กรมสุขภาพจิต เปิดตัว “แบบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนไทย” ฉบับแรกของประเทศ

กรมสุขภาพจิต เปิดตัว “แบบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนไทย” ฉบับแรกของประเทศ เน้นค้นหาเด็กบกพร่องทางการเรียนรู้

เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานเปิดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพนักจิตวิทยาด้านการใช้แบบทดสอบมาตรฐานวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนไทย Thai Standardized Achievement Test (TSAT) โดยมี นพ.กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้ช่วยอธิบดีกรมสุขภาพจิตและผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวนปรุง กล่าวรายงาน พร้อมด้วย นางสุภาวดี นวลมณี นายกสมาคมนักจิตวิทยาคลินิกไทย ร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิด

นพ.พงศ์เกษมกล่าวว่า สถานการณ์ปัญหาสุขภาพจิตเด็กในประเทศไทยมีความน่าเป็นห่วงมากขึ้น กรมสุขภาพจิตจึงมุ่งเน้นการส่งเสริมป้องกันปัญหาสุขภาพจิตเด็กและเยาวชนทั้งการพัฒนาทักษะชีวิตและความฉลาดทางสังคม พร้อมส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยเชิงรับและเชิงรุก ป้องกันปัญหาการล้อเลียนกันในโรงเรียน ค้นหาและช่วยเหลือเด็กกลุ่มเสี่ยงอย่างทันท่วงทีและดูแลคุ้มครองเด็กกลุ่มป่วยอย่างถูกต้อง เท่าเทียม ทั่วถึง ต่อเนื่องจนหายทุเลา โดยเฉพาะการค้นหาและช่วยเหลือ ต้องขอขอบคุณและชื่นชมจิตแพทย์ ทีมนักจิตวิทยาคลินิกโรงพยาบาลสวนปรุงและคณะ ที่ได้พัฒนาแบบทดสอบมาตรฐานวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสำหรับผู้เรียนไทย หรือ TSAT ขึ้น เป็นแบบทดสอบมาตรฐานฉบับแรกในประเทศไทย โดยแบบทดสอบนี้จะช่วยให้นักจิตวิทยาคลินิกในประเทศไทยทั้งในระบบสาธารณสุขและองค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้อง ได้มีเครื่องมือในการช่วยค้นหาเด็กที่มีภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ด้วยการวินิจฉัยที่ถูกต้องจากจิตแพทย์ ช่วยลดผลกระทบทั้งทางจิตใจ ทางการเรียนและทางสังคม และนำเข้าสู่การช่วยเหลืออย่างเหมาะสม

“กรมสุขภาพจิต โดยโรงพยาบาลสวนปรุง ตั้งเป้าหมายว่าการพัฒนาศักยภาพนักจิตวิทยาด้านการใช้แบบทดสอบมาตรฐานวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนไทย Thai Standardized Achievement Test (TSAT) ในครั้งนี้จะเป็นรุ่นนำร่องเพื่อนำเครื่องมือไปใช้ตรวจวินิจฉัย โดยสมาคมนักจิตวิทยาคลินิกไทยจะได้ยกระดับและนำไปใช้ในการดูแลเด็กที่มีปัญหาการเรียนร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการต่อไป” นพ.พงศ์เกษมกล่าว

Advertisement

ด้าน นพ.กิตต์กวีกล่าวว่า ในบริบทประเทศไทยยังไม่มีแบบทดสอบที่มีมาตรฐานเพื่อตรวจวินิจฉัยภาวะดังกล่าวสำหรับเด็กไทย แบบทดสอบมาตรฐานวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสำหรับผู้เรียนไทย Thai Standardized Achievement Test (TSAT) จึงเป็นแบบทดสอบมาตรฐานฉบับแรกในประเทศไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อวัดความบกพร่องทางการเรียนรู้ของเด็กไทย ช่วงอายุระหว่าง 6–12 ปี โดยพัฒนาแบบทดสอบตามทฤษฎีการวัดผล ทฤษฎีเชาวน์ปัญญาและการรู้คิด และอิงกับหลักสูตรแกนกลางของกระทรวงศึกษาธิการ มีเกณฑ์มาตรฐานที่สามารถระบุได้ถึงปัญหาความบกพร่องทางการเรียนรู้ของเด็ก ทั้งด้านการอ่าน การเขียนและการคำนวณ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณการวิจัยจากกรมสุขภาพจิต แบบทดสอบมาตรฐานวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนไทย ใช้เพื่อวัดความบกพร่องทางการเรียนรู้ของเด็กไทยช่วงอายุระหว่าง 6–12 ปี ประกอบด้วย แบบทดสอบย่อย 11 แบบทดสอบ ได้แก่ การอ่านคำ การแก้โจทย์คณิตศาสตร์ การสะกดคำ การผสมเสียง การเขียนประโยค ความคล่องในการอ่าน การคำนวณ การอ่านจับใจความ ความคล่องในการเขียน การอ่านออกเสียง ความคล่องในการคำนวณ รวมถึงได้มีการจัดทำ “คู่มือแนวทางการช่วยเหลือปัญหาทางการเรียนสำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ ด้านการอ่าน การเขียน และการคำนวณ” โดยนักจิตวิทยาคลินิกและผู้ที่เกี่ยวข้องจะได้นำไปใช้ในการตรวจประเมินเด็ก หากพบปัญหาจะได้ส่งต่อเข้าสู่การวางแผนการช่วยเหลืออย่างเหมาะสมขณะที่ พญ.จรรยพร เจียมเจริญกุล นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ หัวหน้าทีมวิจัย กล่าวว่า ความบกพร่องทางการเรียนรู้จะส่งผลโดยตรงต่อการเรียนของเด็กและอาจนำไปสู่ปัญหาเชิงสุขภาพจิตและพฤติกรรมตามมาได้ เช่น เด็กอาจมีความไม่มั่นใจในตนเอง มองตนเองในแง่ลบ รู้สึกตึงเครียดและกดดันจากการเรียน มีความวิตกกังวลได้ง่าย อาจส่งผลต่อการปรับตัวเข้ากับสังคม และอาจนำมาซึ่งโรคซึมเศร้าได้ในอนาคต การค้นหาและช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีและนำเด็กเข้าสู่การรักษาอย่างเหมาะสมจึงเป็นสิ่งสำคัญ ในฐานะจิตแพทย์การวินิจฉัยเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ได้อย่างแม่นยำและรวดเร็วมีความสำคัญในการวางแผนช่วยเหลือเด็กประถมวัย แต่ยังขาดเครื่องมือที่มีความตรงและความเชื่อมั่นที่ดีของแบบทดสอบทั้งในด้านของความสอดคล้องกับหลักสูตรการศึกษาของไทยในปัจจุบัน และขั้นตอนการพัฒนาที่น่าเชื่อถือ จึงได้ร่วมกับกลุ่มงานจิตวิทยาโรงพยาบาลสวนปรุง/อาจารย์ในภาควิชาจิตวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และนักวิชาการอิสระ พัฒนาแบบทดสอบดังกล่าว โดยได้ทบทวนวรรณกรรมในทฤษฎีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องและได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านหลักสูตรการศึกษาระดับประถมศึกษาในการสอนกลุ่มสาระวิชาภาษาไทยและวิชาคณิตศาสตร์ รวมถึงครูการศึกษาพิเศษ นักกิจกรรมบำบัดและนักแก้ไขการพูด จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น และนักจิตวิทยาการศึกษามาให้คำแนะนำแก่ทีมวิจัยในการสร้างข้อคำถามของแบบทดสอบเพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับหลักสูตรขั้นพื้นฐานในปัจจุบันและครอบคลุมเนื้อหาสาระการเรียนการสอนในห้องเรียน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image