‘พิพัฒน์’ เผยไทยต้องการกำลังคนดิจิทัลกว่า 1.4 แสน ผนึกเครือข่ายเร่งพลิกโฉมแรงงานสู่อนาคต

‘พิพัฒน์’ เผยไทยต้องการกำลังคนดิจิทัลกว่า 1.4 แสน ผนึกเครือข่ายเร่งพลิกโฉมแรงงานสู่อนาคต

เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีเปิดงาน Thailand Digital Employer Day 2024 “ยกระดับแรงงานดิจิทัล ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย สู่ความมั่งคั่งและยั่งยืน” พร้อมทั้งกล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “ยกระดับศักยภาพแรงงานไทย สู่การจ้างงานยุคดิจิทัล” มอบโล่ประกาศเกียรติคุณให้แก่เครือข่ายพัฒนาฝีมือแรงงาน 34 แห่ง ที่ให้การสนับสนุนกิจกรรมการพัฒนาฝีมือแรงงาน ประจำปี 2566 – 2567 และประกาศเจตนารมณ์ร่วมภาคีเครือข่าย “ขับเคลื่อนการยกระดับสมรรถนะดิจิทัลแรงงานไทยสู่สากล เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ” โดยมี นายแพทริก เบิร์น เอกอัครราชทูตประเทศไอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย, คณะผู้บริหารกระทรวงแรงงาน อาทิ นายธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน, นายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน, นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน, นายเดชา พฤกษ์พัฒนรักษ์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน, นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม, นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน, นายสมาสภ์ ปัทมะสุคนธ์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน, น.ส.บุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ฯลฯ พร้อมด้วย Mr.Damien O’Sullivan ผู้บริหารมูลนิธิเพื่อการพัฒนาดิจิทัล บริษัท ไอซีดีแอล (ไทยแลนด์) จำกัด, สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย, ผู้บริหารของหน่วยงานภาครัฐ เครือข่ายพัฒนาฝีมือแรงงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประมาณ 400 คน ที่กระทรวงแรงงาน

นายพิพัฒน์ กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ ยกระดับศักยภาพแรงงานไทย สู่การจ้างงานยุคดิจิทัล ว่า การจัดงานในครั้งนี้ เป็นการยกระดับศักยภาพแรงงานไทยสู่สากลเพื่อการจ้างงานยุคดิจิทัลสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยสู่ความมั่งคั่ง ความยั่งยืนทุกอุตสากรรมของโลกนั้น เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล และการพัฒนาทักษะดิจิทัลให้ได้คุณภาพและมาตรฐานระดับสากล แรงงานไทยจึงเป็นสิ่งจําเป็นอย่างยิ่งสําหรับบุคลากรทุกคนในทุกสถานประกอบการ เพื่อให้สามารถทํางานกับเทคโนโลยีได้ เพื่อนําพาองค์กรให้มีความสามารถในการแข่งขันไปสู่ความสําเร็จอย่างยั่งยืน

Advertisement

“กระทรวงแรงงานกําหนดวิสัยทัศน์ในการทํางานให้แรงงานไทยพร้อมรับมือกับการทํางานยุคดิจิทัล ตั้งแต่ระดับพื้นฐานในทุกสถานประกอบการ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทํางาน ลดต้นทุนในสถานประกอบการได้นอกจากนี้ การมีระบบรองรับและพัฒนาความสามารถที่เที่ยงตรง จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนายจ้าง เช่น การคัดเลือกคนเข้าทํางาน การเลื่อนตําแหน่งงานในองค์กร รวมถึงเป็นประโยชน์ในการกําหนดค่าตอบแทนที่เหมาะสมได้สอดคล้องกับนโยบายการยกระดับคุณภาพและค่าจ้างของแรงงาน” นายพิพัฒน์ กล่าว

Advertisement

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยต้องการกําลังแรงงานด้านดิจิทัลมากกว่า 140,000 คน มีผู้ประกอบการในสาขาดิจิทัลมากกว่า 13,000 ราย ที่ต้องการ เช่น วิศวกรซอฟต์แวร์ นักวิเคราะห์ข้อมูล นักพัฒนาเอไอ ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยไซเบอร์ ผู้พัฒนาเทคโนโลยีบล็อกเชน ผู้พัฒนาโปรแกรมเซมิคอนดัคเตอร์ ไมโครชิป ออโตเมชั่น นักการตลาดดิจิทัล เป็นต้น

“กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) จึงจําเป็นต้องบูรณาการกับทุกหน่วยงาน เช่น กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.), กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสมาคมองค์กรวิชาชีพ เพื่อพัฒนาในด้านดิจิทัลอย่างเร่งด่วน เพื่อรองรับการเติบโตทางอุตสากรรมอย่างยั่งยืน” นายพิพัฒน์ กล่าวและว่า นอกจากนี้ กระทรวงแรงงาน บูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่ายพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน โดยการจัดงานครั้งนี้ เพื่อมุ่งเน้นที่จะจุดประกายให้องค์กรนายจ้าง ลูกจ้าง แรงงาน บุคลากรทุกภาคส่วนได้ตื่นตัว และเห็นความสำคัญของการพัฒนาทักษะดิจิทัลให้ได้ผลลัพธ์จริง สามารถนำความเปลี่ยนแปลงให้กับบุคลากรและองค์กรในเส้นทางการปรับเปลี่ยนสู่องค์กรดิจิทัลได้อย่างสัมฤทธิ์ผล จะนำไปสู่การส่งเสริมการสนับสนุนและยกระดับการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลของบุคลากรในทุกระดับขององค์กรอย่างมีระบบและมาตรฐาน

นายพิพัฒน์ กล่าวอีกว่า ทางด้านมุมของซัพพลายในประเทศไทยและทั่วโลก ยังคงประสบปัญหากับความต้องการบุคลากรไอที จากข้อมูลผลสำรวจการเติบโตของตลาดไอทีทั่วโลกของอินเตอร์เนชั่นแนล ดาต้า คอร์ปอเรชั่น (International Data Corporation: IDC) หรือ ไอดีซี พบว่า ในระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2561 – 2565 ตลาดไอทีมีสัดส่วนการเติบโตอยู่ที่ประมาณร้อยละ 25.8 ส่งผลให้อัตราการจ้างงานด้านไอทีเติบโตควบคู่ไปด้วย ซึ่งคาดการณ์ว่าในปี 2566 – 2568 ทั่วโลกจะเผชิญกับปัญหาความต้องการบุคลากรไอทีมากกว่า 2 ล้านตำแหน่ง

“ทั้งนี้ ทักษะด้านดิจิทัล จะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ดังนั้น นายจ้างจึงมีความต้องการที่จะพัฒนาทักษะในด้านนี้ให้แก่พนักงานอย่างมาก กระทรวงแรงงานจึงได้ร่วมมือกับภาคเอกชนในการจัดงาน Thailand Digital Employer Day 2024 ขึ้น ซึ่งจะเป็นเวทีแบ่งปันประสบการณ์และความรู้ระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน อีกทั้งยังเป็นการจุดประกายให้แก่องค์กรนายจ้าง ผู้บริหาร บุคลากร แรงงานในการเร่งพัฒนาความรู้และทักษะด้านดิจิทัลให้แก่ตนเอง บุคลากรในองค์กร และแรงงานต่อไป สําหรับเยาวชนที่เตรียมเข้าสู่แรงงานรุ่นใหม่ ขอแสดงความยินดีกับผู้ชนะการแข่งขันทุกคน เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีและแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนไทยเห็นความสําคัญของการพัฒนาทักษะดิจิทัล” นายพิพัฒน์ กล่าว

ด้าน น.ส.บุปผา กล่าวว่า กิจกรรมในงานวันนี้ประกอบด้วย การเสวนา เรื่อง อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย กับ AI Literacy for ALL” โดยมีผู้บริหารจากสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย สมาคมโปรแกรมเมอร์ไทย และสมาคมส่งเสริมนวัตกรรมเทคโนโลยีไซเบอร์ ร่วมเป็นวิทยากรเสวนา ช่วงบ่ายยังมีกิจกรรมการมอบโล่ประกาศเกียรติคุณให้แก่เครือข่ายพัฒนาฝีมือแรงงาน 34 แห่ง ที่ให้การสนับสนุนกิจกรรมการพัฒนาฝีมือแรงงาน ประจำปี 2566 – 2567 ซึ่ง กพร.สามารถจัดฝึกอบรมและทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานให้แก่แรงงานได้ 20,741 คน อีกทั้ง ยังมีการประกาศเจตนารมย์ร่วมภาคีเครือข่าย การบรรยายพิเศษ การเสวนา และการมอบเกียรติบัตรผู้เข้าร่วมแข่งขันและมอบรางวัลให้แก่ผู้ชนะเลิศการแข่งขัน ICDL Digital Challenge 2024 ประเทศไทย

“ในการจัดงานครั้งนี้ กระทรวงแรงงาน โดย กพร.สามารถต่อยอดโครงการสู่โครงการที่มีคุณภาพของกระทรวงแรงงานได้อีกหลายด้าน และช่วยเสริมสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้พัฒนาตนเองตลอดชีวิตให้สอดคล้องกับการทำงานและใช้ชีวิตในยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลได้ต่อไป” น.ส.บุปผา กล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image