‘ศุภมาส’  ประกาศเจตจำนง ปฏิวัติการป้องกันจัดการโรคหัวใจและหลอดเลือดเชิงรุก

ศุภมาส  ประกาศเจตจำนงในการปฏิวัติการป้องกันและจัดการโรคหัวใจและหลอดเลือดเชิงรุก ยกระดับสาธารณสุขของไทยผ่านงานวิจัยและนวัตกรรมล้ำสมัย ในการประชุมนานาชาติด้านจีโนมิกส์ (ICG) ครั้งที่ 19

เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติ The Annual Meeting of International Conference on Gnomics (ICG-19) จัดโดย BGI Genomics ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย พร้อมประกาศเจตจำนงในการดำเนินการ (LOI) เกี่ยวกับความร่วมมือด้านนวัตกรรมที่ใช้ในการคัดกรอง ป้องกัน และจัดการโรคหัวใจและหลอดเลือดในประเทศไทย โดยมี ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร รักษาการแทนอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย Professor Yang Huanming, Academician of Chinese Academyof Sciences Co – founder of BGI Group นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย ผู้กำหนดนโยบาย และผู้นำในอุตสาหกรรมจากทั่วโลกเข้าร่วมอย่างคับคั่ง ณ ห้องประชุม 1210 ชั้น 12 อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

น.ส.ศุภมาสกล่าวว่า การประชุมนานาชาติด้านจีโนมิกส์ครั้งที่ 19 นับเป็นก้าวสำคัญในการแสวงหาความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมในสาขาจีโนมิกส์และเทคโนโลยีชีวภาพร่วมกัน ประเทศไทยตระหนักถึงศักยภาพอันมหาศาลของสาขาจีโนมิกส์และเทคโนโลยีชีวภาพ และมุ่งมั่นที่จะใช้ประโยชน์จากสาขาเหล่านี้เพื่อประโยชน์ของสังคม ปัจจุบัน ประเทศไทยมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมากในด้านจีโนมิกส์และเทคโนโลยีชีวภาพ ก่อให้เกิดความสำเร็จอันโดดเด่นในด้านต่างๆ เช่น การแพทย์แม่นยำ เทคโนโลยีชีวภาพการเกษตร และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

Advertisement

รวมทั้งนวัตกรรมที่ใช้ในการคัดกรอง ป้องกัน และจัดการโรคหัวใจและหลอดเลือดในประเทศไทยด้วย ซึ่งถือเป็นการปฏิวัติการป้องกันและจัดการโรคหัวใจและหลอดเลือด ผ่านความร่วมมือระหว่างศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) และแบงคอกจีโนมิกส์อินโนเวชัน (BKGI) ที่ได้ร่วมกันพัฒนานวัตกรรมใหม่ เป็นเครื่องมือคัดกรองความเสี่ยงเบื้องต้นของโรคหัวใจและหลอดเลือดแดง (ASCVD) ที่เรียกว่าการตรวจ Trimethylamine N-Oxide (TMAO) ในเลือด ซึ่งเป็นสารเมตาบอไลต์ที่ผลิตโดยแบคทีเรียในลำไส้ โดยได้รับการระบุว่าเป็นตัวบ่งชี้ทางชีวภาพใหม่สำหรับความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด การนำการตรวจนี้ไปใช้ในระบบการดูแลสุขภาพของไทยจะช่วยในการคัดกรองบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ก่อนที่จะมีอาการ ทำให้สามารถดูแลเชิงป้องกันได้อย่างเหมาะสม

“เนื่องจากโรคที่มีความเกี่ยวข้องกับหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุสำคัญของการเจ็บป่วยและเสียชีวิตในประเทศไทย มีผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันประมาณ 100,000 รายต่อปี โรคหลอดเลือดสมองมีผู้ป่วยประมาณ 300,000 รายต่อปี คิดเป็นค่าใช้จ่ายของภาครัฐไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาทต่อปี โดยค่าใช้จ่ายนี้ยังไม่รวมถึงค่าเสียโอกาสและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในการดูแลประคับประคองด้วย นวัตกรรมนี้จึงไม่เพียงแต่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของพลเมืองเท่านั้น แต่ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศที่เกี่ยวข้องได้อีกด้วย“ รมว.อว.กล่าว

Advertisement

การประชุมโครงการการประชุมวิชาการนานาชาติ The Annual Meeting of International Conference on Gnomics (ICG-19) จัดขึ้นในวันที่ 18-19 พฤษภาคม 2567 เพื่อเป็นเวทีสำหรับแลกเปลี่ยนความรู้และร่วมมือในการวิจัยที่ล้ำสมัยในด้านจีโนมิกส์และเทคโนโลยีชีวภาพ การประชุมนี้แสดงให้เห็นถึงความทุ่มเทของประเทศไทยในการพัฒนาความรู้และการใช้ประโยชน์จากศักยภาพของสาขาวิชาเหล่านี้เพื่อประโยชน์สูงสุดของสังคม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image