อนุทิน ลั่น “เป็นบัญชานายกฯ” ขอให้ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ชี้ สำคัญไม่น้อยกว่านโยบาย “ดิจิทัลวอลเล็ต”

อนุทิน ลั่น “เป็นบัญชานายกฯ” ขอให้ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ชี้ สำคัญไม่น้อยกว่านโยบาย “ดิจิทัลวอลเล็ต” มอบ ‘พิพัฒน์’ ยกระดับประกันสังคมให้เท่าเทียมบัตรทอง

เวลา 7.30 น. เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ที่ ลานคนเมือง กรุงเทพมหานคร สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี (สมเด็จธงชัย) เจ้าคณะใหญ่หนกลาง ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ในพิธีทำบุญเนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ โดยมี นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานฝ่ายฆราวาส พร้อมด้วย นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม นายสมชาย มรกตศรีวรรณ รองอธิบดีกรมการจัดหางงาน พร้อมผู้บริหารและข้าราชการกระทรวงแรงงานเข้าร่วมในพิธี

จากนั้นเวลา 8.30 น. ที่แยก จปร. ถนนราชดำเนินนอก นายพิพัฒน์ ร่วมเดินเท้าในริ้วขบวนเทิดพระเกียรติ พร้อมด้วยริ้วขบวนสภาองค์การลูกจ้าง 16 สภา สหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย และศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบ มายังลานคนเมือง รวมระยะทางกว่า 1 กิโลเมตร

เวลา 11.00 น. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมวันแรงงาน พร้อมรับฟังแถลงข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติ ปี พ.ศ.2567 และกล่าวปาฐกถาพิเศษ

Advertisement

นายอนุทิน กล่าวว่า ตัวแทนทั้งจากฝ่ายกระทรวงแรงงาน และฝ่ายลูกจ้างที่มาร่วมจัดกิจกรรมในวันนี้ ต่างมีความปรารถนาดี ต้องการเป็นกำลังใจและจะสนับสนุนให้พ่อแม่พี่น้องผู้ใช้แรงงานทุกท่านได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีรายได้ที่ดีขึ้น มีสวัสดิการที่ดีขึ้นและมีความมั่นคงปลอดภัยในการเป็นผู้ใช้แรงงาน ถือเป็นเป้าหมายหลักของรัฐบาล ทั้งนี้ เราทุกคนอยู่ในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตแรงงานและการจ้างงาน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้ดำเนินการยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ใช้แรงงานผ่านกระทรวงแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นการเร่งรัดปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวัน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม เป็นต้นไป

“ต้องขออภัยที่ต้องใช้เวลา เนื่องจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำต้องได้รับความเห็นชอบจากหลายฝ่าย การอธิบายต้องใช้การโน้มน้าว อธิบาย รุกบ้างถอยบ้าง แต่ในที่สุดคือความมุ่งมั่นของรัฐบาล ท่านนายกฯ ไม่ได้มอบหมายให้พวกผมมาดำเนินการเรื่องนี้ ท่านสั่งการ ถ้าเป็นภาษาราชการเรียกว่าเป็นบัญชาของท่านนายกฯ ให้รมว.แรงงาน ต้องปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาทให้ได้ เพราะนี่เป็นนโยบายนี้สำคัญไม่น้อยกว่านโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ดังนั้น เมื่อเป็นบัญชาก็ต้องปฏิบัติ และเราเต็มใจปฏิบัติอย่างเต็มที่เต็มใจ และตนขอแสดงความยินดีล่วงหน้า” นายอนุทินกล่าวนอกจากนั้น นายอนุทิน กล่าวว่า ตนได้กำชับต่อ รมว.แรงงาน ในเรื่องของการพัฒนาสิทธิการรักษาพยาบาลในระบบสำนักงานประกันสังคมให้มีความเท่าเทียมกับสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) สิ่งนี้ไม่จำเป็นต้องมีการเรียกร้องเพราะเป็นหน้าที่ที่ตนต้องดำเนินการ เพื่อให้การรักษาพยาบาลมีความครอบคลุมให้ได้ และตนมั่นใจว่าจะสามารถผลักดันเรื่องนี้ได้อย่างแน่นอน ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานยังได้ดำเนินการเพื่อยกระดับมาตรฐานสิทธิแรงงานไทย ด้วยการแต่งตั้งคณะทำงานการให้สัตยาบันต่อ “อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ” หลายฉบับ ไม่ว่าจะเป็นฉบับที่ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว สิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรองร่วม การปรึกษาหารือไตรภาคี และอนุสัญญาที่ว่าด้วยความปลอดภัยและสุขภาพ อนามัยในทำงาน โดยเฉพาะฉบับที่ 144 ที่เป็นเรื่องการปรึกษาหารือไตรภาคีนั้น จะมีการเสนอคณะรัฐมนตรี ให้ความเห็นชอบในเดือนพฤษภาคมนี้ และลงนามให้สัตยาบันได้เดือนมิถุนายน ณ นครเจนนีวา ต่อไป ถือเป็นข่าวดีสำหรับวันแรงงานแห่งชาติของเราในปีนี้ และข้อเรียกร้องต่างๆ ที่ท่านได้นำมาเสนอในวันนี้ รัฐบาลจะรับฟัง และให้ความสำคัญในการพิจารณาขับเคลื่อนต่อไป

ด้าน นายพิพัฒน์ กล่าวว่า วันนี้มีความสำคัญต่อพี่น้องแรงงานอย่างยิ่ง ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโต และขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน โดยปีนี้สภาองค์การลูกจ้าง 16 สภา สหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย และศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบ เห็นชอบให้ นายทวี ดียิ่ง ประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานอุตสาหกรรมเอกชน เป็นประธานคณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ.2567 โดยรัฐบาลให้การสนับสนุนงบประมาณ วัสดุอุปกรณ์และอำนวยความสะดวกในการจัดงาน ตนขอขอบคุณแรงงานทุกท่านสำหรับขอเรียกร้องที่ผ่านมา ซึ่งกระทรวงฯ ได้นำข้อเรียกร้องมาดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอน มีการหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน เพื่อพัฒนาการให้บริการพี่น้องแรงงานนายพิพัฒน์กล่าวว่า สำหรับวันแรงงานฯ ปีนี้ คณะกรรมการจัดงานได้เสนอ 10 ข้อเรียกร้อง นำเสนอปัญหาที่มีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องแรงงาน เพื่อนำเสนอต่อรัฐบาลต่อไป ทั้งนี้ กระทรวงแรงงาน ได้ดำเนินงานสร้างคุณภาพชีวิตให้แรงงาน อาทิ เร่งรัดปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาททั่วประเทศ, แต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ในเดือนมิถุนายนนี้ ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว ฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรองร่วม ฉบับที่ 144 ว่าด้วยการปรึกษาหารือไตรภาคี ซึ่งจะมีการเสนอต่อคณะรัฐมนตรีในเดือนนี้ และฉบับที่ 155 ว่าด้วยความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยในการทำงาน

Advertisement

ขณะที่ นายปิยรัชต์ สมาทา ประธานสภาองค์การลูกจ้างอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ยื่นข้อเรียกร้องถึงรัฐบาล 10 ข้อ ประกอบด้วย
1.ขอให้รัฐบาลรับรองสนธิสัญญาแรงงานแห่งชาติว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิ์ในการรวมตัว และสนธิสัญญาว่าด้วยสิทธิ์ในการรวมตัว และการร่วมเจรจาต่อรอง

2.ขอให้รัฐบาลตรา พ.ร.บ.หรือประกาศเป็นกฎกระทรวงให้มีการจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงเพื่อเป็นหลักประกันในการทำงานของลูกจ้าง

3.ขอให้รัฐบาลปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันสังคม ดังนี้ การรับเงินบำนาญโดยให้มีอัตราเริ่มต้นที่ 5,000 ในกรณีที่ผู้ประกันตนเกษียณอายุ และรับเงินบำนาญแล้ว เพื่อสมัครเป็นผู้ประกันตนตาม มาตรา 39 ให้มีสิทธิ์ได้รับเงินบำนาญต่อไป เมื่อผู้ประกันตนรับเงินบำนาญชราภาพแล้ว ขอให้คุ้มครองสิทธิ์รักษาพยาบาลได้ตลอดชีวิต ในกรณีที่ผู้ประกันตนเข้ารับการรักษาพยาบาลเกี่ยวกับโรคร้ายแรง และโรคเรื้อรัง เช่น โรคมะเร็งทุกชนิด ให้ครอบคลุมถึงการใช้ยารักษาพยาบาลตามที่แพทย์แนะนำ ในกรณีที่ผู้ประกันตนพ้นสภาพตาม มาตรา 33 และผู้ประกันตนตาม มาตรา 39 การคำนวณเงินค่าจ้าง 60 เดือนเป็นค่าตอบแทนต่าง ๆ ให้ใช้ฐานค่าจ้างจาก มาตรา 33 ขยายอายุผู้ประกันตนจาก 15-60 ปี เป็น 15-70 ปี เพื่อให้เข้ากับสังคมผู้สูงอายุ ในกรณีที่ผู้ประกันตนตาม ม.40 เพื่อสร้างแรงจูงใจ และลดความเหลื่อมล้ำ ให้รวมทั้งทางเลือกที่หนึ่งและทางเลือกที่สอง เป็นทางเลือกเดียวกัน

4.ขอให้รัฐบาลในกระทรวงแรงงานจัดสร้างโรงพยาบาลประกันสังคม และจัดตั้งแรงงานเพื่อผู้ใช้แรงงาน

5.ขอให้รัฐบาลในกระทรวงแรงงานใช้มาตรการอย่างเคร่งครัด ให้สถานประกอบการที่จ้างผู้รับเหมาค่าแรงต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 2541 ตาม ม.11/16.ขอให้รัฐบาลเร่งรัดให้ได้ข้อสรุปในแนวทางการจัดระบบสวัสดิการ ค่ารักษาพยาบาลหลังเกษียณอายุให้ลูกจ้างภาครัฐวิสาหกิจได้มีระบบสวัสดิการจากรัฐที่เทียบเคียงกับข้าราชการบำนาญ และลูกจ้างในระบบสังคม มาตรา 33 รวมให้ลูกจ้างรัฐวิสาหกิจได้รับการลดหย่อนภาษีได้จากค่าตอบแทนความชอบด้วยหลักเกณฑ์เช่นเดียวกันกับการลดหย่อนรายได้ก้อนสุดท้าย หรือลดหย่อนค่าชดเชยที่ลูกจ้างได้รับเมื่อถูกเลิกจ้าง และขอให้รัฐบาลลดหย่อนภาษีเงินได้ก้อนสุดท้ายจำนวน 1,000,000 บาททในกรณีที่ออกทุกกรณี

7.ขอให้รัฐบาลเพิ่มหลักการความมั่นคง โดยเริ่ม พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว

8.ขอให้รัฐบาลยกระดับการคุ้มครองความปลอดภัยแรงงาน ขึ้นเป็นกรมความปลอดภัยแรงงาน

9.เมื่อลูกจ้างบาดเจ็บ ป่วย และประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้ลูกจ้างที่เข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลจนสิ้นสุดการรักษาพยาบาล และหากมีค่ารักษาพยาบาลเกินวงเงินที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ให้สำนักงานกองทุนทดแทนจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลส่วนที่เกินให้กับลูกจ้างจนสิ้นสุดการรักษาพยาบาล

10.ขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานแต่งตั้งคณะทำงานตามข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติปี 2567 และจัดให้มีการประชุมเพื่อติดตามผลทุกเดือน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image