สธ.มั่นใจระบบเฝ้าระวังโควิด-19 ยันยังไม่เจอ ‘XEC’ ในไทย ไร้สัญญาณรุนแรง
เมื่อวันที่ 3 กันยายน นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาล (รพ.) รามาธิบดี (Center for Medical Genomics) แจ้งเตือนให้เตรียมพร้อมรับมือโรคโควิด-19 สายพันธุ์ย่อยโอมิครอน XEC ที่อาจเปลี่ยนโฉมหน้าการระบาด ว่า เรื่องของสถานการณ์โรคโควิด-19 ในปัจจุบันไม่ได้มีความน่ากังวล เนื่องจากเชื้อไวรัสมีความรุนแรงลดลง แต่ด้วยธรรมชาติของไวรัสที่มีการเปลี่ยนแปลงยีนอยู่ตลอดเวลา ถ้าไปเปลี่ยนในจุดที่ภูมิคุ้มกันของคนป้องกันไม่ได้ ก็จะทำให้มีการติดเชื้อขึ้น
“แต่สิ่งที่เราสนใจและห่วงใยมากกว่าคือ ความรุนแรงของโรค ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีสัญญาณว่าจะเกิดความรุนแรงขึ้นเหมือนสมัยการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า ที่เชื้อมีความรุนแรงสูง จนทำให้เกิดอาการปอดอักเสบได้” นพ.ธงชัย กล่าวและว่า สำหรับสายพันธุ์ย่อยโอมิครอน XEC ขณะนี้ยังไม่พบการติดเชื้อในประเทศไทย แต่ระบบการเฝ้าระวังโรคของประเทศไทยก็ยังดำเนินอยู่ โดยจะมีการสุ่มตรวจหาสายพันธุ์โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อรายงานผลให้กรมควบคุมโรครับทราบ หากพบความผิดปกติ ก็สามารถตรวจจับได้ทันที
อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เรื่องนี้ยังไม่ต้องตกใจ ยืนยันได้ว่าขณะนี้ไม่มีสัญญาณของความรุนแรงของสายพันธุ์โควิด-19 แต่ในทุกประเทศก็ร่วมกันเฝ้าระวังด้วยการรายงานผลการเฝ้าระวังสายพันธุ์เข้าระบบจีเสด (GISAID)
“โรคติดเชื้อที่น่ากังวลมากกว่าโควิด-19 ในตอนนี้ก็คือ โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคติดเชื้อไวรัส RSV ที่เราพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นสูงในฤดูฝน ทั้งยังเจอผู้เสียชีวิตได้มากกว่าโควิด-19 อีกด้วย” นพ.ธงชัย กล่าว
ด้าน นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวถึงโรคโควิด-19 สายพันธุ์ XEC ว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่มีรายงานการพบผู้ติดเชื้อในประเทศไทย ส่วนระบบการเฝ้าระวังโรคนั้น กรมวิทยาศาสตร์ฯ จะประสานงานกับโรงพยาบาลต่างๆ ที่หากพบผู้ป่วยรายใหม่ ก็ขอให้เก็บตัวอย่างเชื้อส่งมาตรวจทางห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ที่กรมวิทยาศาสตร์ฯ ซึ่งจำนวนการตรวจหาสายพันธุ์จะมากน้อยอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับตัวอย่างที่ส่งมา แต่ก็ทำให้มั่นใจได้ว่าถ้าเจอสายพันธุ์ที่น่ากังวล ก็สามารถตรวจจับได้ทันที