งปัญหาแรงงานก็ยังมีความซับซ้อนยากที่จะแก้ไขได้โดยง่าย ทำให้ในปี พ.ศ.2475 ประเทศไทยได้เริ่มมีการจัดการบริหารแรงงาน โดยเป็นการจัดสรรและพัฒนาแรงงาน ตลอดจนคุ้มครองและดูแลสภาพการทำงานของแรงงาน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างรากฐานและส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างให้ดีขึ้น ซึ่งในวันที่ 20 เมษายน พ.ศ.2499 คณะกรรมการจัดงานที่ระลึกแรงงานได้จัดประชุมขึ้น โดยมีความเห็นตรงกันว่าควรกำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคม ให้เป็นวันที่ระลึกถึงแรงงานไทย จึงได้มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีขอให้รับรองวันที่ 1 พฤษภาคม ทำให้นับแต่นั้นมา วันที่ 1 พฤษภาคม จึงกลายเป็น วันกรรมกรแห่งชาติ จนต่อมาก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็น วันแรงงานแห่งชาติ

ในปี พ.ศ.2500 ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติกำหนดวิธีระงับข้อพิพาทแรงงาน ที่ได้กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิ์หยุดงานในวันแรงงานแห่งชาติได้ แต่พระราชบัญญัติฉบับนี้มีอายุได้เพียง 18 เดือนก็ถูกยกเลิกไป โดยมีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 19 มาแทนที่ และให้อำนาจกระทรวงมหาดไทยออกประกาศกำหนดเรื่องการคุ้มครองแรงงาน อีกทั้งยังกำหนดให้วันกรรมกรเป็นวันหยุดตามประเพณี แต่เนื่องด้วยสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนั้นมีความไม่แน่นอน จึงมีคำชี้แจงออกมาในแต่ละปีเพื่อเป็นการเตือนนายจ้างให้ลูกจ้างหยุดงานในวันที่ 1 พฤษภาคม โดยในบางปีก็ได้มีการขอร้องไม่ให้มีการเฉลิมฉลองเพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง

จนกระทั่งมาถึงปี พ.ศ.2517 ได้เปิดโอกาสให้มีการเฉลิมฉลองตามสมควร โดยได้มอบหมายให้กรมแรงงานที่ขณะนั้นสังกัดกระทรวงมหาดไทยจัดงานฉลองวันแรงงานแห่งชาติขึ้นที่สวนลุมพินี ภายในงานจัดให้มีพิธีทำบุญตักบาตร มีนิทรรศการแแสดงความรู้ ตลอดจนกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งนี้ วันแรงงานแห่งชาติ ไม่ถือว่าเป็นวันหยุดทางราชการ ส่วนที่มีการหยุดงานจะเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานเอกชนเท่านั้น

ปัจจุบัน กทม.ได้ออกประกาศอนุญาตให้ผู้ชุมนุมใช้สถานที่ที่ได้จัดหาให้ 7 พื้นที่เพื่อการชุมนุมสาธารณะ ได้แก่ 1.ลานคนเมือง เขตพระนคร 2.ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง 3.ที่สาธารณะใต้สะพานรัชวิภา ใกล้ซอยวิภาวดีรังสิต 36 เขตจตุจักร 4.ลานจอดรถหน้าสำนักงานเขตพระโขนง 5.ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา เขตมีนบุรี 6.ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ เขตทุ่งครุ และ 7.สวนมณฑลภิรมย์ เขตตลิ่งชัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image