ประกันสังคมเปิดขั้นตอน ยันตามหนี้รัฐบาลทุกปี ไม่เฉพาะนายจ้าง
เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม นางนิยดา เสนีย์มโนมัย โฆษกสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังจากที่ สปส.ได้เปิดกองบริหารจัดการเงินค้างชำระ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามกรณีที่นายจ้างค้างส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมว่า หลังจากที่ สปส.ตั้งกองบริหารจัดการเงินค้างชำระ เพื่อติดตามนายจ้างส่งเงินสมทบเข้ากองทุน มีการตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลเองก็มีการค้างส่งเงินสมทบเข้ากองทุนเช่นกัน โดยเป็นเงินกว่า 6 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ โดยปกติที่หน่วยงานภาครัฐต้องตั้งงบประมาณประจำปี เพื่อของบกับรัฐบาล ทาง สปส.ได้นำจำนวนเงินที่รัฐบาลค้างส่งเงินสมทบเข้ากองทุนฯ ใส่ไปในแผนงบแต่ละปีด้วย
“ที่ผ่านมา รัฐบาลก็พยายามจัดสรรงบจ่ายให้กองทุนเพื่อชำระหนี้ดังกล่าว โดยตัวเลขหนี้ลดลงทุกปี เช่น ปี 2568 ได้ระบุว่า รัฐบาลจะต้องจ่ายเงินสมทบกี่บาท แล้วมียอดที่ค้างส่งอยู่กี่บาท เราตั้งไว้หมดเลย รัฐบาลได้ทำตามวินัยการเงินการคลัง คือ เงินสมทบปีปัจจุบัน จะไม่มีการค้างจ่าย ต้องส่งให้เต็มยอดที่ สปส.ขอไป ส่วนเงินสมทบที่ค้างชำระ ก็ต้องพิจารณาดูว่ามีงบส่วนไหนที่สามารถบริหารจัดการมาคืนให้กองทุนฯได้ ที่ผ่านมาในขั้นตอนการแปรญัตติก็ให้เพิ่มขึ้นอีก อย่างปีล่าสุด ก็ได้เพิ่มมาหลายร้อยล้านบาท” นางนิยดากล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า สปส.ได้คิดดอกเบี้ยค้างส่งเงินสมทบจากภาครัฐอย่างไร เหมือนกับของส่วนนายจ้างหรือไม่ นางนิยดากล่าวว่า ในเรื่องดอกเบี้ยส่วนของรัฐบาล ไม่ได้มีการระบุไว้ในกฎหมาย แต่ในมุมมองแล้ว ผู้ประกันตนหรือนายจ้างอาจมองไม่ยุติธรรมที่รัฐบาลค้างส่งเงินสมทบ แต่ไม่มีดอกเบี้ย แต่ถ้าดูในอีกแง่หนึ่ง คือรัฐบาลก็ต้องจัดสรรเงิน เพื่อดูภาพรวมของประเทศในกระทรวงอื่นๆ ด้วยว่างบที่มีใช้ประโยชน์ได้มากน้อยแค่ไหน
เมื่อถามว่า ยอดการค้างส่งเงินสมทบในส่วนของรัฐบาลประมาณกี่บาท นางนิยดากล่าวว่า จำตัวเลขไม่ได้ แต่ทั้งหมดอยู่ในแผนของบที่ สปส.ได้ยื่นขอไปแล้ว แต่ยืนยันได้ว่ายอดค้างชำระลดลงทุกปี เพราะรัฐบาลเองก็พยายามคืนของเก่าให้มากที่สุด
ต่อข้อถามว่า การที่รัฐบาลค้างเงินสมทบ ส่งผลกระทบต่อการบริหารงานของ สปส.อย่างไร นางนิยดากล่าวว่า ไม่มีผลกระทบ เพราะมีกฎหมายรองรับเรื่องเหล่านี้ ในมาตราที่ 24 พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกันสังคม พ.ศ.2533 ระบุไว้ว่า ถ้าปีไหนที่กองทุนประกันสังคมมีเงินไม่พอใช้จ่าย รัฐบาลจะต้องจ่ายให้ แต่เหตุการณ์นี้ยังไม่เคยเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า ที่ผ่านมา สปส.ได้ทวงถามยอดค่าชำระทั้งจากรัฐบาลและนายจ้างอย่างต่อเนื่อง ไม่ได้เพิกเฉยแต่อย่างใด