กรมจัดหางาน-ดีอี ตัดวงจร ‘มิจฉาชีพ’ หลอกคนหางาน ตปท.เปิดแจ้งเบาะแสปิดเพจลวง
วันนี้ (16 กรกฎาคม 2567) นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กกจ.วางแนวทางรับมือมิจฉาชีพหลอกคนไทยทำงานต่างประเทศ โดยมีหนังสือขอความร่วมมือบริษัทจัดหางานต่างประเทศที่จดทะเบียนกับกรมการจัดหางานถูกต้องตามกฎหมาย จำนวน 151 แห่งทั่วประเทศ ร่วมมือแจ้งเบาะแสกรณีถูกแอบอ้างใช้ชื่อบริษัท เพื่อ กกจ.ประสานกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) ดำเนินการปิดเพจเฟซบุ๊กตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
“ที่ผ่านมา กกจ.ให้ความสำคัญกับการป้องกันการหลอกลวงคนหางานต่างประเทศอย่างมาก โดยชุดตรวจสอบ เฝ้าระวัง จะตอบโต้ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ช่องทางต่างๆ ทันทีที่พบเห็นผู้มีพฤติการณ์หลอกลวง โดยนำภาพและข้อความแจ้งเตือนใต้โพสต์ ควบคู่กับการประชาสัมพันธ์วิธีการไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ช่องทางการตรวจสอบรายชื่อบริษัทจัดหางานที่ได้รับอนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย และเผยแพร่ข่าวให้ประชาชนทราบถึงพฤติการณ์ของผู้ที่หลอกลวงลวงคนหางานอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ประชาชนรู้เท่าทันกลโกงของมิจฉาชีพ แต่ก็ยังมีคนหางานตกเป็นเหยื่อจำนวนมาก โดยปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 มีการดำเนินคดีโฆษณาจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาตแล้วจำนวน 24 คดี ประสานกระทรวงดีอีปิดเพจเฟซบุ๊ก จำนวน 30 URL โพสต์ตอบโต้ ชี้แจง พร้อมประชาสัมพันธ์ จำนวน 4,532 ครั้ง ประชาชนเข้าถึงโพสต์ได้รับทราบข้อมูลข่าวสาร จำนวน 745,134 ครั้ง” นายสมชาย กล่าวและว่า นอกจากนี้ ยังมีหนังสือถึงสำนักงานจัดหางานจังหวัดทั่วประเทศ และสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 เพื่อเฝ้าระวังป้องกันการหลอกลวงคนหางานในพื้นที่ พร้อมประสานสื่อมวลชน อาทิ สื่อวิทยุ โทรทัศน์ และสื่อสิ่งพิมพ์ เพื่อกระจายข่าวสารไปยังคนหางาน
อธิบดี กกจ. กล่าวต่อไปว่า มิจฉาชีพนิยมใช้ช่องทางออนไลน์โดยเฉพาะเพจเฟซบุ๊ก เนื่องจากพิสูจน์ตัวตนได้ยาก ผู้หลอกลวงส่วนใหญ่ตั้งฐานการหลอกลวงในต่างประเทศลักษณะคล้ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ สแกมเมอร์ และใช้บัญชีม้าเป็นผู้รับโอนเงิน นอกจากนี้ยังอาศัยการลงโฆษณาบนเฟซบุ๊กทำให้คนหางานต่างประเทศซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของมิจฉาชีพเห็นโพสต์จนหลงเชื่อและได้รับความเสียหายเป็นวงกว้าง
“ขอย้ำเตือนอีกครั้ง ก่อนตัดสินใจโอนเงินให้สายนายหน้าหรือผู้แทนบริษัทรายใด ขอให้ตรวจสอบรายชื่อบริษัทจัดหางานที่ได้รับอนุญาตให้จัดส่งคนหางานไปทำงานต่างประเทศจาก กกจ. ที่เว็บไซต์ กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน doe.go.th/ipd เสียก่อน และควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับประเทศที่จะเดินทางไปทำงาน เพื่อป้องกันการหลอกลวง” นายสมชาย กล่าวและว่า หากคนหางานได้รับความเดือดร้อนจากการถูกมิจฉาชีพหลอกลวงไปทำงานต่างประเทศ สามารถขอรับคำปรึกษาและขอความช่วยเหลือได้ที่ กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน โทร.0 2248 4792 และ โทร.0 2245 6763 หรือที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร.1694